9 แหล่งสะสมเชื้อโรคในครัว จุดที่ควรทำความสะอาด ลดเชื้อโรคสะสมได้
1.อ่างล้างจาน เพราะต้องสัมผัสกับเศษอาหาร รวมถึงคราบสกปรกอีกหลายรูปแบบ บริเวณที่กรองอาหาร หรือสะดืออ่างล้างจานมีเชื้อโรคอาศัยอยู่หลายล้านตัว หากไม่ล้างทำความสะอาดให้ดี อ่างล้างจานก็มีโอกาสส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ ทำให้พื้นที่ครัวเสียบรรยากาศดี ๆ ไป ควรทำความสะอาดอ่างทุกครั้งหลังใช้งานด้วยน้ำยาล้างจาน โดยล้างเศษอาหาร เศษขยะ คราบต่างๆ ออกให้หมด จะช่วยลดประมาณของเชื้อโรคสะสมได้ ควรล้างทำความสะอาดก๊อกน้ำด้วย เพื่อสุขอนามัยที่ดียิ่งขึ้น
2.ฟองน้ำล้างจาน ฟองน้ำ แปรง ฝอยขัดหม้อจะสัมผัสกับคราบอาหารเป็นประจำ ต้องสัมผัสกลับความชื้นแทบจะตลอดเวลา หากไม่ได้ซักทำความสะอาด หรือเปลี่ยนใหม่เมื่อถึงเวลา เชื้อโรคก็จะยิ่งแพร่กระจาย ทวีความสกปรกมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยสามารถแพร่เชื้อไปยังอุปกรณ์ครัวต่าง ๆ ได้อีกด้วย ควรจะมีฟองน้ำล้างจานเผื่อไว้ใช้งานสัก 2 อัน เมื่อใช้งานเสร็จก็นำมาซักด้วยน้ำยาล้างจาน จากนั้นนำไปผึ่งแดดผึ่งลมให้แห้งเพื่อฆ่าเชื้อโรค ระหว่างรอแห้งก็นำอีกอันมาใช้สลับกัน
3.ผ้าเช็ด จากการศึกษา พบว่า 49% ของผ้าเช็ดที่เก็บจากครัวเรือนมีผลตรวจพบแบคทีเรีย อย่างเช่น โคลิฟอร์ม และเอนเทอโรคอคคัส ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และการติดเชื้อในช่องท้อง รวมถึงสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ผิวหนังและในกระแสเลือด ควรเปลี่ยนผ้าเช็ดทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดแบบอเนกประสงค์ อย่างเช่น ใช้เช็ดมือ เช็ดจาน หรือเช็ดพื้นผิวร่วมกัน
4.ถังขยะ แม้ว่าเราจะซ้อนถุงพลาสติกเอาไว้แล้วแต่เชื้อโรคที่สะสมเป็นคราบสกปรกติดอยู่ตามถังยังคงอยู่ ฉะนั้นอย่าลืมล้างทำความสะอาดถังขยะอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วตากแดดทิ้งไว้ เพื่อจัดการปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากเชื้อโรค
5.เคาน์เตอร์ครัว เป็นที่ ๆ ใช้วางสิ่งของหลายอย่าง ทั้งอาหาร อุปกรณ์ครัวที่ยังไม่ได้ล้าง ถุงพลาสติก ถุงใส่อาหารนอกจากจะเช็ดทำความสะอาดเคาน์เตอร์เป็นปกติแล้ว อย่าลืมทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาทำความสะอาด และทำความสะอาดให้ทั่วตามซอกตามร่องต่าง ๆ โดยให้เลือกสูตรน้ำยาที่นำมาใช้งานกับวัสดุเคาน์เตอร์ได้ เพื่อจัดการกับเชื้อโรคร้ายให้อยู่หมัด ไม่แพร่กระจายเพิ่ม จะช่วยให้พื้นที่บริเวณเคาน์เตอร์สะอาด ปลอดภัย น่าใช้งานยิ่งขึ้น
6.อุปกรณ์ทำครัว
- ไมโครเวฟ เพราะมีคราบอาหารติดอยู่ รวมถึงมีกลิ่นอาหารสะสมด้วย ควรเช็ดทำความสะอาดไมโครเวฟทันทีหลังใช้งานหากมีคราบอาหารติด และเปิดระบายกลิ่นเอาไว้ด้วย
- เครื่องปั่น ควรทำความสะอาดเครื่องปั่นให้ทั่วถึง หลังการศึกษาของมูลนิธิสุขาภิบาลแห่งชาติพบว่าเครื่องปั่นเป็นอุปกรณ์ที่สะสมเชื้อโรคมากเป็นอันดับ 3 ในครัว โดยมีเชื้อแบคทีเรีย อย่างเช่น ซาลโมเนลลา, เชื้ออีโคไล, ยีสต์ และรา ดร.เอมิเลีย ปาเซียห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว แนะนำว่า หลังใช้งาน เติมน้ำอุ่นครึ่งโถและหยดสบู่เหลวเล็กน้อย เปิดเครื่องปั่นด้วยความเร็วต่ำ 30-60 วินาทีเพื่อกำจัดเศษอาหาร ถอดชิ้นส่วนออกและล้างด้วยมือในน้ำสบู่อุ่น ใช้แปรงขนอ่อนหรือนำแปรงสีฟันเก่ามาทำความสะอาดรอบใบมีดและจุดที่เข้าถึงยาก ล้างน้ำสะอาดและผึ่งให้แห้ง
- หม้อทอดไร้น้ำมัน ดร.ปาเซียห์ กล่าวว่า เชื้อโรคมักสะสมในตะแกรงใส่อาหาร เนื่องจากน้ำมันที่เหลืออาจเหม็นหืนและทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ อย่างเช่น ปวดท้องหรือคลื่นไส้ ทำความสะอาดหม้อหลังใช้งานทุกครั้งเมื่อเย็นสนิท แช่ตะแกรงและถาดรองในน้ำสบู่อุ่น และใช้แปรงขนอ่อนหรือฟองน้ำขัดคราบอาหารออกสำหรับด้านในหม้อ ใช้ผ้าชุบน้ำผสมสบู่เช็ดทำความสะอาด หากมีคราบมันฝังแน่น ใช้ส่วนผสมของน้ำส้มสายชู 1 ส่วนต่อน้ำ 3 ส่วน เพื่อขจัดคราบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7.เขียง เพราะต้องสัมผัสกับวัตถุดิบที่หลากหลาย ทั้งเนื้อสัตว์และพืชผักต่าง ๆ ใช้งานไปนานๆ จะเกิดรอยขีดเล็กๆ มากมายบนเขียง ซึ่งทำให้ทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึงจนกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ นอกจากล้างทำความสะอาดแล้ว ยังสามารถใช้มะนาวถูบริเวณพื้นผิวของเขียง เพื่อขจัดคราบสกปรกและกำจัดกลิ่นในเบื้องต้นก่อนล้างทำความสะอาดได้ ถ้าเก่ามากรอยเต็มไปหมดก็ควรเปลี่ยนใหม่
8.อุปกรณ์อื่น ๆ ในครัว
- ขวดซอส เวลาเทซอสเสร็จอาจจะลืมเช็ด คราบซอสที่เลอะปากขวดเหล่านี้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค วิธีทำความสะอาด หลังการใช้งานใช้กระดาษทิชชู่เช็ดให้สะอาดทุกครั้ง
- ขวดเกลือและพริกไทย ดร.ถัง กล่าวว่า “ขวดเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่สะสมเชื้อโรคมากที่สุดในครัวของคุณ” ดร.ปาเซียห์ เสริมว่า “เชื้อแบคทีเรียอย่างสแตปฟิโลคอคคัสและไวรัสจากการเตรียมเนื้อดิบ หรือจากคนป่วย สามารถแพร่กระจายมายังขวดเหล่านี้ได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีการส่งต่อกันบนโต๊ะอาหาร” เพื่อความปลอดภัย ควรทำความสะอาดขวดเกลือและพริกไทยอย่างสม่ำเสมอด้วยผ้าเช็ดฆ่าเชื้อ โดยให้เน้นบริเวณส่วนบนของขวดที่ถูกสัมผัสบ่อยที่สุด
9.ตู้เย็น อุณหภูมิเย็นในตู้เย็นไม่ได้หมายความว่าอาหารจะปลอดภัยจากเชื้อโรคเสมอไป มีงานวิจัยพบว่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด อย่างเช่น แบคทีเรีย รา และยีสต์ สามารถเจริญเติบโตหรืออยู่รอดได้ที่อุณหภูมิ 4°C ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของตู้เย็นทั่วไป เชื้อจุลินทรีย์จากอาหารสดที่ยังไม่ได้ล้าง อาจปนเปื้อนบนพื้นผิวของตู้เย็นผ่านมือของคุณ หรืออาจรั่วไหลออกจากบรรจุภัณฑ์ และอาจแพร่กระจายไปยังอาหารอื่น ๆ ภายในตู้ ควรล้างตู้เย็นเป็นประจำทุกเดือน
- มือจับตู้เย็น เราอาจจับสิ่งสกปรกแล้วก็เปิดปิดตู้เย็น และเป็นจุดที่ไม่เคยทำความสะอาดกันเลยในเกือบทุก ๆ บ้าน วิธีทำความสะอาด ใช้น้ำยาทำความสะอาดเช็ดบริเวณมือจับตู้เย็น และล้างมือเป็นประจำหลังจากจับอาหารสดหรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ ช่วยลดความสกปรกที่มือจับได้
- ช่องแช่ผัก ผักอาจจะล้างมาไม่สะอาดก่อนเก็บแช่ หรืออาจจะเก็บกันนานจนผักที่แช่เน่าไปแล้ว วิธีทำความสะอาด ทำความสะอาดช่องแช่ผักด้วยฟองน้ำหรือผ้าที่สะอาด ส่วนถาดแช่ผักที่ถอดออกมาให้นำไปล้างกับน้ำยาล้างจานในน้ำอุ่นแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
- ช่องฟริดจ์ ส่วนมากเป็นการแช่เนื้อสด แม้ว่าในอากาศเย็นเชื้อโรคเติบโตได้ช้า แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มี วิธีทำความสะอาด ถ้ามีชิ้นส่วนที่ถอดได้ให้ถอดออกมาล้างกับน้ำยาล้างจานในน้ำอุ่น จากนั้นเช็ดแห้งด้วยผ้าสะอาด ส่วนช่องฟริดจ์ให้ใช้ฟองน้ำหรือผ้าสะอาดเช็ด
อ้างอิงจาก: https://thinkofliving.com/ไอเดียตกแต่ง/แหล่งสะสมเชื้อโรคในห้องครัว-เรื่องใกล้ตัวที่เรามองข้ามไป-เจาะลึกเครื่องครัว-65275/
https://ltpgroup.co.th/article/LTP-home/Sink/7-จุดในครัวที่ควรทำความสะอาดมากที่สุด
https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/general-knowledge/592633