ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้น 450 บาท ก็ยังไหว ดร.โสภณฟันธง
ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้น 450 บาท ก็ยังไหว ดร.โสภณฟันธง
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ในขณะนี้มีกระแสการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากนายจ้าง ดร.โสภณ ในฐานะนายจ้างและเป็นกรรมการในสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยมีความเห็นส่วนตัวว่าขึ้นค่าแรงเป็น 450 บาทต่อวันก็ยังทำได้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) มาลองคำนวณดูว่าถ้าค่าแรงเพิ่มเป็น 450 บาท (สูงกว่า 400 บาทที่รัฐบาลเสนอ จะทำให้ราคาบ้านเพิ่มขึ้นมากจริงหรือ มาดูการคำนวณอย่างง่ายและเข้าใจได้ง่าย
1. สมมติบ้านหลังหนึ่งมีราคา 3 ล้านบาท (บ้านเดี่ยวเล็กๆ สักหลักหนึ่ง)
2. ปกติส่วนแบ่งระหว่างราคาที่ดินและราคาบ้านคือ 2:1 ดังนั้นตัวบ้านจะมีราคาประมาณ 1 ล้านบาท
3. ใน 1 ล้านบาทของราคาบ้าน เราสามารถแยกเป็นค่าแรงและค่าวัสดุ โดยจะเป็นค่าแรงเพียง 200,000 – 300,000 บาท สมมติเป็น 300,000 บาท หรือ 30% ที่เหลือก็คือค่าวัสดุก่อสร้าง
4. ถ้าค่าแรงเพิ่มจาก 353 บาทในปัจจุบันเป็น 450 บาท ก็เท่ากับเพิ่มขึ้น 27% สมมติให้เป็นตัวเลขกลมๆ 30% ก็จะทำให้ค่าแรงในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น จาก 300,000 บาท เป็น 390,000 บาท หรือสมมติเป็น 400,000 บาท
5. ดังนั้นการที่ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 450 บาท จะทำให้ราคาบ้านเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านบาท เป็น 3.1 ล้านบาทเท่านั้น หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ไม่ได้เพิ่มขึ้นมหาศาลตามที่เข้าใจแต่อย่างไร
6. หากสมมติให้ค่าวัสดุ 700,000 บาท ซึ่งในนั้นอาจมีค่าแรงอยู่ 20% หรือ 140,000 บาทด้วยหากส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก 30% ก็เท่ากับเพิ่มเป็น 182,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 42,000 บาท ก็จะส่งผลให้ราคาบ้านโดยรวมเพิ่มจาก 3 ล้านบาท เป็น 3.142 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.7% เท่านั้น
7. สรุปแล้วด้วยเหตุนี้ราคาบ้านจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพราะค่าแรงแต่อย่างใด
ประเด็นสำคัญอีกปราการหนึ่งก็คือในหมู่วงการก่อสร้างนั้น แรงงานพม่าจ้างแพงกว่าค่าแรงขั้นต่ำมานานแล้ว เช่น
1. กรรมกรพม่าที่เพิ่งมาทำงานได้ค่าแรง 500-550 บาท/วัน
2. ช่างพม่าได้ค่าแรง 600 - 700 บาท/วัน
3. ช่างกระเบื้องพม่าได้ค่าแรง 750-800 บาท/วัน
4. ช่างพม่าในงานสถาปัตยกรรมได้ค่าแรง 1,000-1,200 บาท/วัน
ดังนั้นเรื่องที่ว่าค่าแรงเพิ่มจาก 353 บาทเป็น 450 บาทจะทำให้ค่าแรงแพงขึ้น จึงเป็นเรื่อง “แหกตาประชาชน” อย่างชัดเจน ต่อให้เมื่อมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้ค่าแรงคนงานพม่าในวงการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ก็คงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเท่านั้น การโพทะนาว่าจะทำให้ราคาบ้านเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงไม่เป็นความจริง
อย่างไรก็ตามราคาบ้านที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะค่าขนส่งแพงขึ้น ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น กรณีนี้คงเกิดขึ้นเพราะการ “สวาปาม” หรือการผูกขาดของทุนใหญ่ต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลต้องทำลายระบบผูกขาด และการ “ปล้นชาติ” โดยเจ้าของกิจการรายใหญ่ให้ได้ก่อน เมื่อค่าไฟฟ้าและค่าขนส่งถูกลง ทุกอย่างก็จะดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ยังอาจหมายรวมถึงการปราบปรามการทุจริตที่เป็นบ่อเกิดของต้นทุนแฝงในวงการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้ราคาบ้านลดลงได้นับสิบเปอร์เซ็นต์หากปราบปรามการทุจริตได้
ยิ่งกว่านั้นในประเทศไทยของเรายังมีบ้านที่สร้างเสร็จแต่ไม่มีคนอยู่อาศัย เนื่องจากซื้อไว้เก็งกำไร และเมื่อรวมบ้านในมือของประชาชนทั่วไปที่เป็นบ้านมือสองรวมกันนับล้านหน่วยแล้ว ต่อให้วัสดุก่อสร้างเพิ่มราคามหาศาล ค่าแรงเพิ่มอีกมาก ดังเช่นช่วงที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติค่าเงินบาท ก็ยังมีบ้านมือสองให้บริการขายให้แก่ประชาชนในราคาที่ถูกกว่าบ้านมือหนึ่งอีกมากมาย การส่งเสริมการซื้อบ้านมือสองจึงทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในหมู่ประชาชนได้เป็นอย่างดี
การที่พยายามกดค่าแรงให้ต่ำๆ ไว้ ทำให้คนงานอยู่กันอย่างอดๆ อยากๆ ไม่พอกิน ไม่เพียงแต่ทำให้นายจ้างกลายเป็นนายจ้างใจร้าย ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) แล้ว ยังอาจถือว่าเป็นอาชญากรรมแขนงหนึ่ง ที่กดขี่บีฑาประชาชนคนเล็กคนน้อย และส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรมในสังคม เพราะเมื่อผู้คนไม่พอกิน บางส่วนก็อาจคิดผิดไปก่ออาชญากรรมปล้นจี้ ทำให้สังคมเดือดร้อนได้
ดร.โสภณกล่าวย้ำว่า ไทยเราจะกลายเป็นสังคมที่พัฒนาแล้วไม่ได้เลย หากค่าแรงยังถูกๆ แทบไม่ปรับมานานแล้ว ส่วนเมื่อค่าแรงเพิ่ม มีคนฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า โดยเฉพาะนายทุนใหญ่ รัฐบาลก็ต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาดจริงจัง เพื่อไม่ให้รัฐบาลกลายเป็นเพียง “ขี้ข้า” ของนายทุนใหญ่
ยิ่งกว่านั้นเรามักอ้างว่าที่ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทักษะแรงงานยังไม่ได้รับการพัฒนา นี่คือตรรกวิบัติเพื่อเลี่ยงการขึ้นค่าแรงโดยเฉพาะโดยไม่ยอมรับความจริงที่ว่า
1. ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ภาวะเช่นนี้แสดงว่าแรงงานยากจนลงทุกปี จึงต้องดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ แล้วจะสามารถพัฒนาทักษะได้อย่างไร
2. ค่าแรงนั้นเป็นเพียงต้นทุนในสัดส่วนน้อยมากในอุตสาหกรรมแทบทุกประเภทยกเว้นอุตสาหกรรมบริการ การขึ้นค่าแรงถึงแทบไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้าตามที่มักมีการกล่าวอ้าง
3. การขึ้นค่าแรงจะสนับสนุนให้แรงงานมีการพัฒนาทักษะความรู้ ทำให้กิจการของนายทุนพัฒนาและมีกำไรยิ่งขึ้น
4. การขึ้นค่าแรงยังช่วยให้แรงงานมีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และความเสี่ยงด้านอาชญากรรมจากความยากจนจะลดลง
5. นอกจากนี้การขึ้นค่าแรงยังเป็นเหตุผลด้านมนุษยธรรมช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ผู้ยากไร้อีกด้วย
ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ค่าแรงขั้นต่ำกลับถูกตรึงไว้ให้นานๆ ขึ้นทีหนึ่ง นี่ถือเป็นการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และทำร้ายเพื่อนร่วมชาติที่มีรายได้เพียงระดับค่าแรงขั้นต่ำ อันที่จริงรัฐควรมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปีตามดัชนีค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราไม่ควรปล่อยให้คนจน ยิ่งจนลงไปจนถูกบังคับให้เป็นโจรสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมโดยรวม
ยิ่งกว่านั้นบางกระแสที่คัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นตจ่ำโดยอ้างว่า
1. ถ้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ต้องขึ้นให้คนอื่นๆ ด้วย เช่น คนที่ได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เช่น คนที่ได้ 400 อยู่แล้ว ถ้าค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 450 บาท คนที่ได้ 440 บาท ก็ต้องขึ้นไปด้วย ข้อนี้ก็จริง แต่คนงานที่ได้ค่าแรงเกินกว่า 400 บาท ก็คงเป็นแรงงานที่พอมีฝีมือโดยเฉพาะในวงการอสังหาริมทรัพย์ เราก็ควรขึ้นค่าแรงให้แก่พวกเขา หาไม่พวกเขาลาออกไปทำงานที่อื่นที่นายจ้างให้มากกว่า ก็จะทำให้นายจ้างเดิมเสียโอกาสไปมาก เพราะการรับคนใหม่ย่อมมีต้นทุนที่สูงกว่าการรักษาคนเก่านั้นเอง
2. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจทำให้แรงงานข้ามชาติได้ประโยชน์ เพราะงานหนักส่วนใหญ่เป็นงานของแรงงานข้ามชาติเป็นสำคัญ ข้อนี้ก็มีส่วนจริง แต่อาคารบ้านเรือนต่างๆ ที่สร้างทุกวันนี้ก็มาจากผลงานของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เราจึงควรจูงใจให้พวกเขาทำงานให้ได้มากและดีกว่านี้ เป็นประโยชน์ร่วมกันมากกว่าจะให้ประโยชน์แก่นายจ้างฝ่ายเดียว
3. การที่รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยอาศัยนโยบายหาเสียงเป็นการ “รังแก” ฝ่ายนายจ้าง เพราะฝ่ายลูกจ้างย่อมเห็นด้วยอยู่แล้ว ในกรณีไตรภาคีก็จะเสียความเป็นกลาง กรณีนี้คงเป็นข้ออ้างไม่ได้เพราะในเมื่อเป็นไตรภาคี เราก็ต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ ยิ่งกว่านั้นในประเทศอาเซียน หลายประเทศก็มีค่าแรงที่สูงกว่าเราโดยเปรียบเทียบ
4. บ้างก็อ้างว่าถ้าขึ้นค่าแรงไป ราคาสินค้าก็เพิ่มไป กรณีนี้ก็คงต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าจะปล่อยให้นายทุนขึ้นราคาสินค้าส่งเดชไม่ได้ การอ้างเพื่อไม่ให้ขึ้นค่าแรง แต่ราคาสินค้าขึ้นตลอดเวลา จึงไม่เป็นธรรม
ดร.โสภณกล่าวว่าในวงการที่อยู่อาศัย โดยที่ยังมีบ้านและห้องชุดรอขายเหลืออยู่ 1.3 ล้านหน่วยทั่วประเทศ จึงทำให้ราคาบ้านคงไม่ขึ้นเพราะอุปทานมากเกิน การขึ้นค่าแรงน่าจะส่งผลให้ความสามารถในการซื้อบ้านของประชาชนมากขึ้นอีกต่างหาก และทำให้สามารถดูดซับจำนวนบ้านล้นเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น