รู้ไว้ระวังกันด้วย!! ใครว่าไม่อันตราย "ปลาทะเล" ก็มีพยาธิได้
เมื่อไม่นานมานี้ผู้ใช้เฟซบุ๊กนามว่า "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" ได้ออกมาเผยแพร่เรื่องราวสาระว่า มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอของชายคนหนึ่ง บอกทำนองว่า "ปลาทะเล ปลามหาสมุทร เอามาทำปลาดิบ ซาชิมิ กินได้ เพราะไม่มีพยาธิ ไม่อันตราย" !? ... ซึ่งไม่จริงนะ ในปลาทะเลก็มีสิทธิเจอพยาธิได้ครับ โดยเฉพาะพยาธิตัวกลมที่ชื่อว่า อะนิซาคิส ซึ่งแม้ว่าจะไม่แพร่พันธุ์ในร่างกายของเรา แต่สามารถทำให้ปวดท้องรุนแรงได้ครับ
ในคลิปดังกล่าว ชายคนนั้นตั้งโจทย์ว่า "ปลาน้ำจืดทำซาชิมิกินได้หรือไม่" ทำไมปลาทะเลยังกินดิบซาชิมิได้เลย ก็เพราะว่าปลาน้ำเค็ม ปลามหาสมุทร ปลาทะเลลึกเนี่ย ยึ่งลึกยิ่งไม่มีพยาธิ เพราะฉะนั้นพอเราเอาขึ้นมาปุ๊บ ก็เลยกินได้ แต่ปลาน้ำจืดส่วนใหญ่จะมีพยาธิ ไม่ค่อยนิยมที่จะทำซาชิมิ ส่วนปลาไทยที่อยู่ในน้ำทะเล ก็พอได้อยู่ ... " แล้วก็ตบท้ายว่า ตัวเค้าเองไม่ใช่แค่ปลาดิบที่กิน เนื้อดิบยังกินเลย !?
ในความเป็นจริงแล้ว เป็นความเชื่อที่ผิดเป็นอย่างยิ่ง ที่คิดว่า ไม่พบพยาธิในปลาทะเล จะพบพยาธิก็แต่เฉพาะปลาน้ำจืดเท่านั้น ... เพราะจริงๆ แล้ว มีพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งในปลาทะเล และเคยพบในปลาดิบซาชิมิที่ขายร้านอาหารญี่ปุ่นด้วยซ้ำ
พยาธิที่ว่านี้ มีชื่อว่า อะนิซาคิส (ชื่อวิทยาศาสตร์ Anisakis simplex) สามารถพบได้ในปลาทะเลหลายชนิด โดยในประเทศไทย มีการตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิอะนิซาคิสในปลาหลายชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุเลากล้วย ปลาลัง เป็นต้น / ส่วนในต่างประเทศ จะพบในปลาทะเลจำพวก ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง ฯลฯ
ลักษณะของพยาธิอะนิซาคิส เป็นพยาธิตัวกลม มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตัวโตเต็มวัยมีความยาวถึงประมาณ 2-5 ซม. พบอยู่ในกระเพาะของปลาโลมา ปลาวาฬ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในทะเลชนิดอื่นๆ
ไข่ของพยาธิจะปนออกมากับอุจจาระของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเหล่านั้น แล้วเจริญเป็นตัวอ่อนอยู่ในทะเล มีพาหะเป็นพวกกุ้ง ปลาน้ำเค็มตัวเล็กๆ และเมื่อสัตว์พาหะเหล่านี้ถูกกินด้วยปลาตัวอื่น พยาธิก็จะฝังตัวอยู่ในกล้ามเนื้อของปลาตัวนั้น
คนที่รับประทานปลาดิบที่มีพยาธินี้อยู่ ก็จะได้รับพยาธิเข้าไป จากนั้น น้ำย่อยในกระเพาะอาหารจะทำให้พยาธิจะถูกปลดปล่อยออกมาจากเนื้อปลา โดย หรือพยาธิอาจจะถูกขับออกมาจากกระเพาะอาหารเสียก่อน โดยการอาเจียน ซึ่งก็จะไม่ทำให้เกิดโรค
แต่ในกรณีที่พยาธิไม่ถูกขับออกไป พยาธิอาจจะชอนไชไปตามทางเดินอาหาร แล้วอยู่ในลำไส้ และอยู่นอกลำไส้ภายในช่องท้องก็ได้
ในระหว่างปี พ.ศ. 2508-2530 มีรายงานว่าพบผู้ป่วยในประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 4000 ราย ซึ่งพบการเกิดก้อนทูมในกระเพาะอาหารมากที่สุด พบก้อนทูมบางที่ที่ลำไส้และในช่องท้อง ถ้าตัดก้อนทูม จะพบพยาธิอยู่ภายในก้อนทูม การรักษาทำได้โดยการผ่าตัด
พ.ศ. 2538 มีรายงานพบผู้ป่วยในญี่ปุ่นประมาณ 2000 ราย ในสหรัฐอเมริกามีรายงานการพบผู้ป่วยประมาณ 500 รายต่อปี ในยุโรปมีประมาณ 500 ราย
สำหรับประเทศไทย ก็มีรายงานการพบผู้ป่วยครั้งแรกจากพยาธิชนิดนี้ในชาวประมงทางภาคใต้ และยังมีรายงานว่าพบผู้ที่เกิดอาการแพ้ต่อพยาธิตัวนี้ทำให้เกิดผื่นลมพิษ ซึ่งในประเทศสเปน มีรายงานว่าบางรายเกิดอาการแพ้ชนิดเฉียบพลันด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ก็พบผู้ป่วยจากพยาธิชนิดนี้เป็นจำนวนน้อยมากต่อปี
อาการของโรคคือ ภายหลังจากได้รับพยาธิ 1 ชั่วโมง อาจมีอาการปวดท้อง ปวดกระเพาะอาหาร ลำไส้อุดตัน คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการคล้ายๆ ไส้ติ่งอักเสบ อาจจะทำให้วินิจฉัยผิดพลาดเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือไส้ติ่งอักเสบได้ บางรายอาจถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด ภายใน 1-5 วัน
ผู้ป่วยอาจจะอาเจียนออกมาเป็นตัวพยาธิ หรืออาจจะพบพยาธิเมื่อส่องกล้องเข้าไปในหลอดอาหาร เนื่องจากตัวอ่อนไม่สามารถเจริญและวางไข่ในคนได้ ดังนั้นการ ตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิชนิดนี้ จึงไม่ช่วยในการวินิจฉัย
การรักษามีทางเดียว คือการเอาตัวพยาธิออกมาจากผนังกระเพาะหรือบริเวณเนื้อเยื่อที่พยาธิเข้าไปฝังตัวอยู่ โดยการผ่าตัด เพราะยาฆ่าพยาธิใช้ไม่ได้ผล
เมื่อจำเป็นต้องรับประทานเนื้อปลาทะเล ควรทำให้สุกด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 5 นาที ถ้าเป็นเนื้อปลาสดควรเก็บที่อุณหภูมิ ต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 วัน หรือต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15 ชั่วโมง จะทำให้พยาธิ Anisakis simplex ตายได้
ดังนั้น การรับประทานปลาดิบ แม้ว่าจะเป็นปลาทะเล ปลาน้ำเค็มก็ตาม ก็ควรจะต้องระมัดระวัง ให้สังเกตดูลักษณะของเนื้อปลาก่อนรับประทาน ว่ามี ตัวอ่อนของพยาธิปะปนอยู่หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ... อย่าประมาทตามความเชื่อที่ว่า "ปลาทะเลไม่มีพยาธิ" ครับ