การปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเจอเห็ดพิษ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษ
หากพบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ จะต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยให้ดื่มน้ำผสมเกลือ แล้วล้วงคอทำให้อาเจียน เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ หลังจากนั้นให้กินผงถ่าน (activated charcoal) ที่ผสมกับน้ำให้ข้นเหลวคล้ายโจ๊ก (slurry) โดยผู้ใหญ่ใช้ 30–100 กรัม เด็กใช้ 15–30 กรัม เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหาร แต่ถ้าไม่มีผงถ่านก็ให้ใช้ไข่ขาวแทน ก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาล พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดที่กินไปด้วย เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจสอบชนิดของเห็ด และวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง
วิธีการสังเกตเห็ดพิษ
การสังเกตเห็ดพิษไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน แต่หากเห็ดมีสีฉูดฉาดหรือสีเข้ม (ภาพที่ 1) มีเกล็ดหรือปุ่มขรุขระอยู่บนส่วนหมวกเห็ด อาจมีวงแหวนรอบก้านเห็ด หรือลักษณะอื่นๆ ที่ผิดจากชนิดที่เคยกิน ก็ไม่ควรเก็บหรือซื้อมากิน สำหรับผู้ที่ชำนาญในการเก็บเห็ดในพื้นที่หนึ่งๆ เมื่อต้องไปเก็บเห็ดในที่อื่นที่ไม่คุ้นเคย ก็อาจพลาดไปเก็บเห็ดพิษได้ เพราะเห็ดหลายๆ ชนิดหน้าตาคล้ายคลึงกัน มีกรณีคนเอเซียที่อยู่ในอเมริกาเก็บเห็ดพิษไปกินด้วยเข้าใจว่าเป็นชนิดเดียวกับที่เคยกินที่ประเทศบ้านเกิดตนเอง
ความเชื่อที่ผิดๆ เช่น การใช้ช้อนเงินตักน้ำแกงเห็ดแล้วช้อนไม่เปลี่ยนเป็นสีดำหรือเห็ดที่มีแมลงตอม แสดงว่าเป็นเห็ดที่กินได้ นั้นเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ ไม่ควรทำตาม
ในกรณีเห็ดที่กินได้แน่นอนต้องปรุงให้สุกก่อนทุกครั้ง เพราะเห็ดที่กินได้เหล่านี้อาจมีสารพิษ แต่เป็นสารพิษที่ไม่คงตัวเมื่อถูกความร้อน (heat-labile toxin) การปรุงให้สุกด้วยความร้อนจะช่วยทำลายสารพิษเหล่านี้ได้ สำหรับเห็ดที่ไม่รู้จัก ไม่เคยกิน และสงสัยว่าอาจจะเป็นเห็ดพิษ เป็นสิ่งที่ควรหลีกเหลี่ยง เพราะความร้อนไม่สามารถทำลายสารพิษที่มีในเห็ดพิษได้