“ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืน 14 - รุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 อัตราการตกสูงสุดมากถึง 120-150 ดวง/ชั่วโมง
ใครที่พลาดชม ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ในปีนี้ไม่ต้องเสียใจ
มารอชมน้อง “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืน 14 - รุ่งเช้า 15 ธันวาคม 2566 อัตราการตกสูงสุดมากถึง 120-150 ดวง/ชั่วโมง ในช่วงฤดูหนาวที่ฟ้าใสไม่ต้องลุ้นฝน ในปีนี้ไร้แสงจันทร์รบกวนด้วยนะ
“ฝนดาวตกเจมินิดส์” เกิดจากการที่โลกโคจรเข้าตัดกับสายธารเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ที่ทิ้งไว้ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (Fireball) มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี และมักมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงวันที่ 13-14 ธันวาคม เฉลี่ยประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง
ภาพถ่าย “ฝนดาวตกเจมินิดส์” โดย คุณนราธิป รักษา - ผู้ได้รับรางวัลรางวัลชมเชย การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2564 ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
ในภาพมีฝนดาวตกเจมินิดส์ และสามารถสังเกตแนวทางช้างเผือกพาดผ่าน ซึ่งไม่ใช่บริเวณใจกลางทางทางช้างเผือก ปกติแล้วจะสังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก แต่เนื่องจากผู้ถ่ายใช้เวลาในการเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานาน จึงเผยให้เห็นแนวทางช้างเผือกได้ นอกจากนี้ยังเห็นวัตถุที่มีแสงสว่างริบหรี่อย่างกลุ่มวัตถุในห้วงอวกาศลึกปรากฏออกมาให้เห็น เป็นกลุ่มฝุ่นแก๊สสีแดงเด่นชัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณพื้นหลัง รอบๆ กลุ่มดาวนายพราน เรียกว่า Barnard’s Loop
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
อ้างอิงจาก: NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ