เกิดเป็นกะเทยไฉนเลยถูกกีดกันทุกทาง
🏳️🌈🇹🇭 Hello Pride Month สวัสดีสัปดาห์สุดท้ายของเดือนแห่งความหลากหลาย ขอส่งความปราถนาดีไปยังทุกท่าน ทุกเพศ ทุกวัย ขอให้ทุกท่านมีพลังชีวิตที่ดี มีแต่พลังบวกเข้ามา และที่สำคัญอยากให้ทุกคนจำไว้ว่า การได้เป็นตัวเอง ในแบบที่เราเป็น ไม่ว่าจะเพศใด รสนิยมแบบไหน จะหน้าตาแบบใด อ้วน ผอม ขาว ดำ สูงหรือเตี้ย การได้เป็นตัวเองมันคือสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด และขอแสดงความยินดีในวาระที่ร่างกฏหมายสมรสเท่าเทียมผ่านมติสภานับถอยหลังรอเวลาประกาศใช้ปลายปีนี้ด้วยนะคะ
และในวาระเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศก็มีเรื่องอยากจะมาเม้ามอยกันหน่อย เกริ่นก่อนว่าส่วนตัวนี่ทำยูทูป ลงคลิปการแสดงพร้อมข้อมูลเพื่อการศึกษา ซึ่งก็มีแฟนคลับพ่อยกแม่ยกครูบาอาจารย์นักแสดงหลายท่านเข้ามาคอมเมนต์อยู่เนือง ๆ และบ่อยครั้งที่จะเจอผู้ชมที่ไม่น่ารัก ตั้งคำถามว่า ครูท่านนั้น นักแสดงท่านนี้ รำสวยนะ แต่เป็นกะเทยหรือเปล่า โขนเขาใช้ผู้ชายแสดงนะทำไมถึงให้กะเทยมาแสดงล่ะ บางคนหนักมาก เหมือนเหงา ไม่มีเพื่อนคุย ขุดไปยันเรื่องบนเตียง ผัวใครเมียใคร ใครรุกใครรับใคร ใครแอบกินใคร ใครสวาทประตูหลังเพื่อตำแหน่งนู่นนี่กัน ทำตัวประหนึ่งเจ้าจอมห้องเหลือง อวดตัวว่าอยู่ใกล้ชิด รู้ทุกเรื่อง จนนี่ต้องไล่ลบไล่รายงาน จนมีอยู่ช่วงนึงปิดคอมเมนต์ไปเลย เพราะเป็นช่องการศึกษา เอาเรื่องผัวใครเมียเขามาคุย มันไม่ใช่เรื่อง และถ้าว่ากันตามหลักการชมการแสดงและการวิจารณ์การแสดงนะ คนเหล่านี้คือผู้ชมที่ขาดการศึกษาและมารยาทที่ดี หรือพูดบ้าน ๆ คือ ไม่มีใครสั่งสอน เพราะเรื่องส่วนตัวของนักแสดงไม่ใช่สิ่งที่ควรเอามาวิจารณ์ในผลงานการแสดงของเขา
มาที่เรื่องที่เขาถาม โขนใช้แต่นักแสดงผู้ชายไม่ใช่เหรอ ทำไมถึงเอากะเทยมาแสดง ก็ต้องบอกว่าคุณคะ กะเทย ก็คือ "ผู้ชาย" ที่มีลักษณะของการแสดงออก หรือ มีสภาพจิตใจที่เป็นผู้หญิง หรือเกิดมามีสองอวัยวะเพศ นั่นคือเพศสภาพของเขา แต่หมอแทงแล้วว่าเพศกำเนิดเขาเป็นผู้ชาย ตอนคัดเลือกนักแสดงเขาคัดจาเพศกำเนิดและฝีมือ เขาไม่ได้คัดที่เพศสภาพ ทำไมกะเทยจะแสดงโขนไม่ได้
เหตุที่โขนใช้นักแสดงผู้ชาย เพราะแต่เดิมโขนเป็นนาฏกรรมสงคราม เป็นการแสดงทางทหารมาก่อน ในสมัยอยุธยาโขนมันเป็นมหรสพที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาแทนการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นการแสดงถวายพระเกียรติ์พระมหากษัตริย์ในคราวพระราชพิธีราชาภิเษกและเพื่อเป็นรฦกบูชาพระเป็นเจ้าในฮินดู แสดงโดยมหาดเลก ตำรวจเลก อย่างการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์
พระอินทร์
นักแสดงโขนคณะละครชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ ๔ บันทึกไว้โดย จอห์น ทอมสัน ราวปี พ.ศ.๒๔๐๘
ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นทหารวัง ตำรวจวัง แน่นอนว่าเพศกำเนิดเป็นผู้ชาย แต่ถามว่ามีกะเทย ตุ๊ด เกย์ เก้งปะปนไหม จะเหลือเหรอ กะเทยไม่ใช่สารสังเคราะห์นะคะที่จะได้เพิ่งสังเคราะห์ขึ้นมาเมื่อวาน มันมีอยู่แล้วแหละ เพียงแต่ยุคสมัยนั้นเขาแสดงออกได้ไหม หรือในสถานะที่เขาอยู่เขาแสดงออกได้ไหมเท่านั้นเอง อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย เจ้านายข้าพระองค์ก็มี ไอ้เรื่องเล่นเพศเล่นสวาทกับเพศเดียวกัน มันมีอยู่ทุกที่ ทุกยุค ทุกอารยธรรม ทุกชนชั้น ซึ่งความเป็นเพศมันก็ไม่ได้เกี่ยวกับการแสดงหรือการทำหน้าที่แม้แต่น้อย ถ้าหล่อนแอ๊บดีนะ ในการแสดงโขน ขอแค่คุณเกิดมาเป็นผู้ชาย มีพละกำลังมากพอที่จะแสดงท่าทางผาดโผนได้นาน ๆ ไม่ว่าเพศสภาพคุณจะเป็นอย่างไร คุณก็แสดงโขนได้
นักแสดงคณะละครเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ในรัชกาลที่ ๕ แสดงเป็นแบบในฉากพระอินทร์ปลุกพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ยังไวกูณฐ์โลก ของการแสดงละครดึกดำบรรพ์ เรื่องกรุงพาณชมทวีป
และไอ้คำถามนี้ น่าจะมาจากความเชื่อว่าห้ามผู้หญิงแสดงโขน เพราะโขนนิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์ มีแต่เทพเจ้า ผู้หญิงมีระดูเป็นสิ่งสกปก จึงไม่ให้ผู้หญิงแสดงโขน เลยลามมาเข้าใจว่าห้ามกะเทยแสดงโขนไปด้วย ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวเลย ผู้หญิงแสดงโขนไม่ได้เพราะเป็นเรื่องราวเทพเจ้า ผู้หญิงมีระดูจึงไม่ควร เป็นความเข้าใจที่ผิดมาก หาพูดมาก ไม่เคยมีใครห้ามผู้หญิงแสดงโขนเพราะสาเหตุนี้ ละครในผู้หญิงล้วนก็แสดงรามเกียรติ์ อุณรุท เรื่องเทพเรื่องเจ้าจ้ะเธอ ซึ่งสาเหตุจริง ๆ ก็อย่างที่บอก เพราะโขนมันเป็นการแสดงทางทหารมาก่อน มันใช้พละกำลังค่อนข้างเยอะ ผู้หญิงจะแสดงไม่ไหว
นักแสดงคณะ Prince Theater ของเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง คณะละครเลื่องชื่อสมัยรัชกาลที่ ๕
อย่างการแสดงโขนที่ลาลูแบร์ ข้าราชทูตในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่เข้ามาสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. 2236 และได้รับชมการแสดงของชาวสยามได้บันทึกไว้ว่า
Les Siamois ont trois ſortes de ſpectacles de Théatre. Celuyqu'ilsappellent Cône eſt une danſe à pluſieurs entrées, au ſon du violon & de quelques autres inſtrumens. Les danſeursſont maſquez &armez, &repréſentent plûtoſt un combat qu'une danſe : & quoyque toutſe · paſſe preſque en mouvemens élevez &cn poſtures ſtures extravagantes, ils ne laiſſent pas d'y mêler de temps en temps quelque mot. La plûpart de leurs maſques ſont hideux & repre ſentent ou des bêtes monſtrueuſes, ou deseſpeces de Diables.
แปลเป็นไทยว่า
ชาวสยามมีศิลปะการแสดงในโรงอยู่สามประเภท ประเภทที่เรียกว่า โขน (Cône) นั้น เป็นการร่ายรำเข้า ๆ ออก ๆ หลายคำรบ ตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่น (วงปี่พาทย์) ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากากและถืออาวุธ แสดงบทบาทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ และมาตรว่าการแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยาน และวางท่าทางอย่างเกินสมควรแล้ว นาน ๆ ก็จะหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำ หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร หรือไม่ก็เป็นหน้าอสูรปีศาจ
กุมภกรรณ
หนุมาน
นักแสดงโขนคณะละครชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ ๔ บันทึกไว้โดย จอห์น ทอมสัน ราวปี พ.ศ.๒๔๐๘
จากบันทึกของลาลูแบร์ทำให้เห็นได้ชัดว่าแบบแผนของแสดงโขนยังมุ่งเน้นไปที่การสู้รบตามแบบแผนเดิมที่เป็นนาฏกรรมสงคราม เป็นการแสดงทางทหาร แม้ว่าการแสดงโขนที่ลาลูแบร์ได้รับชมนั้นจะกลายมาเป็นมหรสพชาวบ้าน เป็นการแสดงรื่นเริง เป็นการแสดงโขนโรงนอก หรือ โขนนั่งราว วิวัฒนาการขั้นที่ 2 ของการแสดงโขน แต่ทว่าแบบแผนการแสดงต่อสู้นั้นยังคงเดิม
การแสดงโขนผู้หญิง โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทร์เกษม
แต่ที่เราเห็นกันในปัจจุบันว่ามีผู้หญิงมาร่วมแสดงโขนหรือเป็นโขนผู้หญิงล้วน เพราะในยุคหลังได้มีการปรับแบบแผนการแสดงโขนให้เป็นมหรสพรื่นเริงมากขึ้นอย่างไรล่ะ มีการนำเอาแบบแผนของการแสดงละครในเข้ามาผสม จนเกิดเป็นวิวัฒนาการโขนขั้นที่ 3 เรียกว่าโขนโรงใน ก่อนที่ในสมัยรัชกาลที่ 6 จะมีการนำฉากหลังเข้ามาประกอบการแสดง เปลี่ยนฉากและแสงสีไปตามท้องเรื่อง เรียกว่า โขนฉาก ซึ่งก็เป็นแบบแผนที่สืบทอดกันมาจนปัจจุบัน ที่เราดูอยู่ทุกวันนี้แหละเรียกว่า โขนฉาก วิวัฒนาการการแสดงโขนในห้องเรียนเรียนกันมาแล้วทั้งนั้นขุดมันขึ้นมาค่ะ
การแสดงโขนฉาก เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกพรหมมาสตร์ ฉากขบวนพระอินทร์แปลง
โดยโขนโรงใน โขนฉาก หรือที่ภาษาโขนเขาเรียกกันว่า โขนทางละคร เนี่ย แบบแผนการแสดงมันจะเน้นที่การร่ายรำ การตีบทตามคำร้องและทำนองเพลง มากกว่าออกท่าทางประกอบเพลงหน้าพาทย์ การรำตีบทในการพากย์และเจรจา เขาจึงเรียกการแสดงโขนลักษณะนี้ว่า โขนทางละคร ซึ่งโขนทางละครนี้ได้ปรับลดความโลดโผนอย่างโขน มหรสพหลวงที่เป็นนาฏกรรมสงคราม เป็นการแสดงทางทหารมาก่อนลงไปมาก เป็นการแสดงมหรสพรื่นเริง แสดงอย่างละครร้องรำเล่าเรื่อง จึงมีผู้หญิงเข้ามาแสดงโขนกันมากขึ้น
คุณครูครูมัลลี คงประภัศร์
นางละครวังเจ้าขาว รับบทเป็นมูลพลัม จากการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์
และสมัยรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ น่ะ ครูโขนที่เป็นผู้หญิง เป็นนักแสดงจากวังเจ้านายก็มีออกถม สรุปเลยคือมันไม่มีข้อห้ามไหนที่เขาว่าห้ามผู้หญิง ห้ามกะเทย ไม่ให้แสดงโขน เพราะเรื่องเพศสภาพ เพราะเป็นเรื่องเทพเจ้าต้องเอาแต่ผู้ชายแสดง ไม่มี เขาห้ามเพราะสวัสดิภาพของนักแสดง เมื่อก่อนแสดงกันที เขาแสดงเป็นวันครึ่งวันกันนู่น พละกำลังของผู้หญิงจะแสดงไหวได้อย่างไร อีกอย่างการแสดงท่าทางเกินมนุษย์ มันเป็นเรื่องที่น่าอายสำหรับผู้หญิงในสมัยก่อน ความเข้าใจผิดนี้จึงได้กลายเป็นว่ามาเหมาร่วมเพศที่สาม ตุ๊ด เกย์ กะเทยไปด้วยเสียเลย ซึ่งมันผิด
ขุนวาดพิศวง (แถม ศิลปชีวิน) นาฏศิลปินกรมมหรสพในสมัยรัชกาลที่ ๖
อีกเรื่องที่ก็บ้งไม่แพ้กัน ห้ามผู้ชายแสดงละครใน เด็ดขาด โดยอาศัยความเข้าใจผิด ๆ ตั้งแต่แบบแผนการแสดงละครในจำกัดไว้แบบนี้ ต้องเป็นผู้หญิงบริสุทธิ์เท่านั้น ก็คือจะสื่อเรื่องเพศ เรื่องการเป็นบาทบริจาริกานั่นแหละ นี่แกคิดจริง ๆ เหรอว่ารำเสร็จแล้วเขาจะเยเย้กันต่อเลย ประสาทสู! หามโนมาก บางคนก็เอาแบบแผนที่ถูกต้องมาอ้าง อาทิ ละครในเป็นเครื่องราชูปโภค มีได้เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น ใช้นักแสดงผู้หญิงที่เป็นสนมกำนัลเท่านั้น ก็ถูก แต่มันก็ยังไม่ได้ถูกทั้งหมด มันยังขาดหายไปอีกแยะ สรุปสั้น ๆ ดูปากนะคะ ผู้ชายก็แสดงละครในได้ค่ะ!
"ละครใน ละครนอก ไม่ได้จำแนกกันที่เพศของผู้แสดง แต่จำแนกกันที่แบบแผนของการแสดง" พระปรารภถึงเรื่องละครในผู้ชาย ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
มาพูดถึงแบบแผนของการแสดงละครในก่อนดีกว่า แบบแผนการแสดงละครใน หรือละครหลวงเนี่ย แบบแผนเขาระบุเพียงแค่ว่า ผู้แสดงงาม ท่ารำงาม คำร้องและทำนองงาม เพราะมันเป็นการแสดงขับกล่อม เออ แวะหน่อย ไหน ๆ ก็พูดแล้ว พูดเรื่องนี้ด้วยเลยแล้วกัน ทำไมละครชาวบ้านถึงรำเร็ว เล่นตลก หยาบโลน แต่กลับกันละครในกลับแสดงอย่างประณีต รำช้า ร้องช้า อัตราจังหวะ ๒ ชั้นแทบทั้งเรื่อง เครื่องดนตรีก็เป็นไม้นวม เสียง ตึง ตึง ตึง สมอง ชวนให้ง่วงตลอด คำตอบง่าย ๆ เลยจ้ะ ก็เพราะคนสมัยก่อนเขารู้จักใช้ Art Therapy หรือ ศิลปะบำบัด ยังไงละจ๊ะสาว
เหตุที่ละครชาวหรือละครนอกวังต้องสนุก สนาน หยาบโลน เพราะชาวบ้านต้องทำงานใช้แรงงาน แรงกาย เหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน ก็ต้องเอาการแสดงสนุกสนานมาสร้างเสียงหัวเราะ สร้างความบันเทิง เพื่อคลายความเหนื่อยล้าและความเครียดลงไปบ้าง และเพื่อให้ตื่นตัวในขณะชมการแสดง
การแสดงละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนหาปลา โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร
กลับกันกับละครข้างในวังที่ประณีตเหลือเกิน เพราะชนชั้นปกครองที่ต้องใช้สมองคิดมากกว่าออกแรงกาย การทำงานที่ใช้สมองจัด ๆ มันจะทำให้ซึมตลอดเวลา แต่พอถึงเวลานอนแม่งไม่นอน เธอว่าไม่ได้พวกเราเดี๋ยวนี้ก็เป็นกันเยอะ ค่อนประเทศแล้วมั้ง มันก็ต้องใช้การแสดงที่เป็นลักษณะของการขับกล่อม คลื่นเสียงต่ำ ๆ ทุ้ม ๆ มันทำให้รู้สึกง่วง ละครข้างในวังจึงมีลักษณะประณีต บรรเลงอัตตราจังหวะ ๒ ชั้นทั้งเรื่อง บรรเลงด้วยเครื่องไม้นวมที่ให้โทนเสียงทุ้มต่ำ เพื่อสะกดให้ตกอยู่ในภวังค์ความง่วงงุน
การแสดงละครใน เรื่องอิเหนา โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร
ก็ถ้าเป็นยุคนี้ก็ต้องคลิป ASMR หรือไม่ก็ฟังเรื่องผีที่เล่าช้า ๆ เนิบ ๆ ถึงจะหลับกัน ว่าไม่ได้เด้ คนสมัยก่อนเขาก็ฉลาดเอาเรื่องอยู่เด้
นักแสดงคณะละครเจ้าจอมมารดาเอม ในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบวรราชเจ้าในรัชกาลที่ ๔ เป็นคณะละครสายพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
ส่วนเรื่องแบบแผนที่ใช้ผู้หญิงแสดงละครหลวง หรือ ละครข้างในวังเนี่ย ก็อย่างที่เข้าใจกันแหละค่ะว่าละครใน หรือ ละครหลวงเนี่ย เกิดขึ้นในเขตพระราชฐาน คือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ มันมีแต่ผู้หญิง มีแต่ข้าราชสำนักสตรี จะไปเอาใครที่ไหนมาฝึกหัดให้ยุ่งยากทำไม ก็เอานางข้าหลวงเล็ก ๆ ไปจนถึงข้าราชสำนัก คุณท้าวนางทั้งหลายนั่นแหละมาฝึกหัดกัน
ศุภลักษณ์อุ้มพระอุณรุท
การแสดงละครใน เรื่องอุณรุณ ตอนสมอุษา ฉากนางศุภลักษณ์อุ้มพระอุณรุณไปหานางอุษายังเมืองรัตนา ด้านบนเป็นนาฏศิลปินหญิง ตามแบบแผนละครใน ด้านล่างเป็นนาฏศิลปินชาย ตามแบบแผนละครในผู้ชาย โดยนาฏศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
แต่!!! ละครในเนี่ยก็ยังมีพวกเจ้านายตั้งแต่เจ้าฟ้าลงไปที่ฝึกหัดแสดงกันในวังของตนด้วยเช่นกัน แต่เขาสงวนไม่ให้ใช้นักแสดงผู้หญิงอย่างละครหลวงในพระมหากษัตริย์ อย่างแรก ละครในเปรียบเสมือนเครื่องราชูปโภค ย้ำว่า เปรียบเสมือน นะ ไม่ได้เป็นเครื่องราชูปโภค นะ ก็มีความเข้าใจกันว่าไม่ควรไปทำให้เหมือนหรือเทียบเท่า ต้องลดฐานนันดรลง แล้วความที่วังเจ้านายไม่ได้มีข้าราชสำนักสตรีเยอะอย่างในพระบรมมหาราชวัง การที่จะฝึกหัดหญิงล้วนเลยมันก็ยาก เพราะเขาต้องคัดคนมาฝึกนะ แล้วที่สำคัญเลยด้วยความที่ละครในผู้หญิงมันเปรียบเสมือนเครื่องราชูปโภค แสดงเฉพาะหน้าพระที่ แต่วังเจ้านายไม่ได้เป็นที่รโหฐานลับตาคนอย่างวังหลวง อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่าการมาแสดงท่าทางอะไรแบบเนี้ย มันเป็นสิ่งที่น่าอับอายสำหรับผู้หญิงเขา มันจึงเป็นเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ละครหลวง หรือ ละครในวังระดับชั้นเจ้านายต้องใช้นักแสดงผู้ชาย จึงเกิดเป็นแบบแผนละครในผู้ชายขึ้น ซึ่งแบบแผนการแสดงก็เหมือนกันกับละครในในวังหลวงทุกประการ นักแสดงงาม ท่ารำงาม คำร้องทำนองงาม ผิดกันแค่นักแสดงเป็นผู้ชาย เท่านั้นเอง
นักแสดงคณะละครชาวบ้าน สมัยรัชกาลที่ ๔ บันทึกไว้โดย จอห์น ทอมสัน ราวปี พ.ศ.๒๔๐๘ บทบาทเจ้าเงาะ(พระสังข์ทอง)และนางรจนา จากการแสดงละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนเลือกคู่ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เออ แล้วเรื่องที่ละครนอกในยุคก่อนเขาไม่ให้ผู้หญิงแสดง สาเหตุก็แบบเดียวกับโขนนั่นแหละ การแสดงพาเ...ยรหยาบโลนในที่สาธารณะ ผู้หญิงยุคนั้นเขาว่ามันน่าอาย แล้วคณะละครชาวบ้านเนี่ย เขาก็เป็นลักษณะละครเร่ เดินสายไปทำการแสดงยังที่ต่าง ๆ เขาไม่ได้ปลูกโรงเป็นหลักแหล่งแบบสมัยนี้ ซึ่งก็ร้อยกว่าปีมาแล้วอะไอ้สมัยนี้ที่ว่า ถ้ามีผู้หญิงร่วมเดินทาฃไปด้วยมันก็อันตราย การเดินทางมันลำบาก จึงไม่มีผู้หญิงฝึกหัดละครกันที่นอกวัง จะมามีก็ช่วงรัชกาลที่ ๓ ลงมานี่
นักแสดงคณะละครชาวบ้าน สมัยรัชกาลที่ ๔ บันทึกไว้โดย จอห์น ทอมสัน ราวปี พ.ศ.๒๔๐๘
นี่ขอยกตัวอย่างเรื่องราวของละครในผู้ชายที่ยืนยันได้ว่าละครในผู้ชายมันอยู่จริงเป็นบางคณะ บางเหตุการณ์แล้วกัน
นาฏศิลปินสำนักการสังคีต กรมศิลปากร
ในสมัยรัชกาลที่ 1 เกิดเหตุว่า กรมหลวงอิศรสุนทร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในขณะทรงเป็นพระอุปราช รั้งตำแหน่งกรมพระราชวังบวร ทรงหัดละครหลวงในพระราชฐานของพระองค์ แต่พระองค์ดันหัดละครผู้หญิง ความทราบถึงรัชกาลที่ 1 จึงได้ทรงสั่งห้ามลงมายังวังหน้าว่าไม่ให้หัดละครผู้หญิงอย่างละครหลวงในพระบรมมหาราชวัง แต่ถึงกระนั้นละครของกรมหลวงอิศรสุนทรก็ไม่ได้ถูกยกเลิกไป ดูได้จากตอนขึ้นมาเป็นรัชกาลที่ 2 ก็ทรงแต่งบทละคร ฝึกละครเรื่อยมา นี่สันนิษฐานว่า คงจะเปลี่ยนมาฝึกละครผู้ชายอย่างเจ้านายพระองค์อื่น ๆ
การแสดงละครในผู้ชาย เรื่องอิเหนา ตอนอิเหนาลานางจินตะหรา
หรืออย่างเรื่องบทละครใน เรื่องอิเหนา ในรัชกาลที่ 2 นี้เอง แรกเริ่มเดิมที ละครผู้ชายแสดงมาก่อนนะจ๊ะ หลังจากรัชกาลที่ 2 พระราชนิพนธ์บทละครใน เรื่องอิเหนาแล้วเสร็จ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระราชทานบทละครเรื่องอิเหนานี้ ไปยังคณะละครหลวงในสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทดลองใช้เป็นบทแสดงละครดูเสียก่อน ซึ่งคณะละครหลวงในสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี เนี้ย เป็นคณะละครผู้ชาย แสดงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 รับตกทอดมาจาก สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (พระเชษฐา) หลังจากไก้นำบทละครเรื่องอิเหนามาทดลองใช้เป็นบทแสดงก็ได้เกิดนักแสดงที่มีชื่อขึ้นมา อาาทิ ครูทองอยู่ อิเหนา ครูรุ่ง บุษบา
พระรูปจำลองพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ หรือ หม่อมไกรสร ประดิษฐาน ณ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หรือ วัดเมือง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
หรืออย่างเรื่องที่เป็น ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่าเจ้านายเล่นสวาทกับละครผู้ชาย อย่างคณะละครหลวงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ หรือ หม่อมไกรสร ที่มันเป็นเรื่องให้ชาวพระนครเขาโจษกันไม่ใช่เพียงแต่เรื่องที่พระองค์ทรงคบหาพวกละครอย่างเปิดเผย หรือเล่นสวาทกับพวกละคร แต่เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงแสดงละครในอย่างในวังหลวง แม้นักแสดงของพระองค์จะเป็นชายล้วน แต่ก็มีอากัปกิริยาและการแต่งกายอย่างผู้หญิง แม้แต่บทละครก็ทรงใช้บทละครของพระราชบิดา (รัชกาลที่ 1) อย่างเรื่องดาหลัง อุณรุท อันเนี่ย เป็นเครื่องยืนยันได้เลยว่า ละครในผู้ชาย มีมาแต่สมัยต้นกรุง
การแสดงละครในผู้ชายเรื่องดาหลัง ตอนอิเหนาตามสมัน
การแสดงศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ ๔ วิทยาลัยนาฏศิลป ปีการศึกษา ๒๕๖๐
อ้าวแล้วที่เราเรียนว่า ละครนอกผู้ชาย ละครในผู้หญิงคืออะไรล่ะ
นักแสดงคณะ Prince Theater ของเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง คณะละครเลื่องชื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ คาดว่าสมมติเป็นอิเหนากับนางบุษบา จากการแสดงละครใน เรื่องอิเหนา
มันคือการกล่าวถึงอย่างคร่าว ๆ ค่ะ เขาไม่ได้เอาข้อมูลเจาะลึกมาให้เราเรียน ลองนึกดูดี ๆ ว่าในหนังสือเรียนเขียนไว้กี่บรรทัด และอีกอย่างมันเป็นแบบแผนมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นมา ในสมัยฟื้นฟูการแสดงนาฏศิลป์และวางรากฐานการศึกษาวิชานาฏศิลป์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ราว ๆ 80 กว่าปี เกือบ 90 ปีก่อน และในยุคนั้นก็เกิดไอเดียความคิดชายจริงหญิงแท้ตามบทบาทขึ้นมา และมันก็ถูกจริตผู้ชม มันจึงเป็นอย่างที่เราเห็นกัน จริง ๆ การแสดงประสมชายหญิง มันมีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้วล่ะ แต่มันไม่เป็นระเบียบแบบแผนเท่ายุคฟื้นฟู
พระ - คุณครูวง กาญจนวัจน์
นาง - คุณครูเสงี่ยม นาวีเสถียร (ท่านผู้หญิง อนินทิตา อาขุบุตร หรือรู้จักกันในนาม นางสาวสุวรรณ นางเอกภาพยนตร์คนแรกของสยาม จากเรื่อง นางสาวสุวรรณ)
นาฏศิลปินกรมมหรสพ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นแบบบันทึกภาพท่ารำแม่บทเพื่อจัดทำหนังสือตำรารำ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ วังวรดิศ
จริง ๆ เรื่องเพศกับแบบแผนการแสดง พูดไปมันก็เหมือนเรียกร้องความเท่าเทียมอยู่นะ พวกเราเหล่านักแสดงถูกวิจารณ์ด้วยเรื่องเพศสภาพแบบนี้กันมาบ่อยมาก ตั้งแต่ศิษย์ไปจนถึงครูบาอาจารย์ระดับศิลปินแห่งชาติกันเลยทีเดียว หลายต่อหลายคนที่พูดหักหาญน้ำใจกันแบบนี้ เพราะความที่เกิดไม่ทัน ไม่หาข้อมูลแล้วเล่นมั่นวิจารณ์ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ รู้แค่ตื้น ๆ รู้ไม่จริงแล้วอยากพูด โดยเฉพาะพวกพิธีกรตามงานต่าง ๆ ซึ่งจะพบเจอกันประจำที่งานศพ พูดเป็นต่อยหอยเลย แต่เป็นเรื่องที่มาจากมโนจริตของตัวเอง คิดเองเก่ง เออเองเก่ง เก่ง! เอกมโน โทจินตนาการ ไม่ได้มาจากแบบแผนความรู้เลยแม้แต่น้อย มันเลยทำให้คนเข้าใจผิดไปมาก คนที่สนใจด้านการแสดงนาฏศิลป์ไทยก็ลำบากใจ อย่าว่าแต่กะเทยเลย ผู้หญิงเองก็โดน ทางกะเทยอยากรำบทอิเหนา บทบุษบา ไม่ได้ เพราะเพศกำเนิดเป็นชาย ละครในต้องผู้หญิงเท่านั้น ต้องผู้หญิงบริสุทธิ์เท่านั้นด้วย ว่านางฟ้า นางอัปสรา นางห้ามไปเรื่อย ทางผู้หญิงเองอยากเล่นโขนบทพระราม สวมหน้ากากพระราม ก็ไม่ได้ เพราะเพศกำเนิดเป็นหญิง มีระดูไม่สะอาด เป็นเทพเจ้าไม่ได้ ว่าซั่น
นักแสดงคณะละครเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ในรัชกาลที่ ๕ แสดงแบบเป็นพระจักรกฤษณ์ทรงครุฑ ประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ เรื่องอุณรุท
ตามแบบแผนเขาไม่ได้มีเรื่องพวกนี้เลย เที่ยวหาพูดไปเรื่อย คนไม่เข้าใจก็วิจารณ์เขาเสีย ๆ หาย ๆ ทำให้แบบแผนการแสดงมันบิดเบี้ยวและถูกหลงลืมไปด้วย ก่อนจะพูดอะไรออกไป หรือถามคำถามอะไรออกไป อยากฝากไว้ว่าควรหาความรู้ก่อนจะดีกว่า อย่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรงพระปรารภถึงเรื่องละครในผู้ชายไว้ว่า ละครใน ละครนอก ไม่ได้จำแนกกันที่เพศของผู้แสดง แต่จำแนกกันที่แบบแผนของการแสดง ตามนั้นคือจบ