คำว่า'เริ่ดสะแมนแตน'มาจากไหน?
รู้หรือไม่? คำว่า “เริ่ดสะแมนแตน” มีที่มาจาก 'นายเลิศ'
นายชื่น เศรษฐบุตร ผู้เป็นบิดาตั้งชื่อบุตรชายคนที่ 2 ที่เกิดในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ว่า “เลิศสมันเตา” เป็นการตั้งชื่อทิพย์แบบเอาเคล็ด เพื่อที่บุตรชายจะได้เลิศเลอเป็นใหญ่เป็นโตในอนาคต
คำนี้มีเป็นการผสมคำแบบพิลึกจาก 2 ภาษาคือ “เลิศ” กับ “สมันตะ”
“เลิศ” เป็นคำยืมมาจากภาษาเขมรที่เขียนว่า លើស (เลีส) อ่านว่า “เลอ” แปลว่า เกิน เหลือประมาณ ซึ่งปรากฏหลักฐานคำว่า “ละเลิศ” ตั้งแต่สมัยต้นอยุธยาแล้ว
ส่วนคำว่า “สมันตะ” นั้น มาจากภาษาสันสกฤตเขียนว่า समन्त (สมนฺต) อ่านว่า “ส-มันตะ” แปลว่า รอบด้าน โดยรอบ โดยทั่ว โดยประการทั้งปวง
การรวมคำว่า “เลิศ” กับ “สมันตะ” เป็นการรวมคำแบบไร้ไวยกรณ์ จนกลายมาเป็น “เลิศสมันเตา” มีความหมายว่า เป็นเลิศเหนือผู้อื่น ดีเลิศไม่เหมือนใคร
เมื่อเด็กชายเลิศสมันเตาเติบใหญ่ขึ้น จึงย่นเหลือเพียง “นายเลิศ เศรษฐบุตร” เท่านั้น และได้เติบโตมาเป็นนักธุรกิจชื่อดังแห่งสยามทั้งเป็นผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่เป็นของคนไทย ทำให้ชาวสยามได้รู้จักกับสินค้าต่างประเทศ เช่น แฮม ชีส และอาหารกระป๋อง ทั้งยังตั้งโรงน้ำแข็งแห่งแรก ทำให้น้ำแข็งเป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึง เรือเมล์ และรถเมล์ขาวที่กลายเป็นรากฐานของการคมนาคมในปัจจุบัน
คำว่า ‘เริ่ดสแมนแตน’ ที่แผลงมาจากคำว่า ‘เลิศสมันเตา’ ถูกนำมาใช้กันจนติดปากในยุคหนึ่งเมื่อ เทิ่ง สติเฟื่อง นำมาใช้ในรายการโทรทัศน์ หมายถึงความเลิศหรู ดีเหนือใคร และกลายเป็นคำสแลงของวัยรุ่นในสมัยก่อนสงคราม แปลว่า เด็ดมาก เจ๋งมาก เยี่ยมยอด
นอกจากนี้นายเลิศยังตั้งชื่อเรือส่วนตัวของตนเองว่าเรือ “สมันเตา” ด้วย เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสร้อยคำแปลกๆ ท้ายชื่อที่พ่อตั้งให้และต่อมาได้แผลงมาเป็น “เลิศสมันแตน” จนมาเป็น 'เริ่ดสะแมนแตน' ในปัจจุบัน
นายเลิศ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภักดีนรเศรษฐ ถือศักดินา ๑๐๐๐ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2468