หญิงไทยสมัยก่อน เมื่อมี “ระดู”ก่อนพัฒนาการสู่ ‘ผ้าอนามัย’
หญิงไทยสมัยก่อน เมื่อมีอาการระดูหรือประจำเดือน
หญิงไทยสมัยก่อน เมื่อมีอาการระดูหรือประจำเดือน จะใช้วัสดุที่หาได้ง่ายและสะดวกในท้องถิ่นมาใช้ซับเลือดประจำเดือน โดยวัสดุที่นิยมใช้กัน ได้แก่
- กาบมะพร้าว นำไปแช่น้ำแล้วทุบให้นิ่ม ก่อนนำใยมะพร้าวไปยัดใส่ผ้าเพื่อซับระดู หรือใช้ผ้าทบให้หนาเพื่อซับระดู
- ผ้าซับระดู ที่ทำจากผ้าหลายชั้นมาซ้อนทับกัน
ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ต้นรัชกาลที่ 7 โดยมีหลักฐานเก่าแก่สุดที่พบเป็นโฆษณาขายผ้าซับระดูในหนังสือ “ข่ายเพ็ชร์” ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2468 ของร้านประเสริฐโอสถ ถนนบ้านหม้อ พระนคร
ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งรุ่นแรกๆ มีลักษณะเป็นผ้าซับระดูที่มีห่วงคล้องกับเอว และมีตะขอเกี่ยวอยู่ด้านหลัง แม้จะมีขนาดและวิธีใช้ที่ดูแล้วขลุกขลักอยู่พอควร แต่ในยุคนั้นก็นับว่าสะดวกสบายมากทีเดียว
ในระยะแรก “ผ้าอนามัย” แพร่หลายเพียงในกลุ่มสตรีชั้นสูงที่อยู่ในเมืองเท่านั้น เพราะการใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งออกจะฟุ่มเฟือย เมื่อเทียบกับการใช้ผ้าประจำเดือนที่ใช้แล้วซักทำความสะอาด
ผ้าอนามัยยี่ห้อโกเต็กซ์ได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลาต่อมา จนเรียกผ้าอนามัยทั่วไปว่า “โกเต๊กซ์” กันอยู่พักใหญ่
- เมื่อการแข่งขันในตลาดผ้าอนามัยรุนแรงมากขึ้น ก็เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตภายในประเทศ และเกิดยี่ห้อใหม่อย่าง เซลล๊อกซ์ ที่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ผ้าอนามัยแถบปลาย ที่แม้จะยังต้องใช้สายคาด แต่ก็ตอบโจทย์เรื่องการแต่งตัวได้มากขึ้น
- ต่อมา ผ้าอนามัยแบบแถบกาวเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ เนื่องจากผู้ผลิตสั่งเครื่องจักรผิดแบบ โดยใช้ยี่ห้อแซนนิต้า ความสะดวกของผ้าอนามัยแบบแถบกาว ทำให้ผ้าอนามัยแบบห่วงและแบบแถบปลายมีขนาดตลาดที่เล็กลง และเลิกผลิตไปในที่สุด
- ปัจจุบัน ผ้าอนามัยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบมินิ, แบบทีนเอจ ฯลฯ โดยรวมคือมีขนาดที่เล็กและบางลง ตลอดจนความเหมาะสมกับการใช้งานในวันมามาก มาน้อย เพื่อให้เกิดความสะดวกและตอบสนองกับแฟชั่นและการใส่เสื้อผ้าที่รัดรูป รวมถึงการพกพา เมื่อผู้หญิงต้องออกจากบ้านมากขึ้นตามบทบาทในสังคม













