หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

20 พฤศจิกายน ครบรอบ 226 ปี รามเกียรติ์ ร.1

เนื้อหาโดย กัลยลิขิต

"เดือนอ้ายสองคํ่าขึ้น จันทรวาร
บพิตรผู้ทรงญาณ ยิ่งหล้า
แรกรินิพนธ์สาร รามราพณ์ นี้แฮ
ศักราชพันร้อยห้า สิบเก้าปีมะเส็ง ฯ"

เป็นเวลากว่าสองศตวรรษแล้วที่บทละครใน เรื่องรามเกียรติ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วรรณคดีไทยอันเลื่องชื่อ ยังคงครองใจนักอ่านและยังประโยชน์ให้แก่คนในชาติไม่ว่าจะได้ด้านต้นแบบของงานวรรณศิลป์ นาฏศิลป์ ตลอดจนงานจิตรกรรม ปฏิมากรรม และหัตถศิลป์ต่าง ๆ ที่ได้นำเอาเรื่องราวหรือลักษณะของตัวละครจากบทพระราชนิพนธ์ เรื่องรามเกียรติ์ ไปสร้างสรรค์เป็นผลงานแขนงต่าง ๆ

โดยใน วัน จันทร์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๖ นี้ ก็เป็นวาระครบรอบ ๒๒๖ ปี แห่งการพระราชนิพนธ์บทละครใน เรื่องรามเกียรติ์ พอดิบพอดี อ้างอิงจากบทพระราชนิพนธ์สองบทสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงกล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการพระราชนิพนธ์และวันที่เริ่มพระราชนิพนธ์ ตามที่กล่าวถึงไปแล้วในข้างต้น

- เดือนอ้ายสองค่ำขึ้น จันทรวาร คือ วันที่ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑ ตามจันทรคติ
- ศักราชพันร้อยห้า สิบเก้าปีมะเส็ง คือ ปีจุลศักราช ๑๑๕๙ ปีมะเส็ง เพราะขณะนั้นสยามยังนิยมใช้จุลศักราชตามอย่างยุคกรุงศรีอยุธยาอยู่
เมื่อนำบทพราชนิพนธ์มาเทียบเคียงกับปฏิทินสุริยคติที่มีรูปแบบเดียวกับปฏิทินกริกอเรียนที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน จึงทำให้รู้ว่าทรงเริ่มพระราชนิพนธ์บทละครใน เรื่องรามเกียรติ์ในวัน จันทร์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน จุลศักราช ๑๑๕๙ พุทธศักราช ๒๓๔๐ เป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาล

บทละครใน เรื่องรามเกียรติ์ ฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยฉันทลักษณ์กลอนบทละครหรือกลอนแปด

บอกเล่าเรื่องราวของพระราม เอกบุรุษในศาสนาฮินดู อวตารปางที่ ๗ ของพระวิษณุ

จำนวน ๑๑๗ เล่มสมุดไทย โดยมีพระราชประสงค์จะพระราชนิพนธ์ขึ้นมาสำหรับเป็นบทการแสดงละครหลวงหรือละครในตามที่เรารู้จักกัน

ต่อมาเมื่อมีการแสดงโขนโรงใน คือการแสดงโขนที่รับเอารูปแบบการร้องบทประกอบทำนองเพลงอย่างการแสดงละครในเข้ามาผสม จึงได้มีการนำบทพระราชนิพนธ์ฉบับนี้มาปรับใช้เป็นบทขับร้องในการแสดงอยู่เนือง ๆ จนถึงปัจจุบัน

แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ หรือแม้แต่นักวิชาการด้านอักษรศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ได้มีความเห็นตรงกันว่ามิได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้สำหรับเป็นบทการแสดงละครในเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะทรงพระราชนิพนธ์เพื่อรวบรวมเรื่องราวรามเกียรติ์ให้ครบสมบูรณ์เสียมากกว่า เพราะทรงพระราชนิพนธ์เกริ่นนำตั้งแต่ตอนหิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน การสร้างเมืองต่าง ๆ กำเนิดตัวละครต่าง ๆ ไปจนถึงอภิเษกพระรามกับนางสีดายังเขาไกรลาศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากที่นางสีดาได้แทรกพระธรณีหนีพระรามไป และเนื้อหาใจความในแต่ละตอนนั้นก็ยืดยาว ราวกับทรงต้องการขยายความบรรยายให้เห็นภาพ

เมื่อจะนำใช้เป็นบทสำหรับการแสดงแล้วมันไม่สมจริง ก็ต้องตัดทอนออกเป็นอันมาก เพื่อให้เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างราบรื่นรวดเร็วอย่างที่ควรจะเป็น ถึงขนาดพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์กระชับใจความไว้เสียหลายตอน เพื่อให้เหมาะสำหรับเป็นบทการแสดง

และเนื้อหาที่ทรงพระราชนิพนธ์นั้นก็ผิดแผกแตกต่างไปจากรามเกียรติ์ฉบับอื่น ๆ ของสยามและรามายณะของฮินดู เนื่องจากมีการนำเทวตำนานฮินดูตอนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรามายณะเข้ามาผสม และได้สอดแทรกวิธีการเล่าเรื่องอย่างพุทธชาดก คติแง่คิดอย่างศาสนาพุทธเข้าไป ด้วยในยุคของพระองค์นั้นประชาชนส่วนใหญ่เลื่อมใสในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก แม้แต่ราชสำนักที่ได้รับคติของศาสนาฮินดูสืบทอดกันมา ก็ยังเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเสียมากกว่า และเมื่อพิจารณาจากเรื่องราวการเล่าเรื่องแล้วนั้น ก็ทำให้เห็นว่าทรงนำเอาเทวตำนานของฮินดูที่ไม่เกี่ยวข้องกับรามายณะเข้ามาเสริมอยู่หลายตอน เช่น

ตอนหิรัณตยักษ์ม้วนแผ่นดิน เกริ่นนำถึงตำนานการสร้างกรุงอโยธยา

ตอนนางนารายณ์ปราบนนทกหรือตอนนิ้วเพชร ซึ่งดัดแปลงมาจากตำนานนางโมหินีปราบภัสมาสูรจากวิษณุปุราณะ เพื่อเกริ่นถึงชาติกำเนิดของทศกัณฐ์และที่มาแห่งการอวตารลงไปเกิดเป็นพระราม

ในตำนานนางโมหิณีปราบภัสมาสูรนั้น กล่าวถึงภัสมาสูรเป็นอสูรสาวกของพระศิวะ บางตำนานว่าภัสมาสูรบูชาพระศิวะเป็นเวลานานจนเป็นที่พอใจจึงเสด็จมาหาและให้พรตามที่ขอว่า ภัสมาสูรถ้าเอามือไปแตะที่หัวของใครผู้นั้นจะตายกลายเป็นขี้เถ้า ภัสมาสูรจึงคิดที่จะใช้มือนั้นสังหารพระศิวะ

บางตำนานก็ว่าพระศิวะพอใจในการบูชาของภัสมาสูรจึงแต่งตั้งให้เป็นสาวกและได้ใช้ภัสมาสูรให้ไปปราบอสูรตนหนึ่ง โดยให้มีอาวุธเป็นมือวิเศษ วางบนหัวผู้ใดผู้นั้นจะถูกเผาเป็นเถ้าธุรี เมื่อเสร็จภาระกิจแล้วพระองค์จะให้ในสิ่งที่ภัสมาสูรต้องการ แต่ภัสมาสูรกลับทูลของพระแม่ปารวตี พระศิวะก็ยกให้แต่พระแม่ไม่ยอม พระศิวะเลยให้ภัสมาสูรขอใหม่ แต่ภัสมาสูรก็ยังยืนยันคำเดิม เมื่อไม่ได้ตามที่ขอ ภัสมาสูรจึงคิดที่จะใช้ฝ่ามือของตนวางบนเศียรพระศิวะเพื่อกำจัดพระองค์แล้วจะขึ้นมาเป็นใหญ่แทน พระศิวะจึงหลบหนีหลอกล่อภัสมาสูรไปทั่วทั้งสามโลก เมื่อพระวิษณุรู้เรื่องจึงตื่นจากบรรทมอวตารเป็นนางอัปสราชื่อว่าโมหิณี มาดักทางภัสมาสูรยังเชิงเขาไกรลาส ส่วนพระศิวะก็จำแลงองค์เป็นต้นไม้ใหญ่ เมื่อทั้งสองพบกัน นางโมหิณีหลอกล่อว่าตนนั้นเป็นนางอัปสราที่มาไหว้ต้นไม้ซึ่งเป็นบรรพบุรุษ ภัสมาสูรเกิดหลงใหลในความงามจึงอยากได้เป็นเมีย นางโมหิณีจึงชักชวนให้มาบูชาบรรพบุรุษด้วยกันด้วยการร่ายรำ ภัสมาสูรที่หลงกลก็ได้ร่ายรำตามจนเผลอลืมตัววางมือบนศีรษะตนเองจนถูกเผาไหม้เป็นเถ้าธุรี

ซึ่งในรามายณะไม่มีตำนานแน่ชัดว่าราวาณะหรือทศกัณฐ์มีกำเนิดมาได้อย่าง จึงมีการสันนิษฐานกันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงนำเอาตำนานนางโมหินีปราบภัสมาสูรมาดัดแปลงเป็นนางนารายณ์ปราบนนทก

 

กล่าวถึงอดีตนนทกคืออนันตพรหมผู้หลงเย่อหยิ่งในอาวุโสของตน ไม่ยอมรับธาดาพรหมที่เกิดที่หลังแต่ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลพรหมโลก จนขาดต่อหน้าที่จึงถูกพระอิศวรสาปให้สิ้นจากสภาพพรหมลงมาเป็นอสูรต่ำต้อยทำหน้าที่ล้างเท้าผู้ที่จะขึ้นไปยังตีนเขาไกรลาส ชื่อว่า นนทก ผลกรรมที่คิดชั่วมากด้วยจิตริษยา ทำให้นนทกถูกทุบตีดึงทึ้งถอนผมจนหมดหัว แต่นนทกก็ยังไม่สำนึกในบาปของตนยังผูกจิตอาฆาตรแค้น เดินทางขึ้นไปขอพรจากพระอิศวรให้นิ้วของตนเป็นเพชร ชี้ผู้ใดผู้นั้นจะถึงแก่มรณะ โดยอ้างว่าจะได้มีอาวุธไว้ติดตัว เมื่อได้นิ้วเพชรมาแล้วนนทกก็ไล่สังหารเทวดานางฟ้าไปทั่วทั้งสวรรค์

พระนารายณ์ทราบเรื่องก็เสด็จมาจะเชิงเขาไกรลาสแปลงองค์เป็นนางอัปสรารอดักนนทก เมื่อนนทกมาเห็นก็เกิดความเสน่หาอยากได้เป็นเมียจึงเข้าไปเกี้ยว นางนารายณ์ออกอุบายว่าตนเป็นพนักงานฟ้อนรำของพระอิศวร ถ้าอยากเป็นคู่ครองก็ต้องมาเต้นรำกับตน นนทกก็หลงเต้นรำตามจนเผลอใช้นิ้วเพชรชี้ที่ขาตนเอง อำนาจนิ้วเพชรก็ได้เสื่อมไป

ก่อนจะตายยังได้กล่าวบริพาษต่อว่าพระนารายณ์จนโดนสาปให้ไปเกิดเป็นพญายักษ์ในตระกูลอสุรพรหมครองกรุงลงกาชื่อว่าทศกัณฐ์ แล้วพระองค์จะอวตารไปเกิดเป็นพระราม มนุษย์ธรรมดาใช้ศรตามไปสังหาร

ซึ่งในตอนปราบนนทกนี้ใช้วิธีการเล่าเรื่องราวที่มาของตัวละครคล้ายกับการเล่าเรื่องในพุทธชาดกอยู่มาก โดยเฉพาะการถูกเทวดานางฟ้ารังแก ถ้าเทียบกับเรื่องราวในนรกภูมิของศาสนาพุทธแล้ว เหล่าเทวดานางฟ้าเหล่านั้นก็ไม่ต่างอะไรจากนายนิรยบาล มีหน้าที่คอยสนองกรรมชั่วของวิญญาณบาป ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นมาจากแรงกรรมที่เคยทำไว้ จึงทำให้นายนิรยบาลลงโทษวิญญาณบาปได้อย่างไร้เมตตาปราณี

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงตัวละคร ลักษณะตัวละคร การเรียกชื่อที่ผิดเพี้ยนไปจากรามายณะฉบับภาษาสันสกฤต เช่น

ศึกตรีบุรัม จากตริปุรานตกะมูรติ त्रिपुरान्तकमूर्ति ตำนานพระศิวะสังหารอสูรสามเมือง เมืองทั้งสามเป็นปราการอันมั่นคงของเหล่าอสูร สร้างโดยมายาสุร สถาปนิกของอสูร สร้างให้กับบุตรทั้งสามของอสูรตารกะ ได้แก่ ตารกาษะ วิทยุนมาลิ และกมลากษะ โดยเมืองทั้งสามได้รับพรจากพระพรหมว่าให้แข็งแกร่งไม่มีผู้ใดทำลายลงได้ ยกเว้นแต่ศรดอกเดียวที่สามรถทำลายเมืองทั้งสามได้โดยพร้อมกัน

ท้ายที่สุดก็ถูกทำลายลงด้วยศรเพียงดอกเดียวจากรุทรธนูของพระศิวะที่สร้างจากพลังแห่งจักรวาลของเหล่าทวยเทพ โดยถูกดัดแปลงให้เป็นอสูรตนเดียวชื่อตรีบุรัม

เพื่อเกริ่นนำถึงตำนานรัตนธนู คันศรของพระศิวะในตอนนางสีดาเลือกคู่ - พระรามยกศร

ตอนเมขลา รามสูร ไม่ว่าจะเป็นตอนรบอรชุนที่เข้าไปช่วยนางเมขลา เพื่อชิงดวงแก้วมณีจากนางมณีเมขลา หรือรบกับพระรามอย่างยักษ์สันดานพาล ก็ผิดเพี้ยนมาจากเรื่องราวของปรศุราม

ในหนังสือบ่อเกิดรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวินิจฉัยว่าแท้จริงแล้วรามสูรที่นั้นคือปรศุราม ด้วยปรศุรามมีฉายาว่า นยักษ ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ต่ำต้อย เพราะการปฏิบัติตนไม่เสมอด้วยภูมิธรรมอันควรแก่พราหมณ์ ด้วยมีนิสัยโมโหร้าย ตามชาติกำเนิดจากอวตารของพระวิษณุในปางดุร้าย และคำว่า นยักษ นี้เองที่อาจฟังไม่ถนัดทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นยักษ์ ชื่อรามสูร

ตอนทศกัณฐ์รบแย้งบุษบกท้าวกุเปรัน ก็เป็นเรื่องราวของท้าวกุตนุ หรือท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวัณ พี่ชายคนโตของทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นยักษ์พิการ ใช้กระบองค้ำพื้นต่างขาที่สาม เป็นยักษ์ในวงศ์พรหมพงศ์ที่มีคุณธรรมสูงผิดกับน้องชาย และด้วยมีรูปร่างพิการจึงโดนน้องชายกลั่นแกล้งแย่งชิงทรัพย์สินสมบัติของมีค่าต่าง ๆ อยู่เป็นนิจ วันหนึ่งทศกัณฐ์ได้คิดไปชิงบุษบกวิเศษที่เหาะไปในอากาศได้จากกุเปรัน เป็นเหตุทศกัณฐ์โดนพระอิศวรขว้างงาช้างมาปักอก แล้วสาปว่าจะหลุดออกจากตัวก็ต่อเมื่อตาย ทศกัณฐ์จึงทำได้แค่เพียงเลื่อยงาช้างออกแล้วทำเกาะมาปกปิดไว้

และยังมีอีกหลายตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์ปรับแต่งดัดแปลงโดยใช้เทวตำนานฮินดูและวิธีการเล่าเรื่องอย่างพุทธชาดกสอดแทรกเข้าด้วยกัน ซึ่งนำมาทำเป็นบทการแสดงแล้วก็ได้อรรถรสและตื่นตาตื่นใจมากกว่าเนื้อเรื่องของการเข่นฆ่ากันในการสงคราม แม้ผู้อ่านก็สามารถจินตภาพตามได้ ทำให้การอ่านนั้นสนุกมากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า ผ่านเวลามาถึง ๒๒๖ ปี แต่บทละครใน เรื่องรามเกียรติ์ฉบับนี้ยังได้รับความนิยมในหมู่ชนอย่างกว้างขวาง

เนื้อหาโดย: กัลยลิขิต
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
กัลยลิขิต's profile


โพสท์โดย: กัลยลิขิต
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
5 VOTES (5/5 จาก 1 คน)
VOTED: Thorsten
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 มาแน่! คนทั่วไปรับผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568เพชรปากปลาร้าหน้าเป๊ะ ลองทาลิปสติกบนปาก ทำเอาทัวร์ลงสนั่น ร้านค้ารับเรื่อง สั่งให้โละยกแผงเลย!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
น้องเต้าหู้แจกไข่ให้ชาวบ้าน แต่กลับเจอมนุษย์ป้ารุมเข้ามาจัดการ ทำเอาน้องอึ้งจนพูดไม่ออก เห็นแล้วรู้สึกอายแทนจริงๆน้ำใจยิ่งใหญ่! หนุ่มไร้เงินขอติดรถกลับบ้าน เจอผู้ให้เต็มคันสุดอบอุ่น
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
วิธีล้างผักให้สะอาดปราศจากสารพิษตกค้างจริงไหมที่คำว่า ‘Salary’ มาจาก ‘Salt’ เพราะทหารโรมันรับค่าจ้างเป็นเกลือ?อยากโกอินเตอร์? เจาะลึกวิธีหางานต่างประเทศ 2567 แบบถูกกฎหมาย ได้สิทธิเต็มที่ ไม่มีโดนหลอก!ชาวต่างด้าวข้ามฝั่งมาคลอดฟรี คนไทยเสียงแตก งานนี้ใครได้ ใครเสีย
ตั้งกระทู้ใหม่