ความร่วมมือระหว่าง 2 สายการบินจาก 2 ขั้วอำนาจในสมัยสงครามเย็น
ในช่วงที่สงครามเย็นระหว่างโลกคอมมิวนิสต์และโลกเสรีกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ได้ปรากฏความร่วมมือระหว่าง ๒ สายการบินจาก ๒ ประเทศที่ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือสายการบินแจแปนแอร์ไลนส์ของญี่ปุ่นและสายการบินแอร์โลฟล็อตของสหภาพโซเวียตรัสเซีย
ในเวลานั้นเส้นทางบินที่สั้นที่สุดระหว่างยุโรปและญี่ปุ่นคือบินข้ามน่านฟ้าของรัสเซียหรือสหภาพโซเวียต หาไม่สายการบินจะต้องบินเพิ่มอีก ๒,๕๐๐ กิโลเมตรผ่านทางอาร์กติกซึ่งเป็นพื้นที่ในบริเวณขั้วโลกเหนือ การร่วมมือกันระหว่าง ๒ สายการบินทำให้ความลำบากในการเดินทางเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
ข้อเสนอในด้านความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๙ การดำเนินการเจรจาเป็นไปอย่างล่าช้าจนล่วงเข้าเดือน เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๐๙ จึงได้มีการลงนามข้อตกลงในที่สุด เที่ยวบินแรกจึงได้เริ่มต้นในปีถัดมาภายใต้ข้อตกลงและเงื่อนไขพิเศษมากมาย
ทางสหภาพโซเวียตเองมีความกังวลเกี่ยวกับความลับทางทหารในพื้นที่ของที่เส้นทางที่ต้องบินผ่าน ส่วนทางญี่ปุ่นเองก็ไม่อยากให้เครื่องบินของสหภาพโซเวียตบินมาลงท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ เนื่องจากตัวสนามบินอยู่ห่างจากใจกลางกรุงโตเกียวเพียงแค่ ๙ กิโลเมตร ปัญหาคือต้องกำหนดจุดที่เครื่องบินจะต้องเปลี่ยนเส้นทางในทันทีที่บินขึ้นสู่อากาศและบินไปตามเส้นทางบังคับ
ข้อกังวลจากทั้ง ๒ ฝ่ายดูเหมือนจะหมดไปหลังจากได้บินเที่ยวบินทดสอบเป็นระยะทาง ๘,๐๑๕ กิโลเมตร เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ดูเหมือนทั้งสองฝ่ายจะพร้อมแล้ว
เครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในเวลานั้นคือ ตูโปเลฟ ตู-๑๑๔ (Tupolev Tu-114) เครื่องบินแบบใบพัดของสหภาพโซเวียตจำนวน ๒ ลำได้ถูกนำมาใช้ (ทะเบียน ซ๊ซ๊ซีพี-๗๖๔๖๔ และ ๗๖๔๗๐ (CCCP-76464, CCCP-76470) ได้ถูกปรับเปลี่ยนที่นั่งให้รองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด ๑๑๖ ที่นั่งสำหรับเที่ยวบินนี้ .
เที่ยวบินปฐมฤกษ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๐ โดยใช้เวลาบิน ๑๐ ชั่วโมง ๓๕ นาที จากกรุงมอสโค และ ๑๑ ชั่วโมง ๒๕ นาที ในเส้นทางกลับจากกรุงโตเกียว บรรดาลูกเรือบนเครื่องจะประกอบด้วยลูกเรือจากสายการบินแอร์โรฟล็อตและสายการบินแจแปนแอร์ไลน์ฝ่ายละ ๕ คน หัวหน้าลูกเรือขึ้นอยู่กับว่าเครื่องออกจากที่ไหน ส่วนชุดนักบินจะเป็นนักบินของแอร์โรฟล็อต
ผลตอบรับจากบรรดาผู้โดยสารค่อนข้างจะเป็นบวก ยกเว้นปัญหาเรื่องเสียง ของเครื่องตูโปเลฟ ตู-๑๑๔ ที่ค่อนข้างดังและสร้างความรำคาญให้กับบรรดาผู้โดยสารในชั้นประหยัดตลอดเที่ยวบิน เนื่องจากการจัดที่นั่งให้ส่วนของผู้โดยสารชั้นหนึ่งอยู่ท้ายเครื่องและชั้นประหยัดอยู่ด้านหน้าเครื่อง .
ต่อมาในอีกไม่นานหลายๆสายการบินเช่น บีโอเอซี , แอร์ฟรานซ์, ลุฟฮันซ่าส์ ก็เริ่มได้รับอนุญาตให้บินข้ามน่านฟ้าของสหภาพโซเวียต สายการบินแจแปนแอร์ไลนส์เองก็เช่นกันและได้เริ่มให้บริการในเที่ยวบินของตนเอง เที่ยวบินความร่วมมือระหว่างทั้ง ๒ ประเทศจึงกลายเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไปในที่สุด .
ข้อมูล : Sierra Charlie Lima