เตือน! สายปิ้ง ย่าง ระวังโรคที่ตามมา!
ชอบกิน ปิ้ง ย่าง อันตราย
กรมอนามัย เตือนคนชอบกินปิ้ง ย่าง หมูกระทะ ระวังอันตรายควันที่เกิดไขมันรดถ่าน เกิดการไหม้ไม่สมบูรณ์ก่อสารพิษเสี่ยงระยะยาวเป็นมะเร็ง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประชาชนที่นิยมกินอาหารปิ้งย่าง หรือรมควัน หรือหมูกระทะเป็นประจำ อาจเสี่ยงได้รับสารอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ สารไนโตรซามีน มักพบในปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่างและในเนื้อสัตว์ที่ใส่สารไนเตรท ประเภทแหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่มีสีแดงผิดปกติ ทำให้เสี่ยงสารก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร สารพัยโรลัยเซต พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่าง สารกลุ่มนี้บางชนิดมีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรมมากกว่าสารอะฟลาทอกซินตั้งแต่ 6-100 เท่า และสารพีเอเอช หรือ สารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดในควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม โดยสารนี้จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารที่ปรุงด้วยการปิ้ง ย่าง หรือรมควันของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ด้วย เช่น หมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน ไก่ย่างส่วนติดมัน เนื่องจากขณะปิ้งย่าง ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพีเอเอช ลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร โดยสารนี้จะมีมากในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่าง หากกินเข้าไปเป็นประจำจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับและท่อน้ำดี
จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี 2557 พบว่ามะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในประเทศไทยอันดับหนึ่งคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี โดยมีผู้ป่วยและเสียชีวิต 15,305 คน ทั้งนี้หากจะทำปิ้งย่างเองที่บ้านควรเลือกเนื้อสัตว์เฉพาะส่วนหรือที่มีไขมันติดน้อยที่สุด เพื่อลดไขมันที่จะไปหยดลงบนถ่าน ควรใช้ใบตองห่ออาหารก่อนจะทำการปิ้งย่าง เพื่อเป็นการลดปริมาณไขมันจากอาหาร ที่หยดลงไปบนถ่าน ซึ่งจะทำให้อาหารมีกลิ่นหอมใบตอง และหลังปิ้งย่างควรหั่นส่วนที่ไหม้เกรียมออกให้มากที่สุด แต่หากเป็นร้านอาหาร ควรใช้เตาไฟฟ้า หรือเตาไร้ควัน เลือกร้านที่ได้รับป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) จากกรมอนามัย
รู้อย่างนี้แล้ว ต้องระวังและหลีกเลี่ยง หรือทานให้น้อยลง เพื่อสุขภาพของเรากันนะคะ