หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

น้ำกัดเซาะ! ภัยเงียบที่กลืนกินผืนแผ่นดิน

โพสท์โดย Aumsaza

น้ำกัดเซาะ! ภัยเงียบที่กลืนกินผืนแผ่นดิน 

“การกัดเซาะ” เป็นหนึ่งในกระบวนการธรรมชาติที่ส่งผลกระทบทำให้พื้นผิวหน้าดินหรือหินโดนทำลาย กร่อนกะเทาะ เคลื่อนตัว เปลี่ยนรูป หรือพังทลาย ซึ่งเกิดได้จากทิศทางการไหลของน้ำ ฝน ลม ภูมิอากาศ หรือเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ เช่น การทำเกษตร การตัดไม้ทำลายป่า และการเจริญเติบโตของเมือง 

สำหรับการกัดเซาะตามธรรมชาติส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนมนุษย์ไม่ทันสังเกตเห็น ซึ่งบางครั้งอาจใช้เวลานานหลายชั่วอายุคน เช่น แพะเมืองผี จ.แพร่ และ สามพันโบก จ.อุบลราชธานี ซึ่งจากการศึกษาของนักธรณีวิทยาพบว่าทั้ง 2 แห่งเกิดจากถูกน้ำกัดเซาะมานานนับล้านปี ทว่า การกัดเซาะจากธรรมชาติก็ไม่ได้รังสรรค์สิ่งสวยงามเสมอไป แต่หลายครั้งกลับเป็นมหันตภัยเงียบที่กลืนกินผืนแผ่นดิน ค่อยๆ รุกคืบเข้ามาใกล้ จนส่งผลกระทบแบบไม่ทันตั้งตัว โดยในบทความนี้จะพาไปดูผลกระทบและแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการกัดเซาะดังกล่าว 

 

ตัวอย่าง ภาพแพะเมืองผี (ที่มา : https://www.facebook.com/Phaemuangphi/

 

การกัดเซาะของน้ำในแม่น้ำที่ค่อยๆ พังทลายตลิ่งลงมาทีละนิด 

นับเป็นปัญหาหลักของคนไทย เนื่องจากวิถีชีวิตคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมักจะอาศัยใกล้ชิดอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งจากงานวิจัยของ มนิษฐา ไรแสง ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาน้ำกัดเซาะที่อยู่อาศัยริมน้ำของชุมชนซอยวัดหลังบ้าน เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม พบว่า การกัดเซาะทำให้ลักษณะทางกายภาพมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาโดยเฉพาะบริเวณริมตลิ่งซึ่งเกิดจากมีปริมาณการไหลของน้ำสูง ยิ่งกระแสน้ำไหลเร็วมากเท่าไรก็จะยิ่งมีการกัดเซาะที่รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ทำลายพื้นที่ทำกิน และทำลายพื้นที่อยู่อาศัย โดยสามารถป้องกันได้ด้วยการออกแบบโครงสร้างที่อยู่อาศัยให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และการทำพนังกั้นน้ำแบบธรรมชาติควบคู่กับโครงสร้างแบบถาวรเพื่อช่วยรักษาริมตลิ่งให้คงทน 

 

ตัวอย่าง ภาพที่อยู่อาศัยชุมชนซอยวัดหลังบ้าน เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม1 

 

ตัวอย่าง ภาพจำลองลักษณะที่อยู่อาศัยที่โดนน้ำกัดเซาะชุมชนซอยวัดหลังบ้าน เทศบาลเมืองสมุทรสงคราม1 

(1ที่มา : มนิษฐา ไรแสง แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะที่อยู่อาศัยริมน้ำ  
: กรณีศึกษาชุมชนซอยวัดหลังบ้าน เทศบาลเมือง สมุทรสงคราม) 

 

ทะเลสาบจากธรรมชาติและทะเลสาบฝีมือมนุษย์ ความงดงามที่ค่อยๆ กัดเซาะผืนดิน 

เมื่อพูดถึงแหล่งน้ำสำคัญอย่างทะเลสาบ สถานที่แรกที่หลายคนนึกถึงก็คือทะเลสาบสงขลา แหล่งน้ำธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ขนาดกว่า 1,000 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และเป็นพื้นที่ประมงและเกษตรพื้นบ้านมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน แต่ในปัจจุบันทะเลสาบสงขลาเป็นอีกพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาถูกน้ำกัดเซาะกินพื้นที่ชายฝั่งเป็นบริเวณกว้าง โดยจากการรายงานของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์พบว่า ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งของทะเลสาบสงขลาเกิดมานานกว่า 10 ปี สาเหตุจากลมเปลี่ยนทิศทาง และการก่อสร้างโครงสร้างรุกล้ำชายหาด ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งการเติมทรายเสริมชายหาด และการรื้อโครงสร้างที่รุกล้ำชายหาด ซึ่งตามหลักวิศวกรรมระบุว่า หาดทรายที่ใกล้กับสิ่งก่อสร้างชายฝั่งจะเกิดการสะสมของทรายด้านต้นเขื่อน ส่วนด้านท้ายเขื่อนชายหาดจะถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง แต่จากความพยายามแก้ไขปัญหาของภาครัฐไม่เพียงแค่ไม่สามารถลดปัญหาการกัดเซาะได้เท่านั้น แต่ยังประสบปัญหาเดียวกับชาวชุมชนชายหาดบ้านท่าบอน คือทัศนียภาพอันสวยงามโดนบดบัง ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการทำอาชีพ 

นอกจากทะเลสาบสงขลาและทะเลสาบตามธรรมชาติอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อการโดนน้ำกัดเซาะแล้ว ทะเลสาบที่เกิดขึ้นโดยฝีมือการสร้างของมนุษย์ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่นิยมมีทะเลสาบในโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งเป็นความสวยงามที่แฝงไปด้วยข้อควรระวัง ทางที่ดีควรเลือกบ้านริมทะเลสาบที่ออกแบบทำแนวป้องกันดินพังทลายไว้อย่างดี เลือกทำเลที่ตั้งบ้านไม่ให้อยู่บริเวณมุมโค้งน้ำ ซึ่งมีความเสี่ยงจะโดนกัดเซาะได้ง่าย นอกจากนี้ อาจทำให้ผิวดินบริเวณใกล้เคียงมีความอ่อนตัว ดินไถลทรุดง่ายกว่าบริเวณอื่นด้วย ตัวอย่างเช่น 

 

 

ตัวอย่าง ภาพการกั้นน้ำด้วย Geobag (ที่มา : https://bangkokgabions.com/geobag/

 

 

ตัวอย่าง ภาพการแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะทะเลสาบของโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ 

 

กระแสน้ำในท้องทะเลหรือคลื่นที่ค่อยๆ กัดเซาะชายฝั่ง 

นอกจากคนไทยส่วนใหญ่จะมีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำแล้ว คนไทยอีกส่วนก็ยังผูกพันกับท้องทะเล ซึ่งถือเป็นแหล่งทำเงินให้ประเทศติดเป็นอันดับต้นๆ โดยปัจจุบันไทยเรามีพื้นที่ติดทะเล 23 จังหวัด มีแนวชายฝั่งยาวรวม 3,151 กิโลเมตร แต่จากการรายงานของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์พบว่า การกัดเซาะของคลื่นชายฝั่งได้ค่อยๆ กัดกร่อนก่อหายนะทำลายทั้งการท่องเที่ยว และวิถีชีวิตในชุมชน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

ชาวบ้านชายหาดบ้านท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากชายฝั่งถูกกัดเซาะ โดยเฉพาะจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมทำให้คลื่นซัดเข้าหาฝั่งอย่างรุนแรง ทำลายหน้าดิน สิ่งปลูกสร้าง บ้าน ที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง ฯลฯ และแม้ว่าภาครัฐจะเข้าไปสร้างกำแพงกันคลื่นแต่คลื่นยังซัดกระโจนข้ามกำแพงเข้ามาสร้างความเสียหายเหมือนเดิม โดยจากการรายงานของศูนย์พัฒนาการสื่อสารภัยพิบัติ ไทยพีบีเอส จะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่เพียงแค่ไม่สามารถป้องกันคลื่นกัดเซาะได้เท่านั้น แต่ยังทำลายสภาพแวดล้อม บดบังทัศนียภาพ ทำลายบรรยากาศของสถานที่ท่องเที่ยว และทำลายวิถีชีวิตของชุมชนเพราะชาวบ้านไม่สามารถจอดเรือประมงได้เหมือนเดิม 

 

ตัวอย่าง ภาพการกัดเซาะ ชุมชนชายหาดบ้านท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา2 

 

ตัวอย่าง ภาพกำแพงกันคลื่นที่พังเสียหาย ชุมชนชายหาดบ้านท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา2 

(2ที่มา : กองบรรณาธิการ DXC ไทยพีบีเอส : เสียงจากคนริมเล “กำแพงหินกันคลื่น สู่ภัยพิบัติ) 

 

สำหรับแนวทางป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความแรงของคลื่นลม ได้แก่ 

1) กำแพงกันคลื่น มีหลายรูปแบบแตกต่างไปตามสภาพแวดล้อมและความรุนแรงของคลื่น 

2) เขื่อนกันคลื่น เน้นสลายความรุนแรงของคลื่นให้ลดแรงกระทบน้อยลง และหักเหทิศทางคลื่นไม่ให้เข้ากระทบฝั่ง 

3) รอดักทราย เพื่อดักทรายไม่ให้ไหลไปตามกระแสคลื่น 

4) เติมทราย หรือสร้างหาดใหม่ 

5) ปลูกป่าชายเลนเป็นกำแพงกันคลื่นธรรมชาติ แต่ถ้าสุดท้ายเล็งเห็นแล้วว่าไม่สามารถหยุดการกัดเซาะชายฝั่งได้ก็อาจต้องใช้มาตรการถ่อยร่นของชายฝั่ง ด้วยการเวนคืนที่ดินและอพยพชาวบ้านไปยังที่ปลอดภัย 

 

ที่มา 

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ “https://www.posttoday.com/business/406424” 

วิทยานิพนธ์ “มนิษฐา ไรแสง แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะที่อยู่อาศัยริมน้ำ : กรณีศึกษาชุมชนซอยวัดหลังบ้าน เทศบาลเมือง สมุทรสงคราม” 

https://dxc.thaipbs.or.th/expert-pool/กัดเซาะชายฝั่ง-สาธารณ/ 

โพสท์โดย: Aumsaza
อ้างอิงจาก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ “https://www.posttoday.com/business/406424”
วิทยานิพนธ์ “มนิษฐา ไรแสง แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะที่อยู่อาศัยริมน้ำ : กรณีศึกษาชุมชนซอยวัดหลังบ้าน เทศบาลเมือง สมุทรสงคราม”
https://dxc.thaipbs.or.th/expert-pool/กัดเซาะชายฝั่ง-สาธารณ/
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Aumsaza's profile


โพสท์โดย: Aumsaza
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
อีกทางเลือก กำจัดปลาหมอคางดำวัดป่าดงหนองตาล ตำนานที่ถูกปิดข่าวเศร้าสะเทือนวงการ! "เบนซ์ ธนธิป" เสียชีวิตแล้วรัสเซียประณาม ชาวรัสเซียที่นับถืออิสลาม ปฏิบัติไม่ดีต่อผญ. ที่ถือศาสนาอื่นสื่อฮาแตก หลัง "ลิลลี่" เผยเหตุเลิกราอดีตประธานสภาฯ
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
สื่อฮาแตก หลัง "ลิลลี่" เผยเหตุเลิกราอดีตประธานสภาฯอีกทางเลือก กำจัดปลาหมอคางดำหนังที่ทำรายได้น้อยที่สุดตลอดกาล เท่าที่เคยมีบันทึกไว้ในโลก
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
สิงคโปร์ล้ำไปอีกขั้น โดยการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์ QR Code ที่กินได้ใช้เวลาสร้าง 20 ปี แต่สิ่งที่ได้คือคุกที่เล็กที่สุดในโลก แต่แข็งแรงอยู่ถึงปัจจุบันนวลฉวี เปิดแฟ้มคดีสะเทือนขวัญ ฆาตกรรมหึงหวงในอดีตการตอบสนองของพืชมีอะไรบ้าง พืชก็มีชีวิตและความรู้สึกนะรู้ไหม?
ตั้งกระทู้ใหม่