ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรหากเกิดสงครามนิวเคลียร์
ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรหากเกิดสงครามนิวเคลียร์!!สงครามที่ไร้ที่ซ่อนจะฆ่าเราอย่างไร!?
ถึงแม้เราหรือบริเวณที่เราอยู่อาจจะไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของระเบิดนิวเคลียร์แต่ไม่ช้าก็เร็วนิวเคลียร์จะทำลายชีวิตเราทั้งหมด
ผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์เพียงครั้งเดียวจะสร้างรังสี ความร้อน และผลกระทบจากการระเบิด ซึ่งจะทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว
การแผ่รังสีโดยตรงเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีจากการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ภายในระเบิดและมาในรูปแบบของรังสีแกมมาและนิวตรอนเป็นหลัก
การแผ่รังสีโดยตรงจะกินเวลาน้อยกว่าหนึ่งวินาที แต่ระดับที่ร้ายแรงถึงชีวิตอาจแผ่ขยายออกไปได้มากกว่าหนึ่งไมล์ในทุกทิศทางจากจุดระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์สมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการระเบิดเทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีหลายร้อยกิโลตัน
หลังจากการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์หลายไมโครวินาที พลังงานที่ปลดปล่อยออกมาในรูปแบบของรังสีเอกซ์จะทำให้สภาพแวดล้อมโดยรอบร้อนจัดจนเกิดลูกไฟเหมือนกับแกนกลางของดวงอาทิตย์ที่มีอุณหภูมิล้านองศา
แสงที่แผ่ออกมาจากความร้อนของลูกไฟกว่าหนึ่งในสามของพลังงานระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์จะรุนแรงมากจนก่อให้เกิดไฟไหม้และทำให้เกิดแผลไหม้รุนแรงในระยะไกล แสงความร้อนจากอาวุธนิวเคลียร์ขนาด 300 กิโลตันอาจทำให้เกิดแผลไหม้ระดับหนึ่งได้ไกลถึง 13 กิโลเมตร (8 ไมล์) นับจากจุดศูนย์กลาง
คลื่นระเบิด
คลื่นระเบิดซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของพลังงานระเบิดของระเบิดเคลื่อนที่เร็วกว่าความเร็วเสียงในตอนแรก แต่จะช้าลงอย่างรวดเร็วเมื่อสูญเสียพลังงานโดยการผ่านชั้นบรรยากาศ
พลังทำลายล้างของคลื่นระเบิดขึ้นอยู่กับผลผลิตของอาวุธและระยะความสูงของการระเบิด แรงดันนี้จะทำลายบ้านส่วนใหญ่ ทำลายตึกระฟ้า และทำให้เกิดการเสียชีวิตเป็นวงกว้างภายในเวลาไม่ถึง 10 วินาทีหลังจากการระเบิด
ฝุ่นกัมมันตภาพรังสี
หลังจากระเบิดนิวเคลียร์ได้ปลดปล่อยพลังงานส่วนใหญ่ในรูปแบบของการแผ่รังสีโดยตรง ความร้อน และการระเบิด ลูกไฟจะเริ่มเย็นลงและลอยขึ้น กลายเป็นเมฆรูปเห็ดที่ภายในนั้นมีส่วนผสมของกัมมันตภาพรังสีระดับสูงซึ่งในที่สุดก็จะเริ่มหลุดออกจากเมฆเมื่อถูกลมพัด
ภาพกลุ่มเมฆขนาดใหญ่ที่เกิดจากไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดจาก "Little Boy" ซึ่งเป็นระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการระเบิดครั้งแรก (กองทัพสหรัฐ)
ฝุ่นกัมมันตภาพรังสีจะทำให้ผู้รอดชีวิตหลังสงครามได้รับรังสีไอออไนซ์ในปริมาณที่เกือบถึงตาย ฝุ่นนี้อาจครอบคลุมพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตรในทิศทางลมจากจุดระเบิด ผลกระทบที่รุนแรงจากฝุ่นกัมมันตภาพรังสีจะกินเวลาหลายวันถึงหลายสัปดาห์จึงควรอยู่ในบ้านอย่างน้อย 48 ชั่วโมง เพื่อให้ระดับรังสีลดลง
เนื่องจากผลกระทบที่ค่อนข้างช้าจึงยากที่จะประมาณผู้เสียชีวิตจากฝุ่นกัมมันตภาพรังสี จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคนหลังจากเกิดการระเบิด แต่ในบริเวณใกล้เคียงกับการระเบิด อาคารจะพังทลายลงอย่างสมบูรณ์ และผู้รอดชีวิตจะไม่สามารถหลบภัยได้
"โดยทั่วไปเชื่อกันว่ามนุษย์ที่ได้รับรังสีประมาณ 500 เรมในคราวเดียวจะเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทางการแพทย์" คณะกรรมการกำกับดูแลนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ กล่าว
แต่ในระยะที่ใกล้กับจุดศูนย์กลาง ระเบิดนิวเคลียร์ขนาด 300 กิโลตันจะทำให้มนุษย์ทุกคนถูกไฟไหม้และถูกกดทับจนตาย
การระเบิดเพียงครั้งเดียวของหัวรบนิวเคลียร์สมัยใหม่ขนาด 300 กิโลตันคือหัวรบที่มีพลังเกือบ 10 เท่าของระเบิดปรมาณูที่ระเบิดที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิรวมกัน ในเมืองอย่างนิวยอร์กจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าหนึ่งล้านคนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีกประมาณสองเท่าใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากการระเบิด จะไม่มีผู้รอดชีวิตในรัศมีหลายกิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุระเบิด
สรุปแล้วจะมี 1,000,000 คนเสียชีวิตหลังจาก 24 ชั่วโมงแรก
ในสงครามนิวเคลียร์ จะเกิดการระเบิดหลายร้อยหรือหลายพันครั้งภายในไม่กี่นาทีหลังจากนั้น โดยสมมุติว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ในภูมิภาคระหว่างอินเดียและปากีสถาน อาวุธนิวเคลียร์ขนาด 15 กิโลตันประมาณ 100 ลูกที่ยิงไปยังเขตเมืองจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตโดยตรง 27 ล้านคน
สรุปแล้วในระดับภูมิภาคหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ด้วยอาวุธขนาด 15 กิโลตัน จะมีผู้เสียชีวิต 27,000,000 คน
และหากเป็นสงครามนิวเคลียร์ข้ามโลกระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียโดยใช้อาวุธนิวเคลียร์ขนาด 100 กิโลตันจำนวนมากกว่าสี่พันลูกจะทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างรวดเร็วอย่างน้อย 360 ล้านคน ซึ่งนั่นมากกว่าประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาอยู่ประมาณ 30 ล้านคน
หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียจะมีผู้เสียชีวิต 360,000,000 คนจากทั่วโลก
ในสงครามนิวเคลียร์ข้ามโลกระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ทั้งสองประเทศจะไม่จำกัดการยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ใส่กันที่บ้านเกิดของอีกฝ่าย แต่จะเล็งเป้าหมายไปที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้อาจยิงอาวุธบางส่วนหรือทั้งหมดเพื่อตอบโต้
ซึ่งสหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส อิสราเอล อินเดีย ปากีสถาน และเกาหลีเหนือมีหัวรบนิวเคลียร์รวมกันประมาณ 1,200 ลูกในปัจจุบัน
นอกจากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากภายในเวลาไม่กี่วัน ยังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก การปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในวงกว้าง และการล่มสลายของสังคมทุกหนทุกแห่งอาจเป็นสิ่งที่ผู้รอดชีวิตจากสงครามนิวเคลียร์จะต้องเผชิญเป็นเวลาหลายสิบปี
สองปีหลังจากสงครามนิวเคลียร์ครั้งเล็กหรือใหญ่ความอดอยากเพียงอย่างเดียวอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าการระเบิดหลายร้อยครั้งในสงครามนั้นถึง 10 เท่า หายนะจะไม่จำกัดอยู่เพียงคู่กรณีทั้งสองและพันธมิตรของพวกเขาเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ขณะที่ภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ทวีความรุนแรงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาผลกระทบในระยะยาวของสงครามนิวเคลียร์ที่มีต่อระบบโลก อุณหภูมิทั่วโลกจะลดลงต่ำกว่าในมหาสมุทร ซึ่งอาจทำให้เกิดการล่มสลายทางการเกษตรทั่วโลก
สงครามนิวเคลียร์จะไม่ทำให้เมืองใดเมืองหนึ่งลุกเป็นไฟ แต่จะทำให้หลายร้อยเมืองลุกเป็นไฟในเวลาเดียวกัน แม้แต่สงครามนิวเคลียร์ในระดับภูมิภาค เช่น ระหว่างอินเดียและปากีสถาน ก็อาจนำไปสู่พายุไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเมืองและเขตอุตสาหกรรม ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกซึ่งจะกระทบทุกชีวิตบนโลกเป็นเวลาหลายทศวรรษค
ควันจากไฟไหม้ครั้งใหญ่หลังจากสงครามนิวเคลียร์อาจฉีดเขม่าจำนวนมากเข้าไปในชั้นสตราโทสเฟียร์ ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศด้านบนของโลกจะนำไปสู่ฤดูหนาวนิวเคลียร์ที่จะทำลายรูปแบบของทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกในช่วงหลายทศวรรษ
อันตรายที่เกิดขึ้น หากการสัมผัสกับดัชนี UV 12 เป็นเวลา 15 นาทีทำให้ผิวหนังมนุษย์ที่ไม่ได้รับการปกป้องเกิดอาการไหม้แดดทั่วโลก ผิวหนังเสื่อมสภาพ มะเร็งผิวหนัง และต้อกระจกในมนุษย์ นอกจากนี้ยังยับยั้งปฏิกิริยาการสลายแสงที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของใบไม้และพืช
ควันที่ลอยขึ้นไปในชั้นสตราโทสเฟียร์จะลดปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่เดินทางมาถึงพื้นผิวโลก ทำให้ลดอุณหภูมิพื้นผิวโลกและปริมาณน้ำฝนลงอย่างมาก
ในสถานการณ์สงครามนิวเคลียร์ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจะมีผลกระทบมากที่สุดต่อการเกษตรในละติจูดกลางและสูง โดยลดระยะเวลาของฤดูเก็บเกี่ยวและอุณหภูมิแม้ในช่วงฤดูกาลนั้น อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งยังอาจนำไปสู่การขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญของน้ำแข็งในทะเลและหิมะบนบก ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและส่งผลกระทบต่อการขนส่งไปยังท่าเรือสำคัญ
ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยทั่วโลกจะลดลงอย่างมากหลังสงครามนิวเคลียร์ เนื่องจากปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่ลดลงที่เดินทางมาถึงพื้นผิวจะลดอุณหภูมิและอัตราการระเหยของน้ำ ปริมาณน้ำฝนจะลดลงมากที่สุดในเขตร้อน
การเปลี่ยนแปลงในมหาสมุทร
อุณหภูมิของมหาสมุทรทั่วโลกจะลดลงมากที่สุดโดยเริ่มตั้งแต่สามถึงสี่ปีหลังจากสงครามนิวเคลียร์ โดยลดลงประมาณ 3.5 องศาเซลเซียสสำหรับหากเป็นสงครามอินเดีย-ปากีสถาน (ที่ปล่อยควัน 47 Tg สู่ชั้นสตราโตสเฟียร์) และหกองศาเซลเซียสสำหรับสงครามระดับโลกของสหรัฐอเมริกา-รัสเซีย (150 Tg) เมื่อเย็นลงแล้ว มหาสมุทรจะใช้เวลายาวนานกว่าเดิมในการกลับคืนสู่สภาพเดิม อุณหภูมิที่ต่ำผิดปกติมีแนวโน้มที่จะคงอยู่เป็นเวลาหลายทศวรรษใกล้และหลายร้อยปีหรือมากกว่านั้น หาก็เกิดสงครามนิวเคลียร์ทั่วโลก (150 Tg) การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมหาสมุทรไปจนถึงน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกมีแนวโน้มจะคงอยู่เป็นเวลาหลายพันปีจนนักวิจัยพูดถึง"ยุคน้ำแข็งนิวเคลียร์"
เนื่องจากการลดลงของการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์และอุณหภูมิบนผิวน้ำของมหาสมุทร ระบบนิเวศทางทะเลจึงถูกทำลายอย่างรุนแรงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการประมง
ผลกระทบต่อการผลิตอาหาร
การเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศ พื้นผิว และมหาสมุทรหลังสงครามนิวเคลียร์จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงและยาวนานต่อผลผลิตทางการเกษตรและปริมาณอาหารทั่วโลกเป็นเวลาหลายปีถึงหลายทศวรรษ
การเย็นตัวของผิวน้ำในมหาสมุทรจะนำไปสู่การขยายตัวของน้ำแข็งในทะเลในปีแรกๆ หลังสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การขาดแคลนอาหารจะสูงที่สุดและจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสู่ท่าเรือสำคัญ
ภาวะอดอยากหลังนิวเคลียร์
ผลกระทบของสงครามนิวเคลียร์ต่อระบบอาหารทางการเกษตรจะมีผลร้ายแรงต่อมนุษย์ส่วนใหญ่ที่รอดชีวิตจากสงคราม
ผลกระทบโดยรวมทั่วโลกของสงครามนิวเคลียร์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจะยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้น ทำให้ผู้คนหลายร้อยล้านหรือแม้แต่หลายพันล้านคนอดตาย
จำนวนผู้คนที่อาจเสียชีวิตจากความอดอยากในเวลาสองปีหลังจากสงครามนิวเคลียร์ทั่วโลกสิ้นสุดลง ถูกประมาณการไว้ที่ 5,341,000,000 คน
.....ย่อจากบทความตามแหล่งอ้างอิง.....