ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับไฮยากันก่อน
ไฮยาลูรอน หรือ กรดไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) เป็นสารที่ร่างกายสามารถผลิตขึ้นได้เอง
จากการศึกษาพบว่า 50% ของกรดไฮยาลูโรนิกที่ร่างกายสังเคราะห์จะพบอยู่ที่ผิวหนัง ทั้งในชั้นหนังแท้ (dermis) และหนังกำพร้า (epidermis)
คุณสมบัติเด่นของไฮยานี้ เป็นสารอุ้มน้ำ ช่วยให้ผิวหนังสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นได้ ส่งผลให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นและเต่งตึง ทำให้ผิวเรียบเนียน ผิวไม่แห้ง ผิวมีความยืดหยุ่นและช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอย
แต่...
ตัวไฮยาในผิวเราจะลดลงทุกๆ ปี ซึ่งกรดไฮยาลูโรนิกที่ผิวหนังจะมีอายุประมาณ 24 ชั่วโมง และในแต่ละวันจะมีกรดไฮยาลูโรนิกประมาณ 1 ใน 3 ของร่างกายที่ถูกทำลายและถูกสังเคราะห์ขึ้นใหม่ โดยปกติแล้วร่างกายของผู้ที่มีน้ำหนักตัว 70 กิโลกรัมจะมีกรดไฮยาลูโรนิกประมาณ 15 กรัม เมื่ออายุมากขึ้นอัตราการสังเคราะห์กรดไฮยาลูโรนิกจะค่อย ๆ ลดลง จนเมื่อถึงอายุประมาณ 50-60 ปี การสังเคราะห์กรดไฮยาลูโรนิกจะน้อยกว่าช่วงที่เป็นวัยรุ่นถึงสองเท่าตัว จึงส่งผลให้ผิวเกิดความหย่อนคล้อย หมองโทรมและไม่กระชับ บวกกับผิวหน้าที่ขาดการดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาริ้วรอยดูแลได้ยาก
ด้วยเหตุนี้แหละเราจึงต้องให้ความสำคัญกับไฮยาไง
อ่ะงั้นเรามาทำความรู้จักว่าตัวไฮยาเนี้ยมันทำงานยังไงกับผิวของเรากัน เพื่อให้เราเห็นถึงความสำคัญของมันกัน
ไฮยาเป็นโมเลกุลที่ซับซ้อนคล้ายสายโซ่ยาว มีหน่วยเล็กๆ หลายหน่วยเชื่อมต่อกันจนกลายเป็นสารประกอบโมเลกุลขนาดใหญ่ และมีมวลโมเลกุลมากเรียกว่า พอลิเมอร์ (Polymer) สายโซ่จำนวนมากนี้ทำให้สารเคมีเกาะติดกันได้ ด้วยสาเหตุนี้สารไฮยาลูรอนจึงสามารถกักเก็บน้ำได้ถึงครึ่งแกลลอน ทำให้เป็นพอลิเมอร์ที่ดีที่สุดสำหรับการดูดซับน้ำนั้นเอง
นอกจากนี้แล้วตัวไฮยา เป็นสารประกอบสำคัญในระหว่างเซลล์ (intercellular substance) ก็คือว่าในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเนี้ยกรดไฮยาลูรอนจะทำหน้าที่โอบอุ้มน้ำ โดยพบว่า กรดไฮยาลูโรนิค 2% จะสามารถเก็บน้ำได้ถึง 98% หรือประมาณน้ำ 1 ลิตร จะถูกตรึงในโครงสร้างเกลียวของไฮยาลูโรนิค 1 กรัม อีกทั้งยังทำหน้าที่ยึดเกาะกับโปรตีน และไกลโคสามิโนไกลแคนอื่นๆ เพื่อช่วยรักษาโครงสร้างของเนื้อเยื่อให้มีความยืดหยุ่น
ด้วยเหตุนี้แหละที่ไฮยาถือเป็นสารสำคัญชนิดหนึ่งที่ช่วยทำให้เพิ่มความชุ่มชื้น เติมเต็มริ้วรอยบนใบหน้า ลดการอักเสบของผิวหนัง และช่วยยับยั้งความสามารถของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ไฮยายังช่วยควบคุมการซ่อมแซมเนื้อเยื่ออีกด้วย
อ้าวในเมื่อไฮยาในผิวของเรามันลดลงทุกๆปี แล้วเราจะนำไฮยามาเติมเข้าสู่ผิวเราได้จากอะไรกัน???
ตัวไฮยาเนี้ยแต่เดิมนั้นได้มาจากสัตว์ เช่น ไก่ ซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงเมื่อนำมาใช้รักษาในคน เช่น เกิดการแพ้ บวมแดง ก่อนจะนำมาใช้สำหรับการรักษาจะต้องทำการทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวหนังก่อน
แต่ต่อมาจึงมีการสังเคราะห์สารไฮยาขึ้นโดยกระบวนการสังเคราะห์สารชีวโมเลกุล จากสารโมเลกุลเล็ก หรือเรียกว่า Biosynthesis โดยแบคทีเรีย Streptococcus จะถูกนำมาสังเคราะห์เป็นกรดไฮยาลูโรนิก และมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับกรดไฮยาลูโรนิกที่สังเคราะห์จากสัตว์จึงสามารถเข้ากับร่างกายของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
แล้วไฮยาที่ถูกสร้างเพื่อเลียนแบบสารที่มีอยู่ในร่างกายเราเนี้ย มันอันตรายไหมน้าาา
ตัวสารไฮยาที่ถูกสร้างเพื่อเลียนแบบสารที่มีอยู่ในร่างกายเนี้ย มันค่อนข้างมีความปลอดภัย สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นการฉีดเข้าสู่ผิวหนัง หรือการทาบนผิว รวมถึงการรับประทานสารกรดไฮยาลูโรนิกในรูปแบบอาหารเสริม และควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เอ๋! แล้วผิวหน้าเราต้องการไฮยาที่มีขนาดโมเลกุลไหนบ้างน่ะ
• กรดไฮยาลูโรนิคที่มีโมเลกุลขนาดเล็ก จะเหมาะกับการรักษาริ้วรอยตื้นๆ และคงอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6 เดือน
• กรดไฮยาลูโรนิคที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ จะใช้สำหรับการเพิ่มปริมาตรของใบหน้า และการรักษาของริ้วรอย หรือร่องขนาดลึก ซึ่งคงอยู่ในร่างกายได้นาน 6-12 เดือน
อย่างไรก็ตาม กรดไฮยาลูโรนิกนั้นสามารถถูกทำลายได้ง่ายด้วยเอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดสที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้น หรือหลั่งโดยแบคทีเรียบางชนิด เช่น Staphylococcus aureus, Streptococcus pyogenes et pneumoniae และ Clostridium perfringens นอกจากนั้นยังสามารถถูกทำลายได้ด้วยสารอนุมูลอิสระต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น รังสียูวี, สารเคมี, และฝุ่นควัน และปัจจัยภายใน เช่น การสูบบุหรี่ และความเครียด เป็นต้น การหลีกเลี่ยงมลภาวะต่าง ๆ หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ปกป้องแสงแดดจึงเป็นการช่วยยืดอายุการทำงานของกรดไฮยาลูโรนิกที่ชั้นผิวหนังให้รักษาความหยืดหยุ่นชุ่มชื้น และคงความอ่อนเยาว์ไว้ได้นานยิ่งขึ้น
เครดิตภาพจาก pixabay โดย nearshit17