ทำ Portfolio ยังไงให้สะดุดตากรรมการ!! (เรียนต่อมหาลัย) #dek67 #dek68 #dek69
ทำพอร์ตยังไงให้โดดเด่นเข้าตากรรมการ!! (เรียนต่อมหาลัย) #dek67 #dek68 #dek69
สวัสดีครับน้อง ๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาทุกคน คนที่กดเข้ามาในบทความนี้คาดว่าคงเป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนใหญ่ ส่วนนักเรียนในระดับชั้นมัธยมต้นส่วนน้อยก็คือคนที่มาหาข้อมูลล่วงหน้า สำหรับในบทความนี้พี่จะนำเทคนิค “ทำพอร์ตยังไงให้เข้าตากรรมการ” มาฝากกันนะครับ
ต้องบอกก่อนว่า รอบแรกของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็คือรอบ Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน ซึ่งจะเป็นรอบที่เราใช้เล่มพอร์ตของเรายื่น เป็นรอบที่เด็กส่วนใหญ่อยากเข้าเพราะมันไม่ต้องใช้คะแนนสอบ TGAT TPAT และ A-Level ครับ
พี่จะไม่ยืดให้ยาวมากจนเกินไป เพราะคนที่กดเข้ามาอ่านคงรู้อยู่แล้วว่ารอบพอร์ตนี้เป็นอย่างไร แต่คนที่ไม่รู้สามารถอ่านที่บทความต่าง ๆ ได้นะครับ สำหรับหัวข้อนี้เรามาเริ่มกันเลย!
1.เป็นไปตามระเบียบการ
การทำเล่มพอร์ตนะครับ แต่ละมหาวิทยาลัยที่เปิดรับก็จะมีระเบียบการของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เช่น การกำหนดหัวข้อในการทำเล่มพอร์ต การกำหนดจำนวนหน้า การเรียงลำดับ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากเลยนะครับ เพราะถึงแม้ว่าน้อง ๆ ทำออกมาดีแค่ไหนแต่ไม่ตรงกับข้อกำหนดของมหาลัยที่เรายื่น กรรมการก็ปัดตกจึงทำให้เราไม่ผ่านและไม่ถูกเลือกได้ทันทีครับ
2.โดดเด่น สื่อถึงตัวตน
ทำยังไงให้เราโดดเด่น? คนที่ยื่นพอร์ตเหมือนกัน คณะเดียวกัน มักจะต้องมีอะไรที่เหมือนและซ้ำกัน ตรงจุดนี้อาจทำให้เราไม่ถูกเลือกก็ได้ถ้าเราไม่โดดเด่น เช่น การใช้สีประจำมหาวิทยาลัย ถ้าสมมติว่ามีคนยื่นสักพันคน ใช้สีของมหาวิทยาลัยเหมือนกันไปเก้าร้อยคน คนที่โดดเด่นคือใครครับ? ใช่ครับ คนที่โดดเด่นก็คือหนึ่งร้อยคนที่ไม่ได้ใช้สีของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมด้วยนะครับ ใช้ให้ถูกและเหมาะสมจะดีที่สุด ส่วนการสื่อถึงตัวตนคือเราต้องใส่ความเป็นตัวเองลงไป ทำยังไงก็ได้ให้กรรมการรู้จักเรามากขึ้นจากพอร์ตเพียงเล่มเดียว
3.ตรงประเด็น
ถ้าน้อง ๆ อยากเรียนคณะที่เกี่ยวกับภาษาไทย แต่ผลงานที่น้อง ๆ ใส่ไปมีแต่ด้านกีฬา ทั้งยังไม่ได้เข้าโครงการผู้มีความสามารถพิเศษอีก (ยื่นรอบพอร์ตเพียวๆ) การที่น้อง ๆ ใส่ผลงานไปไม่ตรงกับคณะที่เราเลือกนั้น จะทำให้น้อง ๆ ไม่ถูกเลือกครับ เพราะกรรมการของคณะที่เกี่ยวกับภาษาไทยไม่สามารถรับรู้ได้จากผลงานการแข่งกีฬาว่าน้อง ๆ สนใจด้านภาษาไทยจริงหรือเปล่า
4.เข้าใจง่าย สื่อสารสำเร็จ
การที่เราสื่อถึงตัวตนว่าดีแล้ว แต่การที่ทำให้เข้าใจง่ายนั้นดียิ่งกว่า ถ้าน้อง ๆ สร้างพอร์ตขึ้นมาแล้วเล่มหนึ่ง แต่เปิดดูจนจบแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเด็กคนนี้คือใคร เด็กคนนี้ชอบหรือสนใจอะไร นั่นก็หมายความว่าตัวตนของน้องสื่อสารผ่านพอร์ตเล่มนี้ให้กับกรรมการรับรู้ไม่ได้แล้วล่ะครับ แต่ถ้าเมื่อใดที่น้อง ๆ เอาพอร์ตเล่มนี้ให้ใครก็ตามเปิดดู แล้วเขาสามารถบอกได้ว่าน้องคือใคร น้องชอบอะไร นั่นคือน้อง ๆ สามารถสื่อสารและถ่ายทอดตัวตนผ่านพอร์ตได้สำเร็จครับ
5.เหมาะสม เป็นมาตรฐาน
การทำพอร์ตให้ดีได้ ต้องมีความเหมาะสมทุกอย่างครับ ทั้งเรื่องภาพเราในหน้าปกหรือแต่ละหน้าที่มีภาพ ถ้าให้ดีที่สุดคือชุดนักเรียน ฟ้อนต์ที่ใช้ก็ควรจะเหมาะสมมากที่สุด ไม่ใช่ว่าสวยแต่อ่านไม่ออก ต้องดูความเหมาะสมเป็นหลักครับ ส่วนองค์ประกอบของพอร์ตหนึ่งเล่มก็ควรจะมีครบทุกอย่างตั้งแต่ หน้าปก, ประวัติส่วนตัว, ประวัติการศึกษา, กิจกรรมที่ผ่านมา, รางวัลหรือเกียรติบัตรต่าง ๆ ทั้งนี้ต้องอ่านระเบียบการของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ให้เข้าใจอีกทีนะครับ
*เสริม : หัวข้อ “ทำไมถึงอยากเรียนคณะ…(ชื่อคณะ)” หรือ “ทำไมถึงอยากเรียนคณะนี้” ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเล่มพอร์ตเราได้เช่นกัน ซึ่งพี่แนะนำให้เขียนไปด้วยครับ เพราะนี่จะแสดงให้เห็นว่าเรามีความตั้งใจ มีความอยากที่จะเข้าคณะนี้มากขนาดไหน
หรือถ้าไม่ใช่หัวข้อแบบนี้ก็อาจจะเป็น “ทัศนคติต่อมหาวิทยาลัยนี้” ซึ่งอาจมีเพิ่มเข้ามาโดยเป็นข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยครับ แต่หัวข้อ “ทำไมถึงอยากเรียนคณะ…” พี่แนะนำมาก ๆ ว่าให้เขียน หนึ่งหน้ากระดาษ A4 เขียนไปเลยครับในหน้าก่อนที่จะเข้าสู่กิจกรรมที่เราเคยเข้าร่วม หรือหน้าที่มหาวิทยาลัยกำหนด แต่อย่าเขียนเยอะมากจนเกินหนึ่งหน้านะ
เป็นยังไงกันบ้างครับสำหรับสิ่งที่พี่เอามาแชร์ในบทความนี้ อาจจะยาวนิดนึงแต่มันเป็นสิ่งที่ใช้ได้จริงครับ ทั้งนี้การหาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวน้อง ๆ เองครับ อ่านเยอะ ๆ แล้วเราจะได้ข้อมูลที่นำไปใช้จริงได้มากขึ้น สุดท้ายนี้พี่เป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนครับ ติดมหาวิทยาลัยในฝันไปด้วยกัน สวัสดีครับ