บทความวิชาการ ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ เรื่อง การจัดสวัสดิการสังคมตามหลักพระพุทธศาสนา
การจัดสวัสดิการสังคมตามหลักพระพุทธศาสนา
The welfare society based on the principles of Buddhism
ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ*
พระครูปลัดเถรานุวัตร สุเทวเมธี, ดร.**
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอการจัดสวัสดิการสังคม ด้วยการพัฒนาบ้านเมือง พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาระบบบริหารราชการแบบใหม่ พัฒนาระดับจิตใจของผู้นำและประชาชน โดยมีต้นแบบยุทธศาสตร์การปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองแบบยั่งยืนตามหลักพระพุทธศาสนา
สวัสดิการสังคมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งตาย ที่เรียกว่าวัฏจักรชีวิต เพราะทุกคนต้องได้รับการบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยองค์กรภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบให้ประชาชนที่เดือดร้อนให้ได้รับบริการสวัสดิการสังคมจากรัฐ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันและมีสิทธิพื้นฐานทางสังคม เพราะสิทธิทางสวัสดิการเป็นนโยบายและกฎหมายแห่งรัฐ ดังนั้น สวัสดิการบนพื้นฐานของสิทธิ จึงต้องอาศัยขบวนการของประชาชน ที่มีความรู้ ความเข้าใจ สวัสดิการที่ได้จากสิทธิพื้นฐานทางสังคม จึงมีความสัมพันธ์กับการเมือง การเรียกร้องต่อรอง การมีนโยบายสาธารณะแห่งรัฐด้านสวัสดิการ เพื่อให้เกิดความพอดีสอดคล้องกับความต้องการ และสร้างภาวการณ์ที่พึ่งตนเองได้ของชุมชน
กูฏทันตสูตร เป็นยุทธวิธีที่นำเอาหลักรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มาสู่การพัฒนาอย่างแยบยล ด้วยการยึดเอาหลักรัฐประศาสโนบายหรือยุทธศาสตร์การปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขของพระเจ้ามหาวิชิตราชตามหลักการบริหาร คือ การพัฒนาบ้านเมืองด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับจิตใจ โดยยึดหลักยุทธศาสตร์ คือ พระราชทานพันธุ์พืชและอาหาร พระราชทานต้นทุน พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ราชการ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนมีความชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน รัฐบาลก็จะได้รับผลย้อนกลับคืนมาในรูปแบบที่ประชาชนจะมีความขยัน ไม่เป็นโจร ปล้นชิงทรัพย์ ลักขโมย เก็บภาษีอากรได้มากขึ้น สังคมจะสงบสุข ประชาชนจะมีความสามัคคี และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในที่สุด
คำสำคัญ: สวัสดิการสังคม พระพุทธศาสนา
Abstract
This article is intended to offer welfare society with the development of the political and economic development, system development, a new level of development, government leaders and the public psyche. By having a master strategy for sustainable economic, political reforms based on the principles of Buddhism.
Social welfare is a matter that involves everyone in the society from birth until death, called the cycle lives because everyone must receive the basic services necessary to sustain life. By a government organization is responsible for providing the public petitions, receive social welfare services from the State to achieve equality and basic rights because they are a social welfare policy, and legal rights of the State, therefore, on the basis of welfare rights work. The Government relies on process public understanding Benefit from basic social rights, therefore, have a relationship with the city. Claims negotiations the public policy of the State for welfare and fit. Conforming to the requirements and create political uncertainty that is self-reliant community.
Kut dental formula is a tactical master in political science, economics, bringing science and technology to development and subtly with the confiscated State primary or exclusive jurisdiction Nova Dash strategist subdivisions, home to the city's Cathedral was a God-confidence South as the main administration is developing city with economic development and economic development in tandem with mental-based strategy is King's Royal food plants and cost the Royal food and salaries result government sanction is a home town. There are no thorns, no Burr, Toms. People rejoice, and connectivity. Have fun with the family, are not required to close the door of the House, the Government would get in return, disclosing in a format that the public must be willing? Not as a stealth robber theft keep more social, taxation will be peaceful citizens will have the unity and security of life and property in the end
Keywords: welfare society based buddhism
1.บทนำ
การจัดสวัสดิการสังคม เป็นการใช้กฎเกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดี หรือการอยู่ดี กินดี การใช้กฎเกณฑ์ความหมายเฉพาะเจาะจงในรูปของโครงการ กิจกรรม หรือการบริการ และการใช้กฎเกณฑ์สวัสดิการสังคมเป็นสิทธิ ความเท่าเทียมของคนทุกคนในสังคม เพราะชุมชนท้องถิ่นเป็นกลไกที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเชื่อมโยงกันเป็นสังคมสวัสดิการ เป็นพลังหลักในการพัฒนาฐานรากของประเทศให้มั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองสามารถบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับกระบวนทัศน์ การพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยเตรียมระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของทุนที่มีอยู่ในประเทศ ประกอบด้วย ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพ ของระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดถึงยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เพื่อสร้างความปรองดองในสังคม การสร้างโอกาสให้ทุกคนในสังคมไทยสามารถเข้าถึงทรัพยากร แหล่งทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การเข้าถึงบริการทางสังคมของรัฐอย่างมีคุณภาพทั่วถึงและเป็นธรรม อาทิ การสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคนได้เต็มตามศักยภาพ สามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้โดยมีความใฝ่รู้และทักษะ ที่เหมาะสม เน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมมาชีพในพื้นที่ การจัดรูปแบบบริการสุขภาพและสวัสดิการทางสังคมขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและเหมาะสมตามกลุ่มเป้าหมาย (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, http://www.consmag.com/th/articles) ปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ทำให้กลุ่มประเทศสังคมนิยมส่วนหนึ่งล่มสลายไป สังคมโลกได้ก้าวเข้าสู่ระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย งานสวัสดิการสังคมที่ปรากฏในลักษณะของรัฐสวัสดิการ (Welfare State) ส่วนหนึ่งได้ประสบปัญหาร่วมกันที่สำคัญคือ รัฐไม่สามารถแบกรับภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างคาดการณ์ไม่ได้กับบริการสวัสดิการสังคม ต่าง ๆ ได้ โปรแกรมการจัดบริการในลักษณะการสงเคราะห์ประชาชน (Public Assistance) ไม่สามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการที่แท้จริง ให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมได้ โดยเฉพาะการพัฒนาให้กลุ่มเป้าหมายสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว การทำงานเป็นภารกิจที่จะต้องทำร่วมกันในการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้ที่ยากลำบากที่สุดในชุมชน โดยรัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนค้นหาคุณค่าและศักยภาพของชุมชน เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าถึงแหล่งทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การจัดองค์กรการเรียนรู้ด้วยความร่วมมือ ความสมานฉันท์ ความโปร่งใสของชุมชนเอง
กูฏทันตสูตร เป็นพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความคิด วิธีการจัดการกับปัญหา และที่สำคัญคือ รูปแบบการปกครองพิเศษในสมัยพุทธกาล ที่เรียกว่า พรหมไทย หมายความว่า พระราชาทรงมอบรางวัลพิเศษให้ หรือของอันพรหมประทาน ของให้ที่ประเสริฐสุด หมายถึง ที่ดิน หรือบ้านที่พระราชทานบำเหน็จให้ ได้แก่ หมู่บ้านขาณุมัต เป็นการแยกปกครองอิสระต่างหากจากแคว้นมคธ โดยพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานปูนบำเหน็จให้ เรียกได้ว่า เป็นการกระจายอำนาจ (Decentralize) ซึ่งรัฐบาลกลางได้มอบให้ไปจัดการหรือดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ภายในท้องถิ่นด้วยตนเอง (พระครูโสภณปริยัติสุธี, 2552: 89-90)
- ความสำคัญของสวัสดิการสังคม
สวัสดิการสังคมเป็นสถาบันสังคมที่ครอบคลุมชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคนในสังคม โดยเฉพาะในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย สวัสดิการสังคมมีความหมายสะท้อนให้เห็นถึงการกระจายรายได้ กระจายโอกาส กระจายความเจริญ และกระจายบริการสังคมไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันรัฐบาลมิได้ให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างทั่วถึง งบประมาณสำหรับการดูแลและสวัสดิภาพของประชาชนมีจำนวนน้อยมาก ผู้ด้อยโอกาสที่เข้าถึงบริการของรัฐมีเพียงส่วนน้อย ที่เหลือนอกนั้นต้องเผชิญกับชะตากรรมด้วยตนเอง ดังนั้น ในอนาคตรัฐบาลจะต้องเริ่มต้นวางรากฐานของสวัสดิการสังคมไปในทิศทางใหม่ กล่าวคือ พิจารณางานสวัสดิการสังคมในความหมายกว้าง ที่ครอบคลุมประชาชนอย่างทั่วถึง โดยไม่จำกัดเพียงแค่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น แต่ควรพิจารณาสวัสดิการในฐานะ “สถาบันทางสังคม” ที่จำเป็นอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาสมัยใหม่ สวัสดิการสังคมในฐานะสถาบันหลักของสังคมจะทำหน้าที่เป็นกลไกการพัฒนาสังคม เป็นสวัสดิการสังคมเชิงรุก ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม สวัสดิการทางสังคม มีกระบวนการผลักดันนโยบายสังคมที่จะอำนวยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (วันทนีย์ วาสิกะสิน, สุรางค์รัตน์ วศินารมณ์, ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์, 2543: 26)
ครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่สำคัญต่อการสร้างระบบความมั่นคงของมนุษย์และสังคม ระบบการดูแลสมาชิกในครอบครัว จึงขึ้นอยู่กับระดับเศรษฐกิจฐานะของครอบครัวนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ส่วนองค์กรภาครัฐ จะเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบให้ประชาชนที่เดือดร้อนให้ได้รับบริการสังคมขั้นพื้นฐาน หรือบริการสวัสดิการสังคมจากรัฐ ฉะนั้น สิทธิของประชาชนในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐ (Civil Right) ก็ควรจะได้รับบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากรัฐ รัฐในฐานะผู้ปกครองที่มีอำนาจ ซึ่งมีหน้าที่โดยชอบธรรมที่จะจัดสรรทรัพยากรให้กับประชาชน ในอดีตรัฐกับประชาชนได้สร้างพันธสัญญาร่วมกันที่เรียกว่า “สัญญาประชาคม” อำนาจของรัฐจึงเป็นอำนาจที่ชอบธรรม รัฐบาลจึงมีหน้าที่หลักโดยมีนโยบายการดูแลทุกข์และสุขของประชาชน ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพ ประชาชนจึงมีความเชื่อถือต่ออำนาจรัฐว่า เป็นผู้ที่เหมาะสมต่อการจัดบริการสวัสดิการสังคมได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากนโยบายของรัฐในรูปของกฎหมายและพระราชบัญญัติสวัสดิการสังคม งานสวัสดิการสังคมจึงขึ้นอยู่กับระบบการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และระบบสังคมวัฒนธรรม (ระพีพรรณ คำหอม, 2554: 1-2)
องค์กรออมทรัพย์เกิดจากการรวมตัวเป็นทุนทางสังคม ในระยะแรกมีลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ การรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยจัดกิจกรรมเงินออมและการกู้ยืมเงิน เพื่อสนับสนุนการผลิตในหมู่สมาชิก โดยอาศัยผู้นำและคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก การทำกิจกรรมของกลุ่มไม่ประสบปัญหาหนี้เสีย เนื่องจากมีกระบวนการควบคุมทางสังคม หรือ “กฎเกณฑ์ของชาวบ้าน” ที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ทุนทางสังคมและกิจกรรมของกลุ่มมีวิวัฒนาการและการปรับตัวก่อให้เกิดการขยายเครือข่ายระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด (วิทยา คามุณี, 2551)
ระบบเศรษฐกิจชุมชน จัดเป็นหน่วยผลิต มีเป้าหมายการผลิตคือการประกันการบริโภคของครอบครัวและใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก นับจากอดีตถึงปัจจุบัน จากการศึกษา พบว่า ชุมชนชาวนา มีศักยภาพในด้านความเหนียวแน่น ความผูกพัน และความช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมความเชื่อที่สั่งสมและสืบทอดต่อกันมา ส่งผลให้ชุมชนมีศักยภาพที่เอื้อต่อการจัดสวัสดิการเชิงวัฒนธรรมอันประกอบด้วยศักยภาพด้านเศรษฐกิจ ในด้านการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และเป็นเจ้าของทรัพยากรรอบ ๆ ชุมชนร่วมกัน เป็นพื้นฐานของการจัดสวัสดิการเชิงวัฒนธรรมฐานเศรษฐกิจ อันได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มกองทุนหมุนเวียนเพื่อการผลิต กลุ่มเครือข่ายอาชีพเสริม ในด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐ โดยเฉพาะรัฐท้องถิ่น จัดสวัสดิการให้แก่ชุมชนภายใต้แนวคิดเรื่องการจัดการปัญหาความยากไร้ มุ่งตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน ดังปรากฏในรูปแบบการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้ด้อยโอกาส แต่มิได้เกิดความร่วมมือในการจัดสวัสดิการจากกระบวนการถัดทออุดมการณ์ของชาวบ้านอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงยังมีปรากฏรูปธรรมของความร่วมมือหรือนำศักยภาพของชุมชน ในด้านวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้กับระบบสวัสดิการให้มีประสิทธิภาพอย่างสมบูรณ์แต่อย่างใด (อรัญญา พงศ์สะอาด, 2553)
ในบริบททางด้านสังคมของชุมชนที่เข้มแข็งนั้น เป็นสังคมแบบเครือญาติ มีโครงสร้างทางสังคมเป็นทั้งแนวราบและแนวตั้ง ทางด้านการเมือง มีการกระจายอำนาจแบ่งการปกครองชุมชนเป็นหมวดหรือคุ้มชุมชนต่าง ๆ ทางด้านวัฒนธรรมชุมชน มีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และทางด้านเศรษฐกิจ มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น ทุนในการผลิต มีการรวมกลุ่มเพื่อการผลิต การจำหน่ายผลผลิตเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชน การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านผู้นำชุมชน การเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อความเข้มแข็งของชุมชน มีปัจจัยสำคัญ คือ กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ระบบเครือข่าย ระบบความสัมพันธ์ในชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น และกลยุทธ์การมีส่วนร่วมของชุมชน กลยุทธ์การสร้างกระบวนการเรียนรู้ กลยุทธ์การสร้างเครือข่าย และกลยุทธ์สร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด (สมบูรณ์ ธรรมลังกา, 2555)
ภัทรธิรา ผลงาม (2548: 34) ชุมชนเข้มแข็งเป็นมโนทัศน์ที่ค่อนข้างใหม่ในแวดวงวิชาการของสังคมไทย หากย้อนกลับไปดูเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม หรือการพัฒนาประเทศ หรือการพัฒนาชุมชน เมื่อประมาณก่อนทศวรรษ ปัจจุบันจะไม่พบศัพท์ “ชุมชนเข้มแข็ง” โดยตรง แม้ว่า ในการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับชุมชนหรือผลการวิจัยเกี่ยวกับชุมชน มักจะมีนัยเกี่ยวกับความเข้มแข็งของชุมชนปรากฏอยู่บ้าง เช่น ความเป็นปึกแผ่นของชุมชน ความร่วมมือร่วมใจ ความสุข ความเอื้ออาทร ความเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน เป็นต้น มีความเป็นไปได้ที่ว่า การสร้างคำว่า “ชุมชนแข็งแข็ง” จะนำไปสู่การสร้างแบบอุดมคติแบบใหม่ของชุมชนขึ้นมา คือ ชุมชนถูกแบ่งขั้วออกเป็นชุมชนเข้มแข็ง และชุมชนที่อ่อนแอ ซึ่งอาจเป็นการสร้างเอกลักษณ์ของชุมชนให้แตกต่างกัน อีกทั้ง พหุภาคีและผู้คนในท้องถิ่น มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสมช่วยเหลือการผลิต การตลาด ทุนการจัดการร่วมกันในเรื่องเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การค้าขาย การบริการ การท่องเที่ยว การพัฒนาส่งเสริมวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพื่อมุ่งให้เกิดรายได้ ส่งผลต่อบุคคล ครอบครัวและชุมชน
เศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจพื้นฐาน คือ เศรษฐกิจที่คำนึงถึงการทะนุบำรุงพื้นฐานของตัวเองให้เข้มแข็ง ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจพื้นฐานของสังคมคือชุมชน (ประเวศ วะสี, 2541: 43-44) การศึกษาเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน ในการจัดการกับปัญหาและการพัฒนา พบว่า ภายใต้กระบวนการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น มีองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการพัฒนาโดยเน้นชุมชนเป็นตัวตั้ง (บัณฑร อ่อนดำ และวิริยา น้อยวงศ์, 2543: 34) ได้แก่
1) ภูมิปัญญาและความรู้ที่สืบสานและประยุกต์ให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก
2) องค์กรชุมชนและกลุ่มผู้นำที่มีคุณธรรมและภูมิปัญญา รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มและจัดระเบียบในชุมชน
3) เวทีการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและการบุกรุกจากภายนอก
เศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์ มีลักษณะที่สำคัญพอสรุปได้ ดังนี้
1) เป็นศาสตร์สายกลางหรือเศรษฐศาสตร์มัชฌิมาปฏิปทา เศรษฐศาสตร์แนวพุทธมุ่งที่ความพอดีหรือความสมดุล สมดุลในแง่หนึ่งก็คือการบริโภค เพื่อสนองหรือบำบัดความต้องการ จะทำให้เกิดความพอดี ส่วนเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน เป็นการบริโภคที่ตอบสนองความต้องการไม่รู้จบ เพราะมีความต้องการไม่จำกัด แต่ทางพระพุทธศาสนา จะมีหลักของความพอ คือ มีปัญญาและฉันทะเข้ามาเกี่ยวข้องในพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดความพึงพอใจ โดยมีความคิดเห็นพอดีเกิดขึ้น เพราะความต้องการมาบรรจบกับจุดหมายที่สิ้นสุดของมัน เป็นความพอใจที่มีความพอดี และความพอใจที่ทำให้เกิดความพอดี ก็คือการที่ได้สนองความต้องการคุณภาพชีวิตและความพอใจที่ได้คุณภาพชีวิต หรือจุดของความพอดีอีกอย่างหนึ่ง คือ หลักการไม่เบียดเบียนตนและไม่เบียดเบียนผู้อื่น
2) เศรษฐศาสตร์แนวพุทธศาสตร์ มีลักษณะที่สำคัญที่ถือว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่าง เป็นกิจกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเป็นกิจกรรมในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ไปด้วยในตัว ไม่ว่าการบริโภค การตลาด การแลกเปลี่ยน การค้าขายด้วยเงินตรา โดยภาพรวมกิจการในการดำเนินชีวิตทุกอย่างในภาพรวมของมนุษย์ในด้านวัตถุ ที่จะส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี และเป็นรากฐานแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือพัฒนาศักยภาพของตนเอง
จะเห็นได้ว่า เศรษฐศาสตร์แนวพุทธมีส่วนส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพื่อจุดมุ่งหมายในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีโอกาสและความพร้อมมากยิ่งขึ้น ในการที่จะเข้าถึงสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ประเสริฐที่ชีวิตจะพึงได้รับยิ่ง ๆ ขึ้นไป การนำเสนอภาคสังคมชุมชนในอุดมคติ คือ “แนวคิดประชาสังคม” ที่มุ่งการพัฒนาสู่ภาคสังคมโดยรวมหรือภาคสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีความคล้ายคลึงกันของแนวคิดทั้งสาม คือ ศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง อุดมการณ์ร่วม และความร่วมมือ ดังนั้น ความเข้มแข็งของชุมชน ต้องพัฒนาแบบองค์รวม (Holistic) โดยพัฒนาคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การพัฒนาองค์กร ต้องกระทำโดยคนในชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้สึก มีปัญหา มีความต้องการในการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งมีความรัก ความเอื้ออาทรจริงใจต่อกันภายใต้ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น และความต้องการที่แท้จริงของชุมชนจึงจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
การจัดบริการสวัสดิการสังคมในอนาคต มีการวิพากษ์ให้มีการทบทวนบทบาทของรัฐ ประเภทและลักษณะบริการสวัสดิการสังคมที่เป็นอยู่อาจไม่เหมาะสม และสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง สังคมไทยประสบปัญหาในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเป็นผลจากภาวะวิกฤตด้านเศรษฐกิจในกลางปี 2540 เป็นต้นมา รัฐไม่สามารถที่จะจัดบริการในลักษณะของรัฐสวัสดิการ (Welfare State) อีกต่อไป การจัดสวัสดิการสังคมในปัจจุบันและอนาคต ได้พยายามปรับตัวใหม่ในลักษณะของสวัสดิงาน (Workfare) แทน ขณะเดียวกัน รัฐก็จำเป็นต้องใช้นโยบายการจัดวางระบบเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ที่ครอบคลุมคนทุกคนในสังคม เพื่อเป็นมาตรการรองรับปัญหาการว่างงานสูงในอนาคตเช่นกัน การจัดบริการสวัสดิการสังคมเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม แบบสงเคราะห์เฉพาะหน้าเริ่มถูกจำกัดวงให้เล็กลง รัฐได้พยายามผลักดันระบบสวัสดิการสังคม ในรูปของโครงการหลักประกันแทนควบคู่กับการกระจายอำนาจลงมาภาคท้องถิ่นและภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสวัสดิการสังคมมากขึ้น การจัดระบบสวัสดิการสังคม จึงไม่ใช่บทบาทของรัฐเช่นที่ผ่านมา ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้มีการเคลื่อนไหว รวมกลุ่มและเรียกร้องผลักดันให้เกิดระบบสวัสดิการสังคมที่มีรูปแบบหลากหลาย โดยเริ่มจากความพร้อมของกลุ่มเล็ก ๆ ที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของการสร้างระบบความมั่นคงทางสังคมให้กับกลุ่มของตนเอง ในลักษณะของกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่อาศัยจากการระดมทุนตามศักยภาพของคนในชุมชนเป็นหลัก รูปแบบการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่น คำนึงถึงปัญหาและความต้องการของคนในชุมชนเป็นหลัก กระแสการเปลี่ยนแปลงระบบสวัสดิการสังคมไทย จึงขึ้นอยู่กับประชาคมต่าง ๆ มากกว่าการปล่อยให้รัฐทำหน้าที่ดูแลด้านสวัสดิการสังคมอีกต่อไป (ระพีพรรณ คำหอม, 2549: 1–5)
- สวัสดิการสังคมไทย
สวัสดิการสังคมไทย เป็นการจัดสวัสดิการที่ครอบคลุมถึงการสงเคราะห์สังคม การประกันสังคม และการบริการสังคม ซึ่งนอกจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคชุมชน ก็ถือเป็นอีกจักรกลหนึ่งที่มีส่วนอย่างสำคัญในการบริการสวัสดิการในสังคมไทย การกำหนดยุทธศาสตร์สวัสดิการสังคม การจัดทำนโยบายสวัสดิการสังคม รวมทั้งการมองสวัสดิการเชิงนโยบายทางสังคม ต้องมองอย่างเป็นองค์รวม ต้องพิจารณา “คนเป็นศูนย์กลาง” จึงจะสามารถป้องกันบรรเทาปัญหาและพัฒนาคน จะเห็นได้ว่า รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยล้วนมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่หรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เฉกเช่นเดียวกับองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อวัดการสัมฤทธิ์ผล (อภิญญา เวชยชัย และศิริพร ยอดกมลศาสตร์, 2547: 47-50) ได้ดังนี้
- การแก้ไขความเดือดร้อนหรือบำบัดรักษา เช่น ประชาชนในชุมชนแออัด เด็กเร่ร่อนจรจัด คนพิการ คนอนาถา คนชราไร้ที่พึ่ง สวัสดิการด้านนี้ส่วนใหญ่คือการสงเคราะห์ประชาชน
- การป้องกันปัญหา เช่น ป้องกันไม่ให้เยาวชนประพฤติตนเสื่อมเสีย โดยการฝึกอาชีพ พัฒนาความรู้ หรือป้องกันไม่ให้ประชาชนเจ็บไข้ได้ป่วย โดยการสร้างและบริการสาธารณสุขมูลฐาน
- การพัฒนาศักยภาพ ความคิด และจิตใจ โดยเน้นหนักไปที่ “ตัวคนและชุมชน” คือ การพัฒนาให้คนมีศักยภาพที่จะคิด พัฒนา มีจริยธรรม รับผิดชอบต่อส่วนรวม เคารพต่อสิทธิและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน เป็นการพัฒนาให้คนมีอารยธรรม
ทิศทางยุทธศาสตร์สวัสดิการสังคม คือ ทิศทางของการสร้างความมั่นคงแก่ชีวิต ด้วยการที่รัฐพึงจัดสรรปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน และร่วมสร้างความเข้มแข็งแก่พลังของกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคองค์กรสาธารณะ องค์กรชุมชน หรือองค์กรท้องถิ่น เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการดำรงอยู่อย่างพึ่งตนเองได้ และมีพลังอำนาจที่จะปกป้องคุ้มครองตนเองอย่างรู้เท่าทัน การวางเป้าหมายของงานสวัสดิการสังคม ที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาชน และขบวนการประชาสังคมทั้งหลาย คือ ยุทธศาสตร์ที่จะกระตุ้นและเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาและสร้างระบบคุ้มครองภัยให้แก่ตนเองอย่างรู้เท่าทัน และเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์บนฐานคิดที่ยั่งยืนระยะยาว
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่เกี่ยวข้องกับงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บัญญัติไว้ว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ ตามมาตรา 43 ว่า (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ (2) จัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ (3) เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย ตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ (4) จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชนสิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย ทิศทางการพัฒนางานสวัสดิการสังคมไทย ตามนโยบายของรัฐบาลในการเป็นสังคมสวัสดิการ และการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าภายในปี 2560 การกำหนดให้ “สังคมสวัสดิการ” เป็นวาระแห่งชาติ และแนวทางการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมสู่สวัสดิการถ้วนหน้า ปี 2560 ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2553 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ นโยบายการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (นางรุ้งเพชร สุมิตนันท์, https://www.rotc33.net/Information/load) ดังนี้
- การสร้างสังคมไทยเป็นสังคมสวัสดิการ
- กำหนดเป้าหมายประชาชนได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าภายในปี 2560
- ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการจัดสวัสดิการโดยรัฐ และการลงทุนเพื่อส่งเสริมให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในงานสวัสดิการสังคม
- การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม 4 ระบบ ได้แก่ ระบบบริการสังคม ระบบประกันสังคม ระบบการช่วยเหลือทางสังคม และระบบการส่งเสริมสนับสนุน การสร้างความเข้มแข็งให้กับหุ้นส่วนทางสังคม
ระบบสวัสดิการ 4 เสาหลัก
- การบริการสังคม (Social Service) เป็นการจัดบริการโดยรัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่ การศึกษา การสาธารณสุข สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พักอาศัย
- การช่วยเหลือทางสังคม (Social Assistance) เป็นการดำเนินงานของภาครัฐในการให้การสงเคราะห์แก่กลุ่มเด็ก และเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรี และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ที่มีปัญหาความเดือดร้อน
- การประกันสังคม (Social Insurance) เป็นการจัดสวัสดิการสังคมโดยภาครัฐ เพื่อคุ้มครองป้องกันประชาชนที่มีรายได้ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน เมื่อต้องสูญเสียรายได้ทั้งหมด หรือบางส่วน หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพ ให้ยังคงมีหลักประกันที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อน สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามสมควร
- การส่งเสริมสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม การส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ประชาสังคม NGOs ธุรกิจ อาสาสมัคร
แนวทางการออกแบบสวัสดิการถ้วนหน้า 2560 คือ ดูแลคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นสวัสดิการที่ตรงความต้องการประชาชน ถ้วนหน้าในสวัสดิการที่สำคัญสำหรับทุกคน แม้จะรั่วไหลไปสู่คนไม่จนถ้วนหน้าแต่ไม่ซ้ำซ้อน มีความเท่าเทียมกันในสิทธิประโยชน์ เงินสมทบ ดูแลคนจนและผู้ด้อยโอกาสเป็นพิเศษ เน้นโครงการที่มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว งบประมาณรัฐรองรับได้ โดยอาจต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีถ้าจำเป็น สังคมสวัสดิการร่วมด้วยช่วยกัน และอาจขยายความคุ้มครองถึงคนไร้รัฐและต่างด้าวในบางกรณี
ในปัจจุบันมีนโยบายสาธารณะด้านสวัสดิการเกิดขึ้นหลายประการในสังคมไทย เช่น นโยบายการประกันสังคม นโยบายการรักษาพยาบาลทั่วหน้า 30 บาท รักษาทุกโรค นโยบายการศึกษาฟรี แต่นโยบายเหล่านี้ ยังขาดการมีส่วนร่วมจากคนทั่วไป ทำให้คนทั่วไปไม่เข้าใจสิทธิของตนเอง และมองเรื่องสวัสดิการเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องหยิบยื่นให้ (ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, 2549: 62)
การสร้างรัฐสวัสดิการ (welfare state) รัฐสวัสดิการ หมายถึง ประเทศที่รัฐบาลมีนโยบายสังคมที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคม โดยรัฐจัดโครงการหรือบริการทางสังคมให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นการสร้างระบบความมั่นคงทางสังคม (social security) ให้กับคนในรัฐนั้น ๆ อาจกล่าวได้ว่า รัฐจะทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของคนในสังคมตั้งแต่แรกเกิดจนตาย (ระพีพรรณ คำหอม, 2554: 146) นโยบายส่งเสริมวัฒนธรรม ที่ส่งเสริมการดำเนินการสวัสดิการภาคประชาชนอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้ชุมชนเป็นเจ้าภาพในกิจกรรมด้านสวัสดิการด้วยตนเอง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนอย่างกว้างขวาง ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนผู้ด้อยโอกาสต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนแรก ๆ ของการกำหนดนโยบายและแผนงาน รัฐพึงมีนโยบายส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนปลูกสร้างจิตสำนึกที่ดีงาม จิตสำนึกที่จะดูแลประชาชนร่วมกับสังคมให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากเดือดร้อนและมีสวัสดิการที่ดี (กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุล,รศ.ดร., 2550: 10)
สังคมไทยให้ความสำคัญกับสวัสดิการมากขึ้น (ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ, 2552: 14-15) โดยมีนัยว่า รัฐมีภาระในการจัดสวัสดิการทั้งในการผลิต บริการ และการรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ เพราะยังให้ความคุ้มครองไม่ครอบคลุม และมีงบประมาณจำกัด เพราะรัฐบาลไทยยังมีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมรายได้ประชาชาติ (GDP) ไม่สูงมากนัก จึงยังมีความเป็นไปได้ที่รัฐจะใช้จ่ายเงินเพื่อสวัสดิการสังคมมากขึ้น และรัฐหันมาให้ความสนใจกับแนวทางการสร้างสวัสดิการสังคมให้เข้าถึงคนจนและแรงงานนอกระบบ โดยการทำงานร่วมกับท้องถิ่นและชุมชน การจัดสวัสดิการระดับชาติมีจุดอ่อนที่ไม่สามารถจัดสวัสดิการให้ตรงความต้องการที่แท้จริงของท้องถิ่นได้ แต่มีจุดแข็งที่มีกองทุนขนาดใหญ่กว่า จึงกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า
4.การจัดสวัสดิการสังคมตามหลักพระพุทธศาสนา
การจัดสวัสดิการสังคมตามหลักพระพุทธศาสนานั้น จะยกอุทาหรณ์ตามหลักกูฏทันตสูตร (พระภาวนาวิริยคุณ, 2547: 1-3) ซึ่งเป็นการสนทนาธรรมระหว่างพระผู้มีพระภาคเจ้ากับกูฏทันตพราหมณ์ โดยกูฏทันตพราหมณ์เข้าไปเฝ้า เพื่อทูลขอคำอธิบายจากพระผู้มีพระภาค โดยที่พระองค์ได้ทรงอธิบายยกตัวอย่างรูปแบบการบริหารบ้านเมืองของพระเจ้ามหาวิชิตราช ซึ่งประสบความสำเร็จในการปกครองบ้านเมือง จนพสกนิกรมีความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งเนื้อหาในพระสูตรมีกลุ่มเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ทั้งในระดับล่างและระดับบน เป็นการมุ่งเป้าปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการปราบโจรผู้ร้ายแบบถอนรากถอนโคน และเพื่อขจัดความยากจนของแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าไปที่ประชากร 3 กลุ่มระดับล่าง คือ
- กลุ่มเกษตรกร ได้แก่ ชาวไร่ ชาวนา ผู้ทำการเกษตรและกสิกรรม
- กลุ่มพ่อค้าย่อย ได้แก่ พ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลายในระดับล่าง
- กลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย และผู้รับจ้างในวงราชการ
ผล คือ จากการทำตามคำแนะนำดังกล่าว ทำให้ประชาชนต่างขวนขวายในกิจการงานของตน มากขึ้น ไม่มีโจรผู้ร้าย บ้านเมืองสงบสุขเรียบร้อย ไม่มีการเบียดเบียนกัน และภาษีอากรเข้าพระคลังมากขึ้น ส่วนกลุ่มเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ระดับบน คือ การแสวงหาการมีส่วนร่วมของกลุ่มอิทธิพล 4 กลุ่มใหญ่ในแผ่นดิน ซึ่งในยุคนั้นได้กล่าวถึงบรรดาเจ้าผู้ครองนครเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นกับพระเจ้ามหาวิชิตราช บรรดาอำมาตย์ราชบริพารผู้ใหญ่ พวกพราหมณ์มหาศาล และพวกคหบดีมหาศาล ถ้าหากจะประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยกับบ้านเมืองปัจจุบัน น่าจะได้แก่กลุ่มอิทธิพลทางการเมือง 4 กลุ่มในระดับบน คือ
- กลุ่มนักการเมือง ได้แก่ กลุ่มนักการเมืองระดับชาติที่เป็นตัวแทนประชาชนในแต่ละท้องถิ่น สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักการเมืองในทุกระดับ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจปัญหาสำคัญและอนาคตของบ้านเมือง
- กลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้แก่ ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือนในระดับสูง ตั้งแต่ระดับกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการ ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่า เสนาธิการ ผู้ว่าการ และผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้รับนโยบายไปปฏิบัติ
- กลุ่มผู้นำทางความคิด นักวิชาการใหญ่ สื่อมวลชนใหญ่ ในอดีตคือกลุ่มพราหมณ์มหาศาล ปัจจุบันเป็นสถาบันทางความคิดที่มีบทบาทถ่วงดุลอำนาจรัฐ ชี้นำประชาชน ได้แก่ กลุ่มนักวิชาการ นักคิดในสังคม ปัจจุบันนิยมเรียกว่า NGO (Non-Government Organization)
- กลุ่มพ่อค้าคหบดีใหญ่ ซึ่งทุกยุคทุกสมัยจะมีพ่อค้าที่ทรงอิทธิพล เพราะมีทรัพย์มหาศาล มีอำนาจ มีบริวาร กลายเป็นบุคคลสำคัญของแผ่นดินที่จะมองข้ามไปมิได้ จะต้องได้รับความร่วมมือด้วย
จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์ทางรัฐศาสตร์ในการปกครองประเทศยุคพระเจ้ามหาวิชิตราช ถือเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงเจตคติ แนวคิดของการปกครองแบบธรรมรัฐ ที่ปัจจุบันเขียนเป็นทฤษฎีใหม่ของตะวันตกที่เรียกว่า “Good Governance” นั่นคือการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบ ควบคุมได้ และให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงอาจกล่าวได้ว่า หลักรัฐศาสตร์เชิงเศรษฐศาสตร์ หรือในปัจจุบันเรียกว่า เศรษฐศาสตร์การเมือง ที่มุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยมีการปฏิรูปมนุษย์ควบคู่กันไปด้วย
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงมีพระราชทรัพย์มหาศาล ทรงมีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ทรงทำสงครามได้ชัยชนะจนได้ครองดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล จึงทรงประสงค์จะทำพิธีบูชายัญ เพื่อความสุขสวัสดีแก่พระองค์เองและอาณาประชาราษฎร์ ซึ่งพราหมณ์ปุโรหิตได้ถวายวิธีที่จะกำจัดเสี้ยนหนามคือโจร ต้องอาศัยวิธีการ (พระภาวนาวิริยคุณ, 2547: 28-29) ต่อไปนี้
- ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารแก่พลเมือง ผู้ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของพระองค์
- ขอให้พระองค์พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม ในบ้านเมืองของพระองค์
- ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็ง ในบ้านเมืองของพระองค์
จะเห็นได้ว่า เมื่อทำได้ทั้ง 3 ประการนี้แล้ว พลเมืองเหล่านั้นจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และจักมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บานเมืองก็จะอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน เรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนการฆ่าสัตว์บูชายัญให้เป็นสังคมเคราะห์นั่นเอง
ยุทธศาสตร์แห่งการเอาชนะใจกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลทางบ้านเมืองทั้ง 4 กลุ่ม คือ เจ้าผู้ครองนคร อำมาตย์ราชบริพาร พราหมณ์มหาศาล และคหบดีผู้มั่งคั่ง ถือเป็นการสร้างต้นแบบให้เกิดความร่วมใจเห็นอุดมการณ์ของบ้านเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ การช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ยากไร้แต่ละคนต้องช่วยตนเองให้ได้ ต้องใช้ความรู้ ความสามารถให้เต็มที่ หนีความยากจน ด้วยวิธีการกระจายความมั่งคั่งสู่บุคคลระดับล่าง เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้มีทรัพย์ ผู้มั่งคั่งสู่บุคคลระดับล่าง กับกลุ่มผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของแผ่นดิน เรียกว่า เป็นการบริหารบ้านเมืองสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับหลัก รัฐประศาสนศาสตร์ยุคใหม่ ที่วางยุทธศาสตร์ในเชิงรุก แทนที่ตั้งรับ มิรอให้ประชาชนเดือดร้อนก่อนแล้วยกขบวนมาร้องต่อบ้านเมือง เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ และปรับเจตคติคนทั้งเมือง เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยใช้หลักรัฐศาสตร์เชิงพุทธ ที่ปฏิรูปตั้งแต่ความคิดของผู้นำแผ่นดิน คือ กษัตริย์ ไปจนถึงบรรดาเจ้าผู้ครองเมือง อำมาตย์ราชบริพาร พราหมณ์มหาศาล คหบดีมหาศาล และผลของการปฏิรูป ทำให้เกิดผลความกินดีอยู่ดีกับประชาชนส่วนใหญ่ระดับล่าง คือ เกษตรกร ข้าราชการชั้นผู้น้อย พ่อค้าวาณิช และคนทำมาหากินสุจริตทั่วแผ่นเดิน แม้พระเจ้ามหาวิชิตราช จะทรงเป็นมหากษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ ก็ต้องได้รับการรับรองจากเสนาอำมาตย์ก่อน จะเห็นได้ว่า พราหมณ์ปุโรหิต เป็นเสมือนองคมนตรี เจ้าพิธีกรรม เสนาธิการในคน ๆ เดียว แม่มีสิทธิ์ในการเสนอความคิดเห็นโดยมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองทุกมิติ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน (Basic Rights or Fundamental Rights) และสิทธิของพลเมือง ทั้งนี้ พระองค์ทรงให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) และกิจกรรมของประชาชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกดดัน หรือโน้มน้าวให้รัฐบาลผู้นำ ผู้กำกับนโยบาย ผู้มีอำนาจ หรืออิทธิพลต่อทุกกระบวนการทางการเมือง การปกครอง มีความเห็นหรือตัดสินใจ (พระครูโสภณปริยัติสุธี, 2552: 93)
ในกูฏทันตสูตรนี้ จะเห็นว่า การเสนอแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพราหมณ์ปุโรหิต ได้เสนอวิสัยทัศน์ในการพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้า เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยปฏิวัติความคิดที่จะทำลายล้างอาชญากร มาเป็นการส่งเสริมอาชีพหรือที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economics) โดยชี้ให้เห็นถึงความผูกพันกันอย่างชัดเจน ระหว่างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม กล่าวคือ ด้านการเมือง เมื่อผู้นำต้องการให้เกิดความผาสุกหรือการกินดีอยู่ดีของปวงชน ต้องวางนโยบายคือกำหนดทิศทางโดยเน้นเศรษฐกิจเป็นตัวนำ ด้านเศรษฐกิจ แม้จะไม่ใช่เป้าหมายอันสูงสุดแต่ก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนมิใช่น้อยที่จะผลักดันคนให้ก้าวเดินต่อไป และด้านสังคม จากผลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแล้ว ปัญหาทางสังคมต่าง ๆ เช่น การลักขโมย ปล้นชิงทรัพย์ คนเกียจคร้านซึ่งเป็นภาระสังคม เป็นต้น ก็ได้รับการแก้ไข ทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันด้วยดีสงบสุข ไม่ต้องหวาดระแวงภัยต่าง ๆ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและสังคม กลับมาดีอีกครั้ง ประชาชนหันมาขวนขวายในการงานของตน ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพของตน และยังสร้างค่านิยมที่ดีให้เกิดขึ้น กลายเป็นสังคมที่ยกย่องคนขยันและคนดีที่ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานคือกุศลกรรมบถ 10 นอกจากนี้ การยกเลิกการฆ่าสัตว์และการบังคับแรงงานให้ทำในสิ่งที่ไม่ต้องการนั้น ยังเป็นการไม่ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของทุกชีวิต ซึ่งทุกชีวิตย่อมรักสุขเกลียดทุกข์ และรักตนยิ่งกว่าผู้ใด ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น เพราะความไม่เบียดเบียนทำให้เกิดสุข เมื่อยกเลิกการกระทำที่เป็นการเบียดเบียนย่อมนำสันติสุขกลับคืนสู่สังคมได้ (ศันสนีย์ ชุมพลบัญชร, 2559: 149)
การดำเนินนโยบายตามหลักการข้างต้น ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง และรัฐบาลที่จะได้รับผลกลับย้อนคืนมาในรูปแบบอื่น ๆ อีก กล่าวคือ ประชาชนจะขยัน (อุตสาหกรรม) ไม่เป็นโจร ปล้นชิงทรัพย์ ลักขโมย เก็บภาษีอากรได้มากขึ้น สังคมจะสงบสุข ประชาชนจะมีความสามัคคี ครอบครัวจะไม่แตกแยก อยู่อย่างปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การปฏิรูปแนวคิดตามหลัก กูฏทันตสูตร ส่งผลให้เกิดแนวคิดการบูชายัญตามแบบพุทธขึ้นมา เพราะเป็นแบบพราหมณ์ ย่อมเคารพนับถือปฏิบัติตามพิธีกรรม ประเพณีและความเชื่อแบบศาสนาพรหมณ์ เช่น การบวงสรวงยัญพิธีกรรม การเคารพอ้อนวอนเทพเจ้า ส่วนผู้นำที่เป็นธรรม ราชาแนวพระพุทธศาสนาย่อมปฏิบัติตนในหลักธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ เอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ (พระครูโสภณปริยัติสุธี, 2552: 100)
ในกูฏทันตสูตรนี้ทำให้ได้ทราบหลักพุทโธบายทางการสื่อสาร โดยทรงใช้กลยุทธ์การโน้มน้าวให้ผู้คนหันมาคิดใหม่ ทำใหม่ จากวัฒนธรรมดั่งเดิมที่นิยมการฆ่าเพื่อบูชายัญ มาเป็นการให้ชีวิตเพื่อบูชายัญ จากการนำชีวิตสัตว์มาบูชายัญกลายเป็นพืชผักธัญญาหารมาบูชายัญแทน ก็เพราะพระพุทธเจ้าทรงใช้หลักธรรม 4 ประการ คือ ชี้แจงให้เห็นชัดเจนจนเห็นภาพ (สันทัสสนา) ชักชวนให้อยากรับเอาไปประพฤติปฏิบัติ (สมาทปนา) เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า (สมุตเตชนา) ปลอบประโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมกถา (สัมปหังสนา) หลักธรรมทั้ง 4 ประการนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งผลให้ระบบความคิดเรื่องการบูชายัญของกูฏทันตพราหมณ์เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีงามและก้าวพ้นกรอบความคิดเดิม ๆ ที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องจบ กูฏทันตพราหมณ์ได้ทูลถามถึงยัญอย่างอื่นที่เตรียมการน้อยแต่ให้ผลมากกว่ามหายัญว่ามีหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงตอบว่า มี โดยเริ่มตั้งแต่นิตยทาน ทานที่ทำสืบต่อกันมา มีผลมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับจนถึงการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน บรรลุพระอรหันต์ ปริโยสาเณ ครั้นในเวลาจบพระธรรมเทศนา กูฏทันตพราหมณ์ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ยอมรับนับถือพระรัตนตรัย พร้อมประกาศปล่อยชีวิตสัตว์ต่าง ๆ ให้เป็นไทตามพุทธมติ จนเกิดผลที่ดีตามมาอีกหลายประการ คือ
- การเข้าใจถึงที่มาที่ไปและความหมายของการบูชายัญ
- วิธีการบูชายัญที่แท้จริงคือการส่งเสริมอาชีพของผู้ใต้ปกครอง
- การไม่ต้องบูชายัญด้วยเลือดเนื้อชีวิตของสัตว์ทั้งหลายอีกต่อไป
การบริหารจัดการเศรษฐกิจของพระเจ้ามหาวิชิตราช ที่ปรากฏในกูฏทันตสูตรนับได้ว่า มีความเป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่นอกจากจะเกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังเกิดการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล แต่จุดมุ่งหมายที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการพัฒนามนุษย์ ทั้งด้านพฤติกรรมและจิตใจให้อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องชอบธรรม อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังศีลธรรมอันดีงาม ทำให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา กูฏทันตสูตรนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนระบบการจัดการสวัสดิการสังคมและเกิดการพัฒนาในระบเศรษฐกิจ
- บทสรุป
ครอบครัว วัด ชุมชน และท้องถิ่น จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อการพัฒนาบริการสวัสดิการสังคมในรูปแบบที่หลากหลาย แทนการให้รัฐจัดบริการเชิงรูปแบบเดียว โดยใช้นโยบายสังคมแบบบนสู่ล่าง (top-down) การปฏิรูประบบสังคมไทย จะส่งผลกระทบให้เกิดกระแสการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมไทย สวัสดิการสังคมในมิติเดิมแบบตะวันตก จะถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบตะวันออกที่ใช้แนวคิดภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งผลให้รูปแบบของการจัดสวัสดิการถูกเปลี่ยนผ่าน จากมือของรัฐมาเป็นมือของคนในชุมชน ท้องถิ่น กระแสใหม่ที่เกิดขึ้นกับงานสวัสดิการสังคม คือ การก้าวออกมาสู่การจัดสรรทรัพยากรนอกองค์กร โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน การมีส่วนร่วมต่อการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น การพัฒนาเครือข่ายงานสวัสดิการท้องถิ่น การนำผลการวิจัยไปผลักดันสู่การกำหนดนโยบายสวัสดิการสังคม
สวัสดิการสังคมไทย เป็นการจัดสวัสดิการที่ครอบคลุมถึงการสงเคราะห์สังคม การประกันสังคม และการบริการสังคม หน่วยงานภาครัฐแล้ว ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคชุมชน เป็นจักรกลหนึ่งที่มีส่วนในการบริการสวัสดิการ การกำหนดยุทธศาสตร์สวัสดิการสังคม การจัดทำนโยบายสวัสดิการสังคม รวมทั้งการมองสวัสดิการเชิงนโยบายทางสังคม โดยพิจารณาว่า คนเป็นศูนย์กลาง ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ด้วยการที่รัฐต้องจัดสรรปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน และร่วมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการดำรงอยู่อย่างพึ่งตนเองได้ และมีพลังอำนาจที่จะปกป้องคุ้มครองตนเองอย่างรู้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่เกี่ยวข้องกับงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บัญญัติไว้ว่า จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน สิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย ซึ่งหลักการดังกล่าวมีขอบเขตและทิศทางการพัฒนางานสวัสดิการสังคมไทย ตามนโยบายของรัฐบาลในการเป็นสังคมสวัสดิการ และการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าภายในปี 2560 การกำหนดให้ “สังคมสวัสดิการ” เป็นวาระแห่งชาติ และแนวทางการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมสู่สวัสดิการถ้วนหน้า ปี 2560 ซึ่งระบบสวัสดิการนั้นมี 4 เสาหลัก กล่าวคือ การบริการสังคม การช่วยเหลือทางสังคม การประกันสังคม และการส่งเสริมสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม การส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น
การจัดสวัสดิการสังคมตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือการพัฒนามนุษย์ ทั้งด้านพฤติกรรมและจิตใจ ให้อยู่บนพื้นฐานความถูกต้องชอบธรรม และเป็นการปลูกฝังศีลธรรมอันดีงาม ทำให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ในกูฏทันตสูตรนี้ มีการเสนอแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพราหมณ์ปุโรหิต ได้เสนอวิสัยทัศน์ในการพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้า เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยปฏิวัติความคิดที่จะทำลายล้างอาชญากร มาเป็นการส่งเสริมอาชีพ โดยชี้ให้เห็นถึงความผูกพันกันอย่างชัดเจน ระหว่างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การดำเนินนโยบายตามหลักกูฏทันตสูตร ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง กล่าวคือ ประชาชนจะมีความขยัน ไม่เป็นโจร ปล้นชิงทรัพย์ ลักขโมย เก็บภาษีอากรได้มากขึ้น สังคมจะสงบสุข ประชาชนจะมีความสามัคคี ครอบครัวจะไม่แตกแยก อยู่อย่างปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ การปฏิรูปแนวคิดตามหลักกูฏทันตสูตร ย่อมส่งผลให้เกิดแนวคิดการบูชายัญตามแบบพุทธขึ้นมา เพราะผู้นำที่ทรงธรรมตามแนวพระพุทธศาสนาย่อมปฏิบัติตนในหลักธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ ยึดเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ และที่สำคัญ พระสูตรนี้ทำให้ได้ทราบพุทโธบายทางการสื่อสาร โดยทรงใช้กลยุทธ์การโน้มน้าวให้ผู้คนหันมาคิดใหม่ ทำใหม่ จากวัฒนธรรมดั่งเดิมที่นิยมการฆ่าเพื่อบูชายัญ มาเป็นการให้ชีวิตเพื่อบูชายัญ จากการนำชีวิตสัตว์มาบูชายัญกลายเป็นพืชผักธัญญาหารมาบูชายัญแทน เพราะวิธีการบูชายัญที่แท้จริงคือการส่งเสริมอาชีพของผู้ใต้ปกครองนั่นเอง