ค่าตอบแทนพนักงานลูกจ้างลูกเรือประมง
ค่าตอบแทนในการทำงาน
สภาพการจ้างงานประมงทะเล ซึ่งเป็นงานที่หนักและเสี่ยงอันตราย มีอัตราค่าตอบแทนที่ต่ำมาก โดยลักษณะการจ่ายค่าตอบแทนแรงงานของประมงทะเล มีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.แบบเป็นเงินเดือน 2.แบบแบ่งเปอร์เซ็นต์ในการขายปลาแต่ละรอบ 3.แบบเป็นเงินเดือนและแบ่งเปอร์เซ็นต์
โดยปัจจุบันอัตราค่าตอบแทนแบบรายเดือนในพื้นที่ท่าเรือประมง เช่น สงขลา สมุทรสาคร สมุทรปราการและตรัง อยู่ที่อัตราประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผู้ประกอบการมักอ้างว่า ลักษณะการทำงานบนเรือประมงเป็นงานที่กิน-อยู่พร้อม ลูกเรือไม่ต้องซื้ออาหารและเช่าที่พักอาศัย ดังนั้นอัตราค่าจ้างแรงงานจึงอยู่ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะอาหารและสถานที่พักผ่อนมักไม่ถูกสุขอนามัย ตลอดจนเจ้าของเรือประมงจะให้ลูกเรือสามารถสั่งอาหารหรือของใช้ที่ต้องการได้ โดยจะฝากสินค้าที่ลูกเรือสั่งซื้อมากับเรือขนถ่ายปลากลางทะเล ซึ่งอัตราค่าสินค้าดังกล่าวมีราคาแพงเกินจริง เพราะบวกค่าขนส่งเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เงินเดือนๆ ละ 3,000 บาท ของลูกเรือประมงหลายคนจึงเหลือเดือนละไม่ถึง 1,000 บาท ซึ่งตัวอย่างของแรงงานประมงหลายคนที่ทำงานบนเรือมาเป็นปี เมื่อขึ้นฝั่งตัดบัญชีค่าจ้างแรงงาน จึงเหลือเงินคนละไม่กี่พันบาทเท่านั้น ส่วนกรณีแบ่งค่าจ้างจากเปอร์เซ็นต์ในการขายปลานั้น ก็มีสภาพไม่ต่างกัน เพราะลูกเรือไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่า ในความเป็นจริงขายปลาได้เงินจำนวนเท่าใด และหักลบกันกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น อัตราค่าจ้างแรงงานทั้งสองแบบ จึงไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง