มหาลัยที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
มหาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีขนาดพื้นที่กว่า 9,000 ไร่ ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) ที่จัดการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยได้พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยในรูปแบบเรียนรู้อยู่อาศัย (Residential University) หมายถึง เป็นชุมชนที่มีนักศึกษา อาจารย์ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยพักอาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดี สวยงาม มีความสะดวก ปลอดภัย ร่มเย็น เป็นสุข พร้อมไปด้วยระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการแบบครบวงจร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาและการทำงานอย่างมีความสุข สามารถใช้ศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจได้สมบูรณ์มีประสิทธิภาพและคุณภาพ เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยของประชากรมหาวิทยาลัย ชุมชน และบุคคลทั่วไป ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามทั้งทางร่างกายปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคม ตลอดจนเป็นเมืองที่น่าอยู่ ผู้คนของมหาวิทยาลัยและชุมชนมีไมตรีเอื้ออาทรต่อกัน
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Walailak Green University) โดยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่องตามแนวทาง Walailak Green University โดยได้ให้ความสำคัญบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 การเสริมสร้างภาพลักษณ์เป็นเมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวแห่งความสุข ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก หรือ UI GreenMetric World ranking ทั้งนี้เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีภาพลักษณ์เมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวแห่งความสุขที่ยั่งยืนทั้งทางด้านภูมิทัศน์ การประหยัดพลังงาน การกำจัดของเสียและขยะ การจัดการน้ำ การขนส่ง และการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม นักศึกษาและบุคลากรที่เรียนรู้อยู่อาศัยในมหาวิทยาลัยมีความสุข มีการปรับปรุงพัฒนาและสร้างบรรยากาศเมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวแห่งความสุข มีการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษาบุคลากรและชุมชนรายรอบ พร้อมทั้งมีการสนับสนุนส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในเขตมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ริมถนน 2 ข้างทาง หรือการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ว่าง
ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Walailak Green University) มหาวิทยาลัยได้มีการพิจารณาใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็นสวนสาธารณะ (สวนวลัยลักษณ์: Walailak Park) โดยใช้พื้นที่จำนวน 255 ไร่ แบ่งเป็นผืนน้ำ 130 ไร่ และผืนดิน 125 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่สำหรับให้ประชาชนใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายสำหรับนักศึกษา บุคลากรและประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง ภายในสวนวลัยลักษณ์จะมีเขาวงกต ซุ้มเฟื่องฟ้ารูปหัวใจ ลานมโนราห์สีทอง ร่องน้ำธรรมชาติ และมีระเบียงน้ำสำหรับนั่งพักผ่อน ให้อาหารปลาและชมพระอาทิตย์ตกดินผ่านภูเขาหลวง ซึ่งเป็นทัศนียภาพที่สวยงามและมหาวิทยาลัยยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาอุทยานพฤกษศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยลักษณ์ มีพื้นที่ประมาณ 1,350 ไร่ รองรับการบริการวิชาการและเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยให้แก่นักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไป และเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนให้กับประชาชน ซึ่งพื้นที่ของอุทยานพฤกษศาสตร์ ประกอบไปด้วย พื้นที่ป่าดั้งเดิม อ่างเก็บนํ้า หอคอยชมเรือนยอด สวนสมุนไพร เส้นทางศึกษาธรรมชาติ สวนกล้วยวลัยลักษณ์ ศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรือนกระบองเพชร พื้นที่อาคารพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้รายรอบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และลานกางเต็น คอยบริการนักท่องเที่ยวที่จะมากางเต้นท์ค้างแรมชมบรรยากาศธรรมชาติ ชมพระอาทิตย์อัสดง และหมอกบนผิวน้ำอันงดงาม (SDG 11.2.4 Public access to green spaces)
เป็นยังไงกันบ้างคะ มหาลัยที่ใหญ่และมีพื้นที่เยอะที่สุดในไทย สวยงามมากๆเลยใช่ไหมคะ