ซอมบี้ไวรัส คืนชีพ และโรคที่ต้องระวังในภาวะโลกร้อน
ภาวะโลกร้อน (Global Warming)
เกิดจากโลกมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ “ก๊าซเรือนกระจก” ที่เพิ่มสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่ผิดปกติขึ้น รวมถึงก๊าซชนิดอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติดักจับความร้อนออกไปยังบรรยากาศของโลก เมื่อก๊าซเหล่านี้รวมตัวกันอย่างหนาแน่น ไปดักจับความร้อนของดวงอาทิตย์ และส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิร้อนยิ่งขึ้น ยิ่งก๊าซเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ความร้อนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้โลกร้อนมากขึ้น คือ การใช้น้ำมัน การปล่อยสารพิษ การตัดไม้ทำลายป่า การใช้สารเคมี เป็นต้น เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนแล้ว สุขภาพร่างกายของเราก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย พอโลกร้อนมากขึ้น ก็ทำให้เชื้อร้ายในดินเยือกแข็งขั้วโลกฟื้นคืนชีพ
ไวรัสจากยุคโบราณ “เพอร์มาฟรอสต์” (permafrost) หลับไหลมานานเกือบ 50,000 ปี สามารถกลับมาทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์อะมีบาได้
ดร.ฌอง-มิเชล คลาเวรี (Dr. JEAN-MICHEL CLAVERIE ) นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยเอกซ์-มาร์แซลล์ ของประเทศฝรั่งเศส ได้เผยผลงานวิจัยเกี่ยวกับจุลชีพจากยุคโบราณในวารสาร Viruses โดยก่อนหน้านี้เขาเคยทำให้เชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากยุคน้ำแข็งหลายชนิดฟื้นคืนชีพมาแล้ว เพื่อที่จะศึกษาความเป็นไปได้ของการเกิดโรคระบาดชนิดใหม่ ๆ และหาแนวทางวิธีการป้องกันภัยทางสาธารณสุขในอนาคต
ล่าสุด ดร. ฌอง-มิเชล คลาเวรี ทดสอบความสามารถของเชื้อไวรัส ในเรื่องของการเข้าสู่เซลล์และขยายพันธุ์ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นการดำรงชีวิตของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อขึ้นนั่นเอง
พบว่าไวรัสโบราณที่มีอายุ 48,500 ปี เป็นไวรัสที่เก่าแก่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา มันสามารถทำให้เซลล์ของจุลชีพชนิดอื่น อย่างเช่น เซลล์อะมีบาติดเชื้อไวรัสได้ เชื้อไวรัสดังกล่าวถูกค้นพบบริเวณทะเลสาบใต้ดินของไซบีเรีย อยู่ลึกลงไปใต้ชั้นดินเยือกแข็งที่ด้านบนเริ่มละลาย เนื่องจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน
ส่วนไวรัสโบราณอีกชนิดหนึ่ง ที่ได้ค้นพบจากซากช้างแมมมอธขนยาวอายุ 27,000 ปี จัดว่าเป็นไวรัสที่มีอายุน้อยที่สุดในการทดสอบครั้งนี้ ซึ่งสามารถทำให้เซลล์อะมีบาติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน
ดร. คลาเวรีบอกว่า การค้นพบเชื่อไวรัสในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงภัยจากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และยังคงมีเชื้อไวรัสโบราณอีกหลายชนิดในชั้นดินเยือกแข็งที่ยังไม่ตาย และคาดว่าพวกมันกำลังรอวันฟื้นคืนชีพต่อไป
แต่สิ่งที่คนไทยต้องระวังตอนนี้ คือ โรคอหิวาตกโรค, โรคไข้เลือดออก และโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งจะมาพร้อมกับภาวะโลกร้อน
1. อหิวาตกโรค
เป็นโรคติดต่อที่มาจากสาเหตุของเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio cholerae) เกิดจากการทานอาหารสุกๆดิบๆ แมลงวันตอม อาหารที่ปนเปื้อนเช้า เมื่อทานเข้าสู่ร่างกายแล้วเชื้อจะเข้าไปอยู่บริเวณลำไส้ และจะสร้างพิษออกมาทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็กทำให้มีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อุจจาระเป็นน้ำ สีซาวข้าว ส่งผลให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนอาจทำให้เสียชีวิตได้
ระยะฟักตัว
ผู้ที่ได้รับเชื้อ จะเกิดอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงถึง 5 วัน โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดอาการภายใน 1-2 วัน
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการท้องเสีย
- งดอาหารรสเผ็ดจัด งดของหมักดอง
- ดื่มเกลือแร่ผงสลับกับน้ำต้มสุก
การป้องกัน
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด
- ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนทานอาหาร ก่อนปรุงอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- ต้องถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ กำจัดสิ่งปฏิกูลโดยการเผาหรือฝังดิน ป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค
- เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง ไม่ควรให้น้ำเข้าปาก
2. โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคติดต่อจากยุงลาย Aedes aegypti ( ยุงตัวเมีย ) เป็นตัวการแพร่เชื้อที่ชอบอากาศอบอุ่นร้อนชื้น เมื่อโลกมนุษย์ร้อนขึ้นยุงลายก็เติบโตแพร่ขยายพันธุ์เร็วขึ้น เมื่อพวกมันบินไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูงจากเชื้อไวรัสแดงกี่แล้ว
อาการแรกเริ่ม จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ถึง 38 - 40 องศาเซลเซียส ไข้นาน 2 - 7 วัน บางคนมีจุดเลือดสีแดงๆ ขึ้นตามตัว แขน ขา และมีอาการปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดหัวและไข้สูง ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะสีโค้ก บางคนอาจมีอาการช็อค ถึงขั้นหมดสติและถึงกับเสียชีวิตได้
การดูแลรักษา
- เมื่อมีอาการไข้สูง ต้องใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้
- หากจำเป็นต้องทานยา ควรใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล
** ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน เพราะแอสไพรินจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น**
- ถ้ามีอาการเพลียมากๆให้ดื่มเกลือแร่บ่อย ๆ
- หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที
วิธีป้องกัน
- ระวังอย่าให้ยุงกัดในตอนกลางวัน แนะนำให้นอนในมุ้ง
- ช่วยกันกำจัดลูกน้ำ ลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง
- เก็บภาชนะที่มีน้ำขังหรือไม่ใช้ประโยชน์แล้วทิ้งให้หมด
- ภาชนะเก็บน้ำที่ปิดฝาไม่ได้ ควรใส่ทรายกำจัดลูกน้ำทุก 1 - 2 เดือน สำหรับใครที่ใช้ตุ่มน้ำและไม่ค่อยได้เปิดบ่อย ๆ ควรปิดด้วยตาข่ายผ้าหรือไนล่อน 2 ชั้น
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ต้องระวังมากที่สุด เพราะนอกจากจะไม่มียาหรือวัคซีนในการรักษาแล้ว ปัจจุบันพบว่ายุงลายที่เคยออกหากินเฉพาะในเวลากลางวันได้เปลี่ยนมาหากินในเวลาพลบค่ำจนถึง 5 ทุ่ม ส่งผลให้ยากต่อการป้องกัน และวินิจฉัยโรค
3. โรคอาหารเป็นพิษ
มีสาเหตุมาจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในอาหาร เมื่อสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น จะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตเร็วขึ้นตามไปด้วย สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิตสารพิษได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีปริมาณมากพอก็จะทำให้เกิดอาการป่วยได้ เช่น ถ่ายเหลว ปวดท้อง มีไข้คลื่นไส้ และอาเจียน
อาหารที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษในประเทศไทยคือ
- อาหารทะเลแบบสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารทะเลซึ่งกินโดยไม่ผ่านการปรุงให้สุก
- อาหารประเภทปรุงเสร็จแล้ว ไม่มีการผ่านความร้อนก่อนบริโภค เช่น ยำ ส้มตำ สลัด น้ำราดหน้าต่าง ๆ
- เนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ซาลาเปา ขนมจีบ ถ้าจะเก็บไว้รับประทานในมื้อต่อ ๆ ไปควรเก็บในตู้เย็น เมื่อจะนำมารับประทานต้องอุ่นให้ร้อนจัดอีกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อ จุลินทรีย์ที่ยังเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์
ถ้ามีอาการท้องเสียมาก ๆ ร่างกายเกิดอาการขาดน้ำ และเกลือแร่ บางรายอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากมีการติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตก็ทำให้เกิด โลหิตเป็นพิษได้ จะส่งผลต่อระบบประสาท เช่น ชัก หมดสติ และร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การดูแลรักษา
เป็นการรักษาแบบอาการท้องเสียทั่ว ๆ ไป เช่น ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ อาการท้องเดินมักหายได้เองภายใน 1- 2 วัน ถ้ามีท้องเสียหรืออาเจียนมาก ร่วมกับปวดท้องรุนแรง หรือมีอาการชัก หมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยทันที
ข้อควรระวัง
อย่ากินยาแก้ท้องเสียเอง เพราะอาการท้องเสียส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง เป็นการขับถ่ายเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายที่จะต้องขับของเสียออกจากร่างกาย
มาช่วยกันรักษาสมดุลทางธรรมชาติ ลดภาวะโลกร้อน เพื่อช่วยให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น🙏
อ้างอิงจาก: BBC NEWS, https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=686 , ‘โลกร้อน’ ยุงลายอายุยืนไข้เลือดออกเพิ่ม 10 เท่า” จากเว็บไซต์ สสส.