หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

บทความวิจัย ดร.ศิรวัฒน์ ครองบุญ เรื่อง บทบาทการสร้างสันติภาพในทิเบตของทะไลลามะ

โพสท์โดย Sirawat Kro0404

บทบาทการสร้างสันติภาพในทิเบตของทะไลลามะ[*]

The Role of His Holiness Dalai Lama for peace in Tibet

ศิรวัฒน์ ครองบุญ Sirawat Krongbun

 

บทคัดย่อ

องค์ทะไลลามะ ทรงเป็นผู้นำจิตวิญญาณและผู้นำสูงสุดแห่งทิเบต ได้รับการขนานพระนามว่า มหาสมุทรแห่งปัญญา ผู้นิยมแนวทางสันติวิธี และเสรีภาพ ทรงเป็นเสียงประกาศพระพุทธศาสนา ได้รับมติให้เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดด้านบทบาทการสร้างสันติภาพ และการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประชาคมโลกท่ามกลางกระแสร้อนระอุ ของสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของจีน ที่มุ่งยึดครองทิเบต และการเบียดเบียนระหว่างชนชาติ บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอบทบาทการสร้างสันติภาพ การเคารพสิทธิมนุษยชน  ขั้นพื้นฐาน และการอนุรักษ์วัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขององค์ทะไลลามะ ผู้ซึ่งไม่เคยสิ้นหวัง ที่ได้เสด็จไปยังองค์การสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องสันติภาพ การอนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีชีวิต รูปแบบการปกครองตนเอง ในวิถีทางแห่งสันติและเมตตา

สันติภาพ คือ การที่คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่มีความขัดแย้งกัน เคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน หนทางที่จะนำโลกไปสู่สันติภาพได้นั้น ประชาคมโลก ต้องปรับทัศนคติในการบริหารความขัดแย้งทางความคิด ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง การนิยมความรุนแรง ด้วยการพูดคุยเจรจา เพื่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และร่วมกันผลักดันให้เกิดสันติภาพขึ้นในโลก

ผลจากการเรียกร้องสันติภาพ ขององค์ทะไลลามะ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือหยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทำลายทางวัฒนธรรม การเผาศาสนสถาน และการยุตินโยบายขยายประชากรจีนเข้าไปในทิเบต จึงทำให้คณะกรรมการรางวัลโนเบล ได้มอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แด่องค์ทะไลลามะ ที่ทรงเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง และทำให้เกิดเสรีภาพแก่ประชาชนชาวทิเบตได้ในที่สุด

 

คำสำคัญ : บทบาท, สันติภาพ, ทิเบต, ทะไลลามะ   

 

 Abstract

His Holiness Dalai Lama is the spiritual leader and also the supreme leader of Tibet. The Dalai lama is called as the ocean of intelligence. He holds the peaceful way and freedom. He is also as if the mouthpiece of the Buddhism. He was voted to be one of the most influential people in supporting peace and creating changes in global community during genocide war outbreak. The war is an attempt of China to take control the Tibet. The purpose of this research is to present the role of His Holiness Dalai Lama in supporting peace, in respect fundamental human rights and in maintaining culture, nature and environment.He has never been despair in asking for peace, for maintaining culture and way of life of the Tibetian people, and for self-governance by peaceful way and metta.

Peace is that people in community live together without conflict and respect each other rights. The way leading the world to peace is that global community should adjust attitude in management the conflict of opinion, the differences of culture, races, religions, politics, forcible and violent means, by speaking and negotiation for love, unity,peaceful co-existance and support world peace.

The result from asking for peace by His Holiness Dalai Lama is the change, which is bringing the end of genocide, destroying culture and religious sites, and the Policy of Population Transfer of Chinese citizens into Tibet. For this reason, the Nobel Price committee had selected His Holiness Dalai Lama to be the winner of the Nobel Peace Price, because he succeeded in asking for stopping violence and in bringing freedom for the Tibetian people

 Keywords: role, peace, Tibet, His Holiness Dalai Lama

 

 บทนำ

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับทิเบต เกิดขึ้นมานานนับศตวรรษ ทิเบตเปรียบเสมือน “ขุมสมบัติแห่งทิศประจิม” เพราะเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางความมั่นคงของจีน เป็นรัฐกันชนแบ่งประเทศจีนกับประเทศอินเดีย เป็นเส้นทางการค้าสายประวัติศาสตร์ ในอดีต และปัจจุบันจะเป็นประตูทางการค้าเชื่อมระหว่างสองมหาอำนาจใหม่อย่างจีนและอินเดีย ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนและชาวทิเบตก็เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าหนึ่ง ในจำนวน 56 เผ่าของจีน มีประวัติความเป็นมาหลายพันปี ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา สาขาต่าง ๆ ของชาวทิเบตต่างทำสงครามกัน เพื่อตั้งตัวเป็นใหญ่ และรวบรวมทิเบตให้เป็นปึกแผ่น (คล่อง  ศิรประภาธรรม 2549 : 359) จีนเข้ายึดครองทิเบต ได้ทำลายล้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ศาสนา และความเป็นหนึ่งเดียวของทิเบตอย่างเป็นระบบ โดยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ทำลายศิลปะ ประวัติศาสตร์ วัตถุทางศาสนา ผู้นำท้องถิ่นต่าง ๆ ตลอดจนลามะต่างถูกจำคุก ทรมาน และถูกฆ่า ศาสนสถานของชาวพุทธมากกว่า 6,000 แห่งถูกทำลาย สัญลักษณ์หรือวัตถุศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ถ้าไม่ถูกทำลายก็ถูกขายทอดตลาด จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกของชาวทิเบต มีชีวิตผูกพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และสิ่งที่ชาวทิเบตหวาดกลัวที่สุดคือการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของพลเมืองจีนเข้ามาสู่ทิเบต ในปัจจุบันประชาชนทิเบต เริ่มเอาอย่างประชาชนจีน ทำให้อารยธรรมทิเบตโบราณถูกทำลาย ซึ่งเป็นผลมาจากการโยกย้ายประชากร ทำให้ชาวทิเบตสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง รวมทั้งวงจรสังคม โดยเฉพาะผลกระทบที่รุนแรงที่สุด คือเกิดความแตกต่างของประชาชน และวัฒนธรรมขึ้น อีกทั้งนโยบายของจีนอนุญาตให้มีบุตรเพียงคนเดียว ทำให้ผู้หญิงทิเบตหลายพันคนถูกบังคับให้ทำแท้งและทำหมัน ซึ่งขัดกับความเชื่อทางศาสนา และยังสร้างความไม่สมดุลของประชากรระหว่างจีนกับทิเบตอีกด้วย  (ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ ษัฏเสน 2542 : 287)  

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทการสร้างสันติภาพ การเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และการอนุรักษ์วัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขององค์ทะไลลามะ ที่ทรงเรียกร้องให้ประเทศจีนยุติการส่งกองทหารเข้ามาในทิเบต เพื่อให้ทิเบตยอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิสต์จีน การบีบบังคับด้วยกำลังทหาร ย่อมเป็นการรุกรานโดยแท้ ตราบใดที่มีการใช้กำลังทหารบังคับประชาชนชาวทิเบต ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นชัดว่า ชาติใหญ่รังแกชาติที่อ่อนแอ นอกจากนี้ ทิเบตยังเรียกร้องต่อสหประชาชาติว่า การที่จีนบุกรุกเข้ามาเหนือพรหมแดนของทิเบต ได้ก่อความผิดต่าง ๆ ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมาย อันเป็นที่ยอมรับกัน (สุลักษณ์  ศิวรักษ์ 2556 : 207) มีเนื้อหาโดยสรุปคือ มีการยึดทรัพย์สมบัติของชาวทิเบต ทำให้ปราศจากการครองชีพ จนถึงต้องอดตายกันเป็นจำนวนมาก ชายหญิงและเด็กถูกนำเข้าสู่กลุ่มกรรมกร ถูกทางทหารบังคับให้ทำงาน โดยไม่มีค่าจ้าง ใช้วิธีการอันป่าเถื่อน เพื่อทำให้ชายหญิงเป็นหมัน จะได้ให้สิ้นเชื้อชาติทิเบต มีการฆ่าฟันชาวทิเบตอย่างโหดร้าย ทั้ง ๆ ที่หาความผิดมิได้

องค์ทะไลลามะ มีบทบาทอย่างสำคัญในการเรียกร้องต่อองค์การสหประชาชาติ และนานาอารยประเทศ ให้จีนยุติการใช้ความรุนแรง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทำลายศาสนสถาน การลิดรอนสิทธิ์ในการแสดงสิทธิขั้นพื้นฐาน การพูดแสดงความคิดเห็น การเคลื่อนไหว การนับถือศาสนา แม้ว่า พระองค์จะทรงลี้ภัยที่เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดียก็ตาม แต่ก็ทรงเสนอและรณรงค์ให้ทิเบตเป็นเขตสันติภาพ ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ และให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดถึงกำหนดให้วันที่ 10 มีนาคมของทุกปี เป็นวันเรียกร้องเสรีภาพแห่งชาติทิเบต (Tibetan National Uprising Day) อีกด้วย (พระมหารุ่งเพชร  ติกฺขวชิโร 2537 : 71) เพื่อให้ประชาคมโลกได้รับรู้วิถีแห่งการต่อสู้โดยสันติและเมตตา อหิงสา การเคารพสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความไม่สิ้นหวังในการหวนคืนมาตุภูมิประเทศ ความอดทน ความธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของประเทศตน ขององค์ทะไลลามะ ที่จะยึดถือเป็นแบบอย่างในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก หรือในประเทศที่มีความขัดแย้งที่เกิดจากอุมดการณ์ทางการเมือง ความแตกต่างทางความคิด ผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ ค่านิยม และความเชื่อทางศาสนา

 

  1. ความหมาย และความสำคัญของบทบาท

           บทบาทมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ทราบถึงการกระทำ หรือพฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกมาตามหน้าที่ทางสังคม ซึ่งก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน มีความหมายและความสำคัญ ดังต่อไปนี้

             1.1 ความหมายของบทบาท

             สิ่งที่บุคคลจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับตำแหน่งหรือหน้าที่การงาน สถานภาพ ที่ได้รับมอบหมาย ตรงกับความคาดหวังของผู้ที่มอบหมายอำนาจนั้น (Levinson,  D.J. 1964 : 11)  ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

                  1) บทบาท หมายถึง ปทัสถาน ความมุ่งหมาย ข้อห้าม ความรับผิดชอบและอื่น ๆ ที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน ซึ่งผูกพันอยู่กับตำแหน่งทางสังคมที่กำหนดไว้ บทบาทตามความหมายนี้คำนึงถึงตัวบุคคลน้อยที่สุด แต่มุ่งไปถึงการบ่งชี้หน้าที่อันควรกระทำ

                  2) บทบาท หมายถึง ความเป็นไปของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งที่คาดคะเน และกระทำเพื่อดำรงตำแหน่งนั้น ๆ

                  3) บทบาท หมายถึง การกระทำของบุคคลแต่ละคนที่กระทำโดยให้สัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคม ซึ่งเป็นแนวทางอันบุคคลพึงกระทำ เมื่อตนดำรงตำแหน่งนั้น บทบาทเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมที่คาดหวังของผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ๆ สัมพันธภาพระหว่างบทบาทหน้าที่กับความรับผิดชอบ และการที่บุคคลจะดำรงตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใด จะต้องมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่กำหนดไว้ควบคู่กับตำแหน่งเสมอ

             คำว่า บทบาท ตามทัศนะของนักวิชาการนั้น หมายถึง การทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ เช่น บทบาทของพ่อแม่ บทบาทของครู หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การแสดงพฤติกรรมตามบทบาทหรือตำแหน่งหน้าที่ บทบาทจึงถือเป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานต่างๆ (ราชบัณฑิตยสถาน  2542 : 602)    สิ่งที่บุคคลจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับตำแหน่งหรือหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นการแสดงพฤติกรรมตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ที่มอบหมายอำนาจนั้

น (ปราชญา  กล้าผจัญ 2540 : 33)

             การประกอบพฤติกรรมตามตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ตามลักษณะการรับรู้ และตามที่แสดงจริง บทบาทเป็นผลรวมของสิทธิ์และหน้าที่ เช่น บุคคลที่เป็นครู ก็ต้องประกอบพฤติกรรมในการสอนและอบรม เมื่อแสดงพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว จะเป็นไปตามที่สังคมคาดหวังหรือไม่ก็ตาม (สงวน  สุทธิเลิศอรุณ 2547 : 68)

             1.2 ความสำคัญของบทบาท

บทบาท เป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดแนวทางให้บุคคลแสดงความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการแสดงพฤติกรรมในสังคม ในแต่ละสถานการณ์ การแสดงออกของบุคคลมักต้องเป็นไปตามบทบาท ไม่ว่าเขาจะพึงพอใจที่จะแสดงหรือไม่ก็ตาม เช่น บทบาทของหัวหน้า ที่ต้องมีการทักทายให้กำลังใจลูกน้อง บทบาทของผู้ปกครองที่ต้องการว่ากล่าวสั่งสอนลูกเมื่อเขาทำผิด บทบาทของพนักงานขายในร้านค้า ที่ต้องทักทายลูกค้า ด้วยอัธยาศัย  ที่ดี และพร้อมที่จะให้บริการ และโดยอันที่จริงแล้ว ในสังคมที่เป็นอยู่ เรามักตัดสินบุคคลตามบทบาทของเขา คือ  ตัดสินว่า เขาทำหน้าที่ตามบทบาทนั้น ๆ ได้ดีเพียงพอหรือไม่ หรือการแสดงบทบาทของเขาเป็นที่พึงพอใจแก่สังคมหรือไม่ ดังนั้น ความสำคัญของบทบาท มีขึ้นเนื่องจากบทบาทเป็นตัวกำหนดหน้าที่ของบุคคล จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าใจแนวทางในการแสดงพฤติกรรมของตนเอง  และสามารถเข้าใจถึงการแสดงพฤติกรรมของบุคคลอื่น และสามารถจัดระเบียบสำหรับการอยู่ร่วมกันได้ (ชาญวิทย์  ประชาพาณิชพัฒนา 2545 : 21) ซึ่งสรุปความสำคัญได้ 4 ประการ คือ

                 1) ทำให้เกิดการแบ่งหน้าที่ระหว่างสมาชิกตามความถนัด และความสามารถ

                 2) ทำให้สมาชิกในสังคมรู้ถึงฐานะ และความรับผิดชอบของตนเอง

                 3) ทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบ สมาชิกในสังคมปฏิบัติตามหน้าที่ของตนไม่ก้าวก่ายกัน

                 4) ทำให้สมาชิกแต่ละคนรู้จักหน้าที่ และความรับผิดชอบของตนตามสถานภาพและบทบาท

             สรุปว่า บทบาท หมายถึง การทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ การประพฤติปฏิบัติ พฤติกรรม หน้าที่ตามตำแหน่ง สิ่งที่บุคคลจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับตำแหน่ง หรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ความคาดหวังของการกระทำ ภาระที่ต้องรับผิดชอบตามสถานภาพของแต่ละบุคคล แนวทางการแสดงออกตามอำนาจ ที่กำหนดไว้ แบบแผนของพฤติกรรม ซึ่งเป็นไปตามตำแหน่ง และสิ่งที่สังคมได้กำหนดเฉพาะเจาะจงให้บุคคลปฏิบัติ

องค์ทะไลลามะ ทรงมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพ การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การอนุรักษ์วัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับชาวทิเบต โดยที่พระองค์ทรงตระหนักในบทบาท หน้าที่ สถานภาพ และความคาดหวังจากประชาชนชาวทิเบต พระองค์ได้ทรงประกาศในกระแสพระราชดำรัส ถึงประชากรทั้งมวลว่า “จำเดิมแต่เราเป็นประมุขทั้งในศาสนา และอาณาจักร เราไม่มีเวลาว่าง ไม่มีเวลาสำหรับสนุก เราคิดถึงงานของชาติ และพระศาสนา ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อให้แต่ละคนดีขึ้นอย่างมากที่สุด เราต้องคิดถึงความเป็นอยู่ของกสิกร จะแก้ไขทุกข์พวกนั้นได้อย่างไร จะเบิกทางได้อย่างไร ให้แก่ความยุติธรรม ความทำงานโดยรวดเร็ว และการกระทำอันปราศจากฉันทาคติ” และพระองค์ยังชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งรุนแรง การทำลายล้างธรรมชาติ ความยากจน ความหิวโหย ล้วนเป็นปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขได้ แต่ต้องด้วยความพยายามของมนุษย์ มีความเข้าใจกัน และจะต้องพัฒนาภราดรภาพระหว่างกัน ในการที่จะทำเช่นนี้ได้ เราต้องพัฒนาความรับผิดชอบสากลเพื่อกันและกัน และสำหรับโลกที่เราอยู่ บนพื้นฐานของความมีจิตใจที่ดี และการมีสติ (ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ ษัฏเสน 2538 : 318)

 2.บทบาทขององค์ทะไลลามะในการสร้างสันติภาพกับสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน

          ทิเบตเคยเป็นประเทศเอกราช มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน โดยมี จีน อินเดีย ภูฐาน เนปาล มองโกเลีย ปากีสถาน และพม่า เป็นประเทศเพื่อนบ้าน สมญานามประการหนึ่งของประเทศทิเบตที่ชาวโลกรู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นก็คือ ประเทศหลังคาโลก (The Roof of the World) หรือแดนสวรรค์ (Shangrl-la) ก็เพราะมีภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในที่สูงเสียดฟ้า ในยุคเริ่มต้น ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองประเทศ ถัดมามีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองประเทศ และต่อมาองค์ทะไลลามะ เป็นผู้ปกครองประเทศทั้งทางอาณาจักรและศาสนจักรของทิเบต (H.H. Dalai Lama is the Head of the State and the Spiritual Leader of the Tibetan people) ด้วยความที่ทิเบตกับจีนเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน และในยุคสมัยนั้น ที่มีการหวังครอบครองดินแดนของประเทศอื่น เพื่อต้องการแสดงความยิ่งใหญ่ และเพื่อต้องการขยายอาณาจักร จีนกับทิเบตจึงเคยรุกรานซึ่งกันและกันหลายต่อหลายครั้ง และต่างก็พลัดแพ้พลัดชนะกันเป็นธรรมดา ต่อมาเมื่อปี 2502 จีนได้ยึดครองดินแดนประเทศทิเบตได้แบบเบ็ดเสร็จ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศทิเบตก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน (พระมหารุ่งเพชร  ติกฺขวชิโร 2553 : 1-2)

การรุกรานของจีนมีเหตุผลสามประการที่ก่อให้จีนอยากได้ทิเบต

  1. ทิเบตมีดินแดนที่กว้างขวางแต่มีประชากรเพียง 3-6 ล้าน จีนมีพลเมืองถึง 1.357 ล้าน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศจีนมักประสบทุพภิกขภัย ซึ่งต่างจากทิเบต จึงอยากได้ทิเบตเข้าไว้ในการปกครอง
  2. ประเทศจีนมีทรัพยากรมาก ยังไม่ได้นำเอามาใช้ เพราะไม่เคยคิดว่าร่ำรวยกันในทางโลก จีนอ้างว่า พัฒนาให้ทิเบตได้มาก แต่ข้อเท็จจริง การพัฒนานั้นมิใช่เพื่อชาวทิเบต หากแต่เพื่อชาวจีน
  3. ประเทศจีนประสงค์จะปกครองทั่วทวีปเอเชียโดยเฉพาะทิเบต เพราะทิเบต มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาก ภูเขาสูง ๆ เหมาะสำหรับฐานทัพจรวดสมัยใหม่ อันจะส่งโจมตีอินเดีย ปากีสถาน พม่าและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอาคเนย์ แล้วจีนก็จะได้ยึดครองประเทศนั้น (สุลักษณ์ ศิวรักษ์ 2556 : 173-174)

ภายหลังจากที่ทิเบตได้เป็นเอกราชตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 ถึง พ.ศ. 2493 เป็นเวลา 38 ปี ในที่สุดทิเบต  ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน อีกวาระหนึ่ง และปัญหาทิเบตก็เข้าสู่สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน องค์ทะไลลามะทรงตัดสินพระทัย เสด็จลี้ภัยไปยังอินเดีย แม้หนทางจะยากลำบาก และทุรกันดาร ภายหลังได้เกิดจลาจลอย่างขนานใหญ่ขึ้นในกรุงลาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และสถานที่ต่าง ๆ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงทรงประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นที่ป้อมลุนด์เสด์ซอง ตำบลโซดานูบ ชายแดนทิเบต ก่อนที่จะเสด็จลี้พระองค์เข้าไปในประเทศอินเดีย ในการนี้ จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายทิเบต เป็นที่รู้จักของชาวโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และกลายเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซนในโลกตะวันตก อาจเป็นไปได้ที่ว่าต่อไปในอนาคต ชุมชนทิเบตทางตอนเหนือของอินเดีย จะมีส่วนฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนมาสู่ภาคเหนือของอินเดีย ดินแดนที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ่อเกิดของพระพุทธศาสนา (หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  2550 : 6)

องค์ทะไลลามะและชาวทิเบต ประสบความล้มเหลวในการการลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีน หนีไปลี้ภัยในเมืองธรรมศาลาในอินเดีย ในปี 2502 หลังจีนส่งทหารกวาดล้างผู้ลุกฮือประท้วงในทิเบต จีนชี้ว่า พระองค์เป็นนักแบ่งแยกดินแดน ปัจจุบันพระองค์ยึด “ทางสายกลาง” โดยขอเพียงสิทธิปกครองตนเองให้ทิเบต ไม่ใช่แยกเอกราช ในปี 2554 พระองค์ส่งมอบตำแหน่งผู้นำทิเบตให้นายล็อบซัง ซันเกย์ ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบต รัฐบาลพลัดถิ่นมีกระทรวงต่าง ๆ ทั้งหมด 7 กระทรวง (คำว่า “กระทรวง” รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นใช้คำว่า department) คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงความมั่นคง กระทรวงข้อมูลข่าวสารและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศาสนาและวัฒนธรรม (พระมหารุ่งเพชร  ติกฺขวชิโร 2553 : 96-97)

ปี พ.ศ. 2497 องค์ทะไลลามะเสด็จกรุงปักกิ่ง ทรงหารือปัญหาทิเบตกับผู้นำจีน นับตั้งแต่ เหมา เจ๋อ ตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน จูเต้อ รองประธานพรรค โจว เอิน ไหล นายกรัฐมนตรี และหลิว เฉา ชี ประธานาธิบดี ในเวลาต่อมาของจีน จีนได้เสนอให้ตั้ง “คณะกรรมการเตรียมการ เพื่อการปกครองตนเองของทิเบต” โดยมีกรรมการ 51 คน เป็นผู้แทนจีน 5 คน นอกนั้นเป็นชาวทิเบตทั้งหมด มีองค์ทะไลลามะทรงเป็นประธาน ปันเชนลามะกับผู้แทนจีนคนหนึ่งเป็นรองประธาน มีหน้าที่เตรียมการให้ทิเบต เป็นเขตปกครองตนเอง นอกจากนี้ทะไลลามะทรงได้รับเชิญ ให้เข้าร่วมประชุมรัฐสภาของจีนด้วย (ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์    ษัฏเสน 2538 : 100)

ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ส่อเค้าจะได้รับผลกระทบจากกรณี ประธานาธิบดีบารัก โอบามา พบหารืออย่างไม่เป็นทางการ กับองค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ที่ทำเนียบประธานาธิบดี เมื่อ 21 ก.พ.2557 แม้ว่า ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน จีนออกแถลงการณ์เตือนว่า การพบปะดังกล่าว จะถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างร้ายแรง เพราะองค์ทะไลลามะ เป็นผู้สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนในทิเบตของจีน และการพบปะถ้ามีขึ้นจะส่งผลเสียอย่างมากต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ทั้งนี้ การพบปะระหว่างประธานาธิบดีโอบามาและทะไลลามะในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 โดยมีแถลงการณ์หลังเสร็จสิ้นการพูดคุยระบุว่า สหรัฐฯ สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกทางศาสนา อนุรักษ์นาฏศิลป์ทิเบต ภาษา และวัฒนธรรมของทิเบต แต่ยืนยันไม่สนับสนุนให้ทิเบตแยกตัวเป็นเอกราช (พระมหาบุญไทย  ปุญฺมโน 2553 : 1-3)

จากกรณีนี้ จะเห็นได้ว่า การพบกันระหว่างผู้นำประเทศมหาอำนาจ และผู้นำทางด้านศาสนาที่ทำเนียบขาว โดยที่ บารัค โอบามา กล่าวยกย่ององค์ดาไลลามะ ที่ยึดมั่นในแนวทางที่หลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็ไม่พอใจในการพบกันของผู้นำทั้งสอง เพราะจีนถือว่าทิเบตคือมณฑลหนึ่งของจีน ในขณะที่ชาวทิเบตถือว่า ทิเบตคือประเทศเอกราชมาก่อน ภายหลังถูกจีนยึดครอง ความเห็นของทั้งสองประเทศ จึงมีความขัดแย้งกันเรื่อยมา องค์ทะไลลามะ ได้เรียกร้องอิสรภาพ เพื่อให้ชาวทิเบตได้ปกครองตนเองมาเป็นเวลา 50 กว่าปีแล้ว ปัจจุบันองค์ทะไลลามะ มีถิ่นพำนักที่เมืองดาลัมสลา หรือที่เรียกติดปากคนไทยว่า “ธัมมศาลา” มีรัฐบาลพลัดถิ่น มีคณะรัฐมนตรี โดยองค์ทะไลลามะเป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางจิตวิญญาณ   ในโลกนี้คงมีประเทศเดียวที่มีผู้นำทั้งทางโลกและทางศาสนาเป็นคน ๆ เดียวกัน

องค์ทะไลลามะ มีบทบาททั้งในทางศาสนาและการเมือง ในรอบหลายปีที่ผ่านมา พระองค์ยังคงเดินทางพบปะผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แม้จะมีนัยแอบแฝงทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่มีผลตามมาคือชาวโลกได้รู้จักพระพุทธศาสนามากขึ้น และมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายท่านหันมานับถือพระพุทธศาสนาตันตรยานแบบทิเบต ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีงานใหญ่เฉลิมฉลองในกลุ่มชาวทิเบตที่เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ในช่วงเวลานั้น จะมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากทุกมุมโลกเดินทางมาร่วมงาน และเขาเหล่านั้นจะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวทิเบต ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับพระพุทธศาสนา ชนิดที่เรียกว่า “ศาสนาคือชีวิต ชีวิตคือศาสนา” (พระมหารุ่งเพชร  ติกฺขวชิโร 2537 : 23) และชาวทิเบตนั้น มีความผูกพันกับองค์ทะไลลามะ เพราะพระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติทิเบตทั้งมวล นั่นคือ ความงามของประเทศ ความบริสุทธิ์ของแม่น้ำและทะเลสาบ ความสุกสกาวของท้องฟ้า ความหนักแน่นของขุนเขา และความเข้มแข็งของประชาชนชาวทิเบต ด้วยเหตุผลที่ว่า พระองค์มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างสันติภาพ และเรียกร้องอิสรภาพต่อองค์การสหประชาชาติ และผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่พระองค์เสด็จไปเยือน ทรงมีผลงานอเนกประการ ซึ่งมีประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก และผลงานเหล่านั้นล้วนเป็นที่ประจักษ์แจ้ง เช่น ด้านสันติภาพ ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านอนุรักษ์วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน องค์ทะไลลามะ จึงนับเป็นผู้นำคนหนึ่งของโลกที่ได้รับการกล่าวถึงจากประชาคมโลก

 3.แนวคิดขององค์ทะไลลามะกับสันติภาพ

ตลอดระยะเวลาที่องค์ทะไลลามะต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออิสรภาพนั้น พระองค์ไม่เคยคำนึงถึงตัวเอง แต่ทรงคำนึงถึงสิทธิความเป็นอยู่ และอิสรภาพของประชาชนชายหญิง 6 ล้านคน สิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ คือ ความสามารถในการสร้างสรรค์ ในการนี้ประชาชนต้องเป็นอิสระ ในฐานะที่เป็นผู้อพยพมานานถึง 31 ปี ท้ายที่สุด ประชาชนชาวทิเบตต้องได้รับอิสรภาพ สอดคล้องกับแผนสันติภาพ 5 ประการ  (ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ ษัฏเสน 2542 : 316-322) ซึ่งองค์ทะไลลามะได้กล่าวสุนทรพจน์ ที่แคปปิตอลฮิลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ใจความว่า

  1. ให้มีการยกระดับให้ทิเบตเป็นเขตสันติภาพ
  2. ยกเลิกนโยบายการขนย้ายประชากรจีนเข้าสู่ทิเบต อันเป็นการข่มขู่ความอยู่รอดของชาวทิเบต ในฐานะชนชาติ
  3. ให้เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และอิสรภาพในประชาธิปไตยของชาวทิเบต
  4. ฟื้นฟูและป้องกันสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของทิเบต ยกเลิกการที่จีนใช้ทิเบตเป็นที่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และที่ทิ้งกากนิวเคลียร์
  5. เริ่มเจรจาอย่างจริงจังถึงฐานะในอนาคตในทิเบต และความสัมพันธ์ระหว่างทิเบตและชาวจีน

วิเคราะห์ข้อเสนอเกี่ยวกับแผนสันติภาพ 5 ประการนั้น ดังนี้

ประการที่ 1 ที่ให้มีการยกระดับให้ทิเบตเป็นเขตสันติภาพนั้น จะเห็นได้ว่า องค์ทะไลลามะ มีพระประสงค์ จะให้ทิเบตทั้งประเทศ รวมทั้งแคว้นอัมโดและคัม ในภาคตะวันออก ให้มีการยกระดับขึ้นเป็นเขตอหิงสา คือการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นการสอดคล้องกับสถานภาพของทิเบต ในฐานะเป็นชาติชาวพุทธที่ใฝ่สันติภาพ ซึ่งจีนเองก็ให้การสนับสนุนอยู่ หากเป็นไปได้ ก็จะทำให้ทิเบตมีบทบาทสืบเนื่องกับบทบาทที่เป็นมาแล้วในประวัติศาสตร์ ในการเป็นรัฐกันชนระหว่างประเทศมหาอำนาจในทวีป

ปัจจัยสำคัญในการเสนอเขตอหิงสา ได้แก่

ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนทิเบตกว่า 1.25 ล้านคน ต้องสูญเสียชีวิตจากการอดอาหารตาย ถูกฆ่าตาย และฆ่าตัวเองตาย ประชาชนอีกหลายหมื่นอยู่ในที่คุมขัง ดังนั้น เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ทิเบตจึงต้องการให้จีนถอนกำลังทหารที่ยึดครองอยู่เป็นจำนวนมากออกไปจากทิเบต เพราะสิ่งที่ย้ำเตือนชาวทิเบตอยู่ทุกวัน คือ ความทารุณกดขี่และความทุกข์ยากที่พวกเขาต้องเผชิญ ต่อกรณีข้อเรียกร้องแผนสันติภาพข้อที่ 1 นี้ จีนกลับมองว่า องค์ทะไลลามะมีนโยบายแบ่งแยกดินแดน แต่เป้าหมายของพระองค์ ทรงประสงค์ให้เป็นเขตสันติภาพ ปลอดอาวุธ มีความไว้วางใจกันและกัน เป็นการเปิดโอกาสให้จีนมีความเจริญรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจ เพราะพระองค์ทรงตระหนักว่า การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิผล และเหมาะที่สุด ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง พระองค์เชื่อมั่นว่า สันติวิธีเป็นยุทธวิธีทางการเมืองที่จะสร้างมิตรภาพที่ดีระหว่างกันของสองประเทศได้อย่างแท้จริง

           ประการที่ 2 ยกเลิกนโยบายการขนย้ายประชากรจีนเข้าสู่ทิเบต อันเป็นการข่มขู่ความอยู่รอดของชาวทิเบตในฐานะชนชาตินั้น จะเห็นได้ว่า องค์ทะไลลามะทรงกังวลถึงการที่ชาวทิเบต ในฐานะที่เป็นเชื้อชาติหนึ่งกำลังถูกคุกคาม และอยู่ในภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะเมื่อประชาชนของจีนเริ่มอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าไปในทิเบต ตอนสมัย พ.ศ.2528 เป็นที่ชัดเจนว่า นโยบายของรัฐบาลจีนในปักกิ่ง พยายามที่จะขยายเผ่าพันธุ์ของชนชาติจีน การกระทำเช่นนี้ เรียกว่า การกลืนชาติอย่างเงียบ ๆ ด้วยการลดจำนวนประชากรของทิเบตลงจนมีจำนวนเล็กน้อย กลายเป็นประชากรกลุ่มน้อยในประเทศของตนเอง การกระทำเช่นนี้ ต้องยุติการเคลื่อนย้ายประชากรจีนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในทิเบต ผลที่เกิดขึ้นในทิเบตคือ จำนวนประชากรจีนมีมากกว่าชาวทิเบต เฉพาะในเมืองคินได ซึ่งอยู่ในแคว้นอัมโด บ้านเกิดขององค์ทะไลลามะนั้น ตามสถิติของจีนปรากฏว่ามีชาวจีน 2.5 ล้านคน ขณะที่ทิเบตมีประชากรเพียง 750,000 คน ปัจจุบันประมาณการณ์ว่า ประชากรจีนในทิเบตมีมากกว่า 7.5 ล้านคน ขณะที่ประชากรทิเบตมีอยู่เพียง 6 ล้านคน

การรุกคืบของทุนที่ขัดแย้งกับวิถีชีวิตดั้งเดิมก่อให้ความตึงเครียด ที่รอวันปะทุ ความตึงเครียดระหว่างจีน-ทิเบตถูกสั่งสมมาเรื่อย ๆ กระทั่งรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต เริ่มให้บริการในปี 2006 ชาวจีนฮั่นก็อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในทิเบตมากขึ้นเรื่อย ๆ นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวทิเบต ซึ่งเป็นชนท้องถิ่น ที่รู้สึกว่าวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนกำลังถูกคุกคาม ศาสนสถานทิเบตได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างสวยงาม ทว่าความสวยงามดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวเสพเท่านั้นเอง สุดท้ายความพยายามในการกลืนกลายชนชาติทิเบต ด้วยการสนับสนุนให้ชาวจีนฮั่นเข้าไปตั้งรกราก รวมทั้งกระบวนการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนวัฒนธรรมทิเบตให้เหลือสถานะเป็นเพียงวัตถุที่เสพได้เท่านั้น  

ประการที่ 3 ให้เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และอิสรภาพในประชาธิปไตยของชาวทิเบตนั้น องค์ทะไลลามะ ทรงพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า สิทธิมนุษยชนในทิเบตเป็นสิ่งที่ควรให้ความเคารพ ชาวทิเบตควรมีอิสระในการเจริญเติบโตทางวัฒนธรรม สติปัญญา เศรษฐกิจ และพัฒนาทางจิตใจ เพื่อจะได้มีอิสระในทางประชาธิปไตย การคุกคามสิทธิมนุษยชนในทิเบตเป็นกรณีที่ร้ายแรงที่สุดในโลก การกดขี่ในทิเบตนั้น กระทำตามนโยบายแบ่งแยกเชื้อชาติตามที่จีนเรียกว่า “การแบ่งแยกและการผสมผสาน” ในความเป็นจริง ชาวทิเบตเป็นเพียงประชากรชั้นสองในประเทศของตนเอง ปราศจากแม้สิทธิขั้นพื้นฐานในประชาธิปไตย และอิสรภาพในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษาและการสอนศาสนา เป็นต้น

ประการที่ 4 ฟื้นฟูและป้องกันสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของทิเบต ยกเลิกการที่จีนใช้ทิเบตเป็นที่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และที่ทิ้งกากนิวเคลียร์ โดยองค์ทะไลลามะทรงเรียกร้องให้มีความพยายามอย่างจริงจัง ที่จะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของทิเบต ทิเบตไม่ควรจะกลายเป็นดินแดนที่ทิ้งกากสารพิษนิวเคลียร์ และกลายเป็นแหล่งผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ชาวทิเบตเองมีความเคารพในชีวิตในทุกรูปแบบ ความรู้สึกที่ฝังรากลึกในความเชื่อของชาวพุทธ ซึ่งห้ามทำอันตรายชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์ ก่อนที่จีนจะเข้ามารุกราน ทิเบตเป็นประเทศที่มีความงามทางธรรมชาติ มีสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นเอก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์ทะไลลามะ พยายามเรียกร้องให้จีนหยุดการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และการทิ้งกากสารพิษนิวเคลียร์ แต่จีนกลับมีจุดมุ่งหมายไม่เฉพาะทิ้งกากสารพิษที่ตนผลิตเองเท่านั้น แต่ยังรับเอากากสารพิษจากต่างประเทศมาทิ้งในทิเบตอีกด้วย เพื่อเป็นการแลกกับค่าเงินตรา ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและโลกในที่สุด

ประการที่ 5 เริ่มเจรจาอย่างจริงจังถึงฐานะในอนาคตในทิเบต และความสัมพันธ์ระหว่างทิเบตและชาวจีน องค์ทะไลลามะนั้น พยายามแสวงหาทางออกที่จะเป็นผลดีในระยะยาวกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งทิเบต จีน และประชาชนทั้งโลก จุดประสงค์ของพระองค์คือการนำสันติภาพมาสู่โลก โดยเริ่มต้นจากสันติภาพในภูมิภาค

          สรุปว่า สันติภาพ เป็นพื้นฐานของความก้าวหน้า ความสุข และความงอกงาม เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของชีวิต สันติภาพไม่ได้เป็นเพียงการปราศจากสงครามเท่านั้น หากแต่เป็นสถานะของจิตใจหรืออารมณ์แห่งความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น มีความรัก มีความรู้สึกว่าเป็นพี่น้องกัน เคารพและห่วงใยผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรง เหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น ความโหดร้ายของสงครามซีเรีย สงครามชาวปาเลสไตน์กับชาวอิสราเอล การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา โซมาเลีย หรือแม้แต่การฆ่าล้างล้างเผ่าพันธุ์ของจีนที่มุ่งยึดครองทิเบต เป็นต้น เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงเป็นผู้นำในดวงใจของชาวทิเบต และของโลก และหลักแนวคิดคำสอนของท่านได้รับการตอบรับจากนานาอารยประเทศ ในด้านความรู้ มหาวิทยาลัยและสถาบัน ในประเทศตะวันตก เป็นจำนวนมาก ได้ทูลถวายรางวัลสันติภาพ และถวายปริญญาบัตรแด่พระองค์ ในเรื่องรางวัลระดับโลก คณะกรรมการรางวัลโนเบล ประเทศนอรเวย์ ได้มอบ "รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ" แด่พระองค์ ใน ปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) ด้วยเหตุผลว่า "คณะกรรมการ ต้องการเน้นความเป็นจริงที่องค์ ทะไลลามะ ได้พยายามต่อสู้ อย่างต่อเนื่อง และอย่างสันติ เพื่อปลดปล่อยทิเบต ให้หลุดพ้นจากการกดขี่ของจีน ทรงเสนอหนทางแก้ไขปัญหา โดยเน้นเรื่องความอดทน และการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อคุ้มครองมรดกทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของประชาชนทิเบต" (กฤตศรี สามะพุทธิ 2549 : 23) พระองค์ทรงเสนอแผนสันติภาพห้าข้อ ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์โดยรวมของภูมิภาคเอเชียมเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น แผนสันติภาพดังกล่าวได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางจากบรรดาผู้นำประเทศ และฝ่ายนิติบัญญัติทั่วโลก และที่สำคัญแผนสันติภาพนี้ สะท้อนให้เห็นข้อเสนอขององค์ทะไลลามะ ที่มีเหตุผลอันสมควรในการที่จะหยุดการรุกรานอันโหดร้ายและยาวนานต่อบรรดาพสกนิกร พระองค์ยังได้ทรงยื่นไมตรีต่อชาวจีน ซึ่งพระองค์ถือเป็นพี่น้องด้วย เพราะทรงตระหนักว่าทั้งสองประเทศมีการนับถือศาสนาร่วมกัน ประวัติศาสตร์ร่วมกัน และเป็นเพื่อนบ้านที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ชาวจีนหลายคนมีความนิยมชมชอบในองค์ทะไลลามะอย่างลึกซึ้ง แม้พสกนิกรของพระองค์จะต้องทุกข์ทนต่อการถูกกดขี่ พระองค์ก็ยังเชื่อว่า ประเทศทั้งสองนี้จะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในฐานะเป็นประเทศเพื่อบ้าน (กฤตศรี  สามะพุทธิ 2549 : 345)

          สันติภาพของโลกไม่อาจเป็นปัญหาน่าห่วงใยเฉพาะนักการเมืองสองสามคน คณะรัฐบาลสองสามคณะ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านทหารจำนวนไม่กี่คนได้อีกต่อไป โลกไม่มั่นคงปลอดภัย หากปล่อยเรื่องนี้ไว้ในกำมือของพวกเขา ดูเหมือนว่าคณะบุคคลเหล่านี้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการกำจัดสันติภาพที่แท้จริงออกไป และทำการเตรียมรบซึ่งเป็นอันตรายอย่างมหันต์ การตั้งหน้าตั้งตาแข่งขันอาวุธของพวกเขา ได้รับความชอบธรรมจากสุภาษิตที่ว่า “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ” พวกเขาเชื่อว่า นโยบาย “ถ่วงดุลย์อำนาจ” จะสามารถรักษาสันติภาพไว้ได้ จึงมุ่งรักษาความมั่นคงปลอดภัยของโลกด้วยการสั่งสมอาวุธร้ายแรง แต่การสั่งสมอาวุธนานาชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน ได้สร้างภัยคุกคามต่ออนาคตของมวลมนุษยชาติมากกว่าจะเป็นการคุ้มครองป้องกัน (พระมหาประยูร ธมฺมจิตฺโต (มีฤกษ์) ปัจจุบัน : พระพรหมบัณฑิต 2559 : 11)

 4.บทบาทขององค์ทะไลลามะด้านสิทธิมนุษยชน

ทิเบตเคยเป็นรัฐอิสระ แต่ถูกจีนใช้กำลังยึดครองเมื่อปี 2502 โดยอ้างว่า เพื่อต้องการปลดปล่อยและพัฒนาประเทศทิเบต ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนได้พยายามที่จะลบชาวทิเบตและวัฒนธรรมทิเบตให้หายไปจากแผนที่โลก การสืบสวนของคณะกรรมการนักกฎหมายนานาชาติ เมื่อปี พ.ศ.2503 พบว่า จีนได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทิเบตประมาณ 1.2 ล้านคน ศาสนสถานและสถาบันการศึกษาถูกทำลาย ชาวทิเบตถูกลิดรอนสิทธิ์ ในการแสดงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงการพูด การแสดงความคิดเห็น การเคลื่อนไหว และการนับถือศาสนาของตน  สตรีทิเบตถูกบังคับให้ทำแท้งและทำหมัน เยาวชนทิเบตถูกกีดกันด้านการศึกษา การจับกุม การปราบปราม การลงโทษ และการคุมขังได้ถูกกระทำตามอำเภอใจตลอดระยะเวลา 45 ปี (พระมหารุ่งเพชร ติกฺขวชิโร  2537 : 49)

รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้จัดตั้งผู้ประสานงานพิเศษที่เรียกว่า “Special Coordinator for Tibet”  เพื่อช่วยเหลือชาวทิเบต เมื่อปี ค.ศ.1998 ข้าหลวงใหญ่ที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ  ชื่อนางแมรี โรบินสัน เดินทางไปเยือนทิเบต แม้จะมีการนัดประชุมเจรจาเรื่องสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตกับฝ่ายจีนที่ปักกิ่ง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าของการเจรจาอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ตราบใดที่ชาวทิเบตและเมืองลาซายังอยู่ในความสงบ ยังไม่มีการเนืองเลือดเกิดขึ้น ประเทศต่าง ๆ ก็สงวนท่าทีในเรื่องระหว่างทิเบตกับจีนทั้งนั้น เพราะไม่อยากให้มีการกระทบกระเทือนในด้านการค้ากับจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ศุภลักษณ์  สนธิชัย 2548 : 23)

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในทิเบต โดยได้เรียกร้องให้จีนทบทวนโนบายการปกครองในทิเบต ที่อาจสร้างความตึงเครียดและส่งผลกระทบรุนแรงด้านศาสนาและวัฒนธรรมในภูมิภาค โรเบิร์ต วูด โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐกล่าวในแถลงการณ์ว่า  การเจรจาระหว่างรัฐบาลในกรุงปักกิ่ง และตัวแทนขององค์ทะไลลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณของชาวทิเบต  อาจช่วยสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ซึ่งสหรัฐเองให้ความเคารพในการรวมดินแดนของจีน และมองว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ชาวทิเบตทั่วโลกได้จัดการชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 50 ปี ของการที่ชาวทิเบตลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีน โดยองค์ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณพลัดถิ่นของทิเบตระบุว่า ดินแดนทิเบตภายใต้การปกครองของจีนนั้น ได้กลายเป็นนรกบนพื้นโลกไปแล้ว ขณะเดียวกัน นางฮิลลารี คลินตัน กล่าวว่า สหรัฐมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ในจีน ซึ่งเป็นประเด็นที่เราไม่สามารถยื่นมือเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เหมือนกับประเด็นทางเศรษฐกิจหรือภาวะโลกร้อน ขณะที่ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง ต่างเรียกร้องให้จีนคำนึงถึงสิทธิความเท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วยเช่นกัน (อรษา  สงค์พูล และปนัยดา  2552 : 1)

จากญัตติของสมัชชาใหญ่ ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2504 อ้างถึงญัตติที่ 1353 (14) ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2502 ในปัญหาทิเบต ประเด็นพิจารณา สรุปได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพ อันปรากฏอยู่ในกฎบัตรประชาชาติ รวมทั้งหลักที่ให้ประชาชนและประชาชาติเลือกวิถีทางของตนเอง ทั้งยังเป็นการเพิ่มวิกฤตการณ์ขึ้นในนานาชาติ กับทำให้ประชาชนต่างชาติต้องเกลียดชังกัน (สุลักษณ์  ศิวรักษ์ 2556 : 217-218) มีประเด็นดังนี้

ความจริงก็คงเป็นความจริง คือ หลังจากการรุกรานของจีน ประชาชนชาวทิเบตต้องล้มตายลงกว่าล้านคน อันเป็นผลโดยตรงจากนโยบายของปักกิ่ง เมื่อสหประชาชาติพิจารณากรณีของทิเบตใน พ.ศ.2508 สหประชาชาติระบุชัดเจนว่า การที่จีนเข้ายึดครองทิเบตเป็น “การฆ่า ข่มขืน จองจำ ทรมาน เป็นความโหดร้าย ขาดความเป็นมนุษย์ และเป็นการกระทำที่ลดคุณค่าของมนุษย์ต่อประชาชนทิเบตโดยทั่วไป” (ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์ ษัฏเสน 2538 : 314)

  1. บาทบาทขององค์ทะไลลามะด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

องค์ทะไลลามะได้มีพระดำรัสแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมว่า “วันนี้เรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤต ชาติของเรามีวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ซึ่งตอนนี้กำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อการล่มสลาย เราต้องการความช่วยเหลือจากประชาคมโลก เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของเรา วัฒนธรรมที่เป็นดั่งมรดกโลก การอนุรักษ์วัฒนธรรมอันเก่าแก่เช่นนี้ จึงไม่ใช่แค่หน้าที่ของชาติตนเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของประชาคมโลกทั้งหมดด้วย” จะเห็นได้ว่า จากพระดำรัสนี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า องค์ทะไลลามะ ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรม พระองค์จึงโปรดให้สร้างสถาบันนาฏศิลป์ทิเบตขึ้น เพราะชาติที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน หรือมีความเป็นอารยะ ล้วนมีนาฏกรรมประจำชาติ อันเป็นความภาคภูมิใจของชาตินั้น ๆ (พระมหารุ่งเพชร ติกฺขวชิโร  2537 : 123)

ชาวทิเบตรู้สึกว่า จีนมาตักตวงผลประโยชน์ ทุ่มงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาล การที่รัฐบาลจีนพัฒนาทิเบต เพียงเพื่อรองรับปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรของจีน โดยสนับสนุนให้คนอพยพเข้าไปสู่เขตพัฒนาใหม่ การลงทุนสร้างทางรถไฟสายใหม่ “ชิงไห่-ทิเบต” ก็เพื่อสร้างโอกาสในการกระจายคนเข้าไปอยู่อาศัย ใช้สอยทรัพยากรที่ดินและทรัพยากรอื่น ๆ อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การที่ชาวฮั่นที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในทิเบต ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ทำให้วัฒนธรรมทิเบตแทบจะเลือนหายไปหมด อีกประเด็นหนึ่ง ที่น่าสนใจคือ ชาวทิเบตไม่รู้หนังสือเป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเขาเสียเปรียบชาวฮั่น ที่อพยพเข้ามาทำมาหากินในทิเบต และกอบโกยผลประโยชน์ทุก ๆ อย่าง จากการค้า การท่องเที่ยว รัฐบาลจีนสนใจแต่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวจีน โดยไม่ใส่ใจโครงการพัฒนาทางด้านสังคมอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวทิเบตเลย หลังการลี้ภัยมายังอินเดีย องค์ทะไลลามะได้เคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพให้กับทิเบต อย่างไรก็ตาม ไม่มีประเทศใดให้การรับรองเอกราชของทิเบต หรือกล่าวประณามว่า จีนละเมิดอธิปไตยทิเบต ข้อเรียกร้องที่นานาประเทศกล่าวประฌามจีน ก็เป็นเพียงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ด้วยผลประโยชน์มหาศาล ต่อการเข้าไปลงทุนในตลาดที่มีกำลังบริโภคถึง 1,300 ล้านชีวิต ดังนั้น หลังทศวรรษ 1970 ที่สหรัฐอเมริกาหันมาจับมือกับแผ่นดินใหญ่ พร้อมกับยุติการสนับสนุนขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชทิเบต การเคลื่อนไหวของชาวทิเบต จึงเน้นที่การเคลื่อนไหวอย่างสันติ เพื่อรักษาวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของตน อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องเอกราชก็ยังฝังรากอยู่ในสำนึกของพวกเขา แต่หากใช้มุมมองด้านกฎหมาย ระหว่างประเทศเข้ามาพิจารณา ข้อถกเถียงของรัฐบาลจีนย่อมมีน้ำหนักกว่าทิเบต เนื่องจากจีนไม่เคยยอมรับว่าทิเบตเป็นประเทศเอกราช และพยายามฟื้นฟูอำนาจเหนือดินแดนมาตลอดและก็ทำได้จริง นอกจากนี้ประชาคมระหว่างประเทศ ก็มิได้รับรองฐานะรัฐเอกราชของทิเบต (สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์  2551 : 3)  

ทิเบตเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของภูมิภาค อุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญ เช่น เหล็ก ทองแดง บอแรกซ์ ยูเรเนียม โครไมท์ และทองคำ นอกจากนั้นยังมีหินอ่อนและหินแกรนิต เมื่อจีนยังไม่ได้เข้ามายึดครองทิเบตนั้น ชาวทิเบตยังชีพด้วยการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ในด้านอาหารการกินทิเบตปลูกข้าวบาร์เล่ย์พอกินในประเทศ บริโภคเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงไว้มากคือ จามรี หรือแย็ก (สัตว์ใหญ่สี่เท้า มีเขาเหมือนควายและมีขนรุงรังตามตัว) ประมาณว่าในทิเบตมีการทำฟาร์มปศุสัตว์มากที่สุดในภูมิภาคนี้ มีจำนวนถึง 21 ล้านตัว ส่วนการค้าขายเกิดขึ้นโดยพ่อค้าเร่นำสินค้ามาจากต่างถิ่น หรือนักแสวงบุญเอาสิ่งของเครื่องใช้มาแลกเปลี่ยนกับอาหาร จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของทิเบต สินค้าเข้าที่ทิเบตต้องการ และนำเข้าจากจีนคือ ใบชา เครื่องกระเบื้องเคลือบ เหล็ก และทองแดง ส่วนสินค้าออกของทิเบต คือ ขนสัตว์ และหนังสัตว์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทำให้ทิเบตเป็นที่รู้จักและเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก การท่องเที่ยวนำเงินรายได้มาสู่ชาวทิเบต แต่ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวก็ทำลายความบริสุทธิ์สวยงามของธรรมชาติและวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม พระสงฆ์ตามวัดในทิเบตถูกนักท่องเที่ยวรบกวนจนไม่มีเวลาและสมาธิที่จะศึกษาพระธรรมวินัย บางวัด พระสงฆ์ต้องคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาเยือนอย่างไม่ขาดสาย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนำเอาสิ่งที่ชาวทิเบตไม่รู้จักมาก่อน เช่น โรงน้ำชา ดิสโก้เธค ห้องคาราโอเกะ บาร์ และร้านค้า เข้ามาแพร่หลายในทิเบต เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของขาวทิเบตไปจากเดิมมากมาย (ศุภลักษณ์  สนธิชัย 2548 : 29-30)

ห้าสิบปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของจีน วิถีชีวิต สภาพบ้านเมือง และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในทิเบตถูกทำลายลงไปมาก สิ่งที่องค์ทะไลลามะเป็นห่วง และต้องการมากยิ่งกว่าการได้ประเทศคืน คือการได้ปกป้องทิเบตจากการถูกคุกคามทำลายธรรมชาติ และลิดรอนสิทธิ ในการมีชีวิตและความเชื่อแบบทิเบต แม้ว่า สิทธิในการเรียกร้องอิสรภาพ เป็นประเทศอิสระนั้น เป็นของชาวทิเบตและองค์ทะไลลามะอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมองจากมุมมอง หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใด แต่องค์ทะไลลามะและชาวทิเบตส่วนใหญ่ ก็เลือกที่จะรักษาสิ่งที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ยิ่งกว่าการมีประเทศเป็นของตนเอง รูปแบบเขตปกครองตนเองที่องค์ทะไลลามะเรียกร้องนั้น คือการที่จีนอนุญาตให้ทิเบตมีรูปแบบการดำรงชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ทุนนิยมเสรีจากรัฐบาลจีน ทิเบตต้องการเป็นเขตปลอดทหารและอาวุธ รวมถึงการทดลองนิวเคลียร์ สิ่งที่ทิเบตต้องการจะทำและทำได้จริง ๆ คือ การเรียกร้องความเห็นใจจากโลกและจีน ให้มาดูแลเอาใจใส่แก้ปัญหาทิเบตอย่างจริง ๆ จัง ๆ ให้โอกาสทิเบตได้ปกครองตนเองอย่างแท้จริง ให้มีโอกาสใช้ชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างสงบสุข และทำให้เกิดสันติภาพขึ้นในประเทศทั้งสองนั่นเอง  ทิเบตเป็นประเทศที่อยู่บนเขาและเงียบสงบ มีธรรมชาติที่สวยงาม ปราศจากความวุ่นวายเร่งรีบ และชาวทิเบตก็มั่นคงในวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมของตนเอง มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มุ่งปฏิบัติขัดเกลาให้จิตใจสงบเยือกเย็น เพื่อจักเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิต ก็ด้วยวิถีชีวิตของชาวทิเบตที่ดำรงชีวิตอยู่กับธรรมะ หรือธรรมชาติอย่างมีความสุขเช่นนี้ จึงขอขนานนามทิเบตว่าเป็น “ประเทศธรรมะ” หรือ ประเทศ “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (Tibet: The Land of Dhamma) จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เมื่อทิเบตถูกประเทศเพื่อนบ้านคือจีนเข้ายึดครอง และยัดเยียดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ตามที่ตนเองต้องการ และอพยพผู้คนเข้าไปอยู่ในทิเบต แม้ว่าชาวทิเบตนั้นมั่นคงในวิถีชีวิตของตนเอง แต่สิ่งเหล่านี้ก็ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวทิเบต ผู้รักสงบสันติ โลกปัจจุบันของเรา ค่อนข้างมีความสับสนวุ่นวาย ทั้งจากผู้ก่อการร้าย การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน (พระมหารุ่งเพชร ติกฺขวชิโร  2537 : 172-173)

           ดังนั้น องค์ทะไลลามะ จึงทรงมีบทบาทสำคัญในการทรงเสนอและรณรงค์ให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ตามแนวเทือกเขาหิมาลัยได้ดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างมีสันติสุข ปัจจุบัน 2559 ชาวทิเบตหนึ่งแสนกว่าคนที่อินเดีย แม้พลัดประเทศมาแล้ว 57 ปี แต่ชาวทิเบตที่อินเดียก็ยังมั่นคงและดำรงวัฒนธรรมของตน ย่อมเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่สามารถบอกได้ว่า “ถึงพลัดถิ่นหรือพลัดประเทศ แต่ก็ไม่พลัดวัฒนธรรม” (พระมหารุ่งเพชร ติกฺขวชิโร  2537 : 186-187)

 บทสรุป

องค์ทะไลลามะ ได้รับการขนานพระนามว่า มหาสมุทรแห่งปัญญา ทรงเป็นผู้นำจิตวิญญาณและผู้นำสูงสุดแห่งทิเบต ผู้ทรงเป็นกัลยาณมิตรในทางธรรมอันประเสริฐ เลิศด้วยจรรยาและปรีชาญาณ เป็นที่รู้จักกันในนามว่า เท็นซิน กยัตโส ผู้ทรงเป็นยอดดวงมณีสารพัดนึก และองค์นิรมานกายของพระพุทธเจ้า ในภาคแห่งมหากรุณาธิคุณ หรือพระอวโลกิเตศวร ทรงเป็นรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้แสวงหาเสรีภาพและสมานฉันท์โดยสันติวิธี ทรงเป็นพระประมุขทั้งฝ่ายศาสนจักรและอาณาจักร ทรงมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพ การเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การอนุรักษ์วัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กับชาวทิเบต โดยที่พระองค์ทรงเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ และนานาอารยประเทศ ได้เห็นถึง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การเบียดเบียนระหว่างชนชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การทำลายทางวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจีน ที่กระทำต่อประชาชนชาวทิเบตตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

องค์ทะไลลามะ ทรงเสนอแผนสันติภาพ 5 ประการ คือ ยกระดับให้ทิเบตเป็นเขตสันติภาพ ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ยุตินโยบายขยายประชากรจีนเข้าไปในทิเบต ซึ่งถือเป็นการกลืนชาติ เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และอิสรภาพในประชาธิปไตย ฟื้นฟูและป้องกันสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของทิเบต และมีการเจรจาอย่างจริงจังถึงฐานะในอนาคตของทิเบต และสัมพันธภาพที่ดีระหว่างทิเบตกับจีน นอกจากจะทรงเรียกร้องแผนสันติภาพดังกล่าวแล้ว องค์ทะไลลามะ ยังทรงปลูกฝังจิตสำนึก ความภาคภูมิใจในดินแดนมาตุภูมิ โดยการก่อตั้งระบบการศึกษา ที่จะสั่งสอนอบรมเกี่ยวกับค่านิยมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของทิเบต โดยทรงใช้วิธีการสอนแบบสมัยใหม่ ทรงตระหนักถึงข้อเสีย และความไม่ยุติธรรมของระบบเก่า ทรงใส่พระทัยในชนชั้นล่างของสังคม

          องค์ทะไลลามะ ทรงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาทางธรรม เป็นตัวอย่างที่ยังมีลมหายใจของภิกษุผู้ประเสริฐสุดของพระพุทธศาสนา เป็นนักปฏิบัติที่เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ เป็นผู้สอนโพธิสัตวมรรคทั้งทางด้านจริยธรรม ศาสนธรรม และปรัชญา ทรงใช้พระราชอำนาจแห่งองค์ประมุขนิกายตันตระได้อย่างมีพลังและน่าภาคภูมิใจ และทรงชี้ให้เห็นว่า จริยธรรมนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อนักการเมือง เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติธรรมในศาสนา คุณสมบัติของมนุษย์ อาทิ การมีศีลธรรม มีเมตตากรุณา รู้จักรับผิดชอบชั่วดี และมีปัญญา เหล่านี้เป็นพื้นฐานของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่

พระองค์ไม่เพียงทรงสอนให้ผู้คนตระหนักถึงแก่นแท้ ของความเป็นมนุษย์ ในการรักและเมตตากรุณาต่อผู้อื่น หากยังทรงดำรงตนเป็นแบบอย่างอันประเสริฐให้แก่ผู้คน แนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่พระองค์ทรงมอบไว้ให้ ไม่เพียงจะนำสันติสุขมาสู่ใจของผู้นำไปประพฤติปฏิบัติ หากเมื่อเราต่างเป็นสิ่งแวดล้อมของกัน    และกัน อนึ่ง โลกของเราค่อนข้างมีความสับสนวุ่นวาย ทั้งจากผู้ก่อการร้าย การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน องค์ทะไลลามะแม้ทรงลี้ภัยที่อินเดีย แต่พระองค์ก็ทรงเสนอและรณรงค์ให้ทิเบตเป็นเขตสันติภาพ ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ และให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ตามแนวเทือกเขาหิมาลัยได้ดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างมีสันติสุข

          สันติภาพ คือ การที่คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่มีความขัดแย้งกัน เคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน เป็นพื้นฐานของความก้าวหน้า ความสุขและความงอกงาม เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของชีวิต สันติภาพไม่ได้เป็นเพียงการปราศจากสงครามเท่านั้น หากแต่เป็นสถานะของจิตใจ หรืออารมณ์แห่งความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น มีความรัก มีความรู้สึกว่าเป็นพี่น้องกัน เคารพและห่วงใยผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรง เหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อนึ่ง องค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ได้กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้ผู้นำทางศาสนาร่วมกันส่งเสริมสันติภาพ เนื่องใน "วันสันติภาพสากล" ณ กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี โดยทรงคาดหวังว่าศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษแห่งความสงบสุข เนื่องจากตลอดศตวรรษที่ผ่านมานั้น เต็มไปด้วยสงครามและความไม่สงบมากมายทั่วทุกมุมโลก หนทางที่จะนำโลกไปสู่สันติภาพได้นั้น ประชาคมโลกจะต้องร่วมกันบริหารจัดการความขัดแย้งทางความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง การนิยมความรุนแรง ความเชื่อสุดโต่งทางศาสนา ทัศนคติที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง ด้วยการพูดคุยเจรจา ในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค ความรัก ความเมตตา โดยที่องค์ทะไลลามะได้ทรงเรียกร้องให้ศาสนาทุกศาสนาที่มีแนวคิดเรื่องความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ปรับทัศนคติเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาของตนให้ถูกต้อง ร่วมกันผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

 จากการที่ได้ศึกษาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ทะไลลามะ จะเห็นได้ว่า องค์ทะไลลามะนั้น ทรงเป็นผู้นำที่มีบทบาทในการสร้างสันติภาพ การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การอนุรักษ์วัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รูปแบบการปกครองตนเอง ในวิถีทางแห่งสันติและเมตตา ทำเมตตาให้เป็นเหตุผล มองให้เห็นพุทธะแห่งการุณยธรรมภายในตน ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของชาวทิเบตและของโลกทั้งมวล บทบาทและคำสอนพระองค์ ซึ่งเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต จึงได้รับการตอบรับจากนานาอารยประเทศ และนำสันติภาพมาสู่จิตใจของมวลมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

เนื้อหาโดย: Sirawat Kro0404
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Sirawat Kro0404's profile


โพสท์โดย: Sirawat Kro0404
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
5 VOTES (5/5 จาก 1 คน)
VOTED: Sirawat Kro0404
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
น้ำท่วมสถานีรถไฟเชียงใหม่แทบจำไม่ได้!!รวมมีมใจเกเร สไลด์คลายเครียดประจำวันอหิวาต์ระบาดหนักในไนจีเรีย ติดเชื้อเกินหมื่นและดับนับร้อยสาวตั้งกฎหากผู้ชายต้องการจูบเธอ ต้องปฏิบัติตามกฎ 3 ข้ออย่างนี้เคร่งครัด เพราะเธอมีอาการแพ้อย่างรุนแรงนครชัยแอร์ผู้มาก่อนการอิสราเอลโจมตีมัสยิดในกาซา ดับคนดับเจ็บเกือบร้อยสิ่งที่ควรบอกตัวเอง เมื่อต้องรับมือกับการสูญเสียคนรักโดยไม่ทันได้ตั้งตัว การสูญเสียสิ่งที่ผูกพันบางสิ่งบางอย่างโรคลืมใบหน้า (Prosopagnosia) จำหน้าคนไม่ได้ แม้แต่หน้าคนใกล้ชิด ความผิดปกติทางสมองที่ทำให้ลืมใบหน้ารวมภาพเรียกรอยยิ้มประจำวันนี้ วันที่ฟ้าครึ้มๆทั้งวัน วันนี้มีบอลคู่ใหญ่ อาจจะมีเปลี่ยนโค็ชได้เด้อครับเด้อบรรยากาศสบายๆ ที่เกาะล้าน ทะเลใกล้กรุงเทพฯมีอะไรมากมายให้เรียนรู้ แม้จะมาจากครูที่แย่ที่สุดบ็อกการ์ต ผู้คุมวิญญาณ ความกลัว และความสิ้นหวัง
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
สาวตั้งกฎหากผู้ชายต้องการจูบเธอ ต้องปฏิบัติตามกฎ 3 ข้ออย่างนี้เคร่งครัด เพราะเธอมีอาการแพ้อย่างรุนแรงศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยชี้แจง:กรณีน้ำท่วมปางช้างเชียงใหม่อหิวาต์ระบาดหนักในไนจีเรีย ติดเชื้อเกินหมื่นและดับนับร้อยแจงข่าวรถทัวร์ควันพุ่งการขโมยดวงคืออะไร ?..ทำได้จริงๆ หรือความมหัศจรรย์ของงวงช้าง ช่างน่าทึ่งจริงๆน๊า ^_^
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
บ็อกการ์ต ผู้คุมวิญญาณ ความกลัว และความสิ้นหวัง'ศาสตราจารย์ผู้แข็งแกร่ง' แต่อดีตเต็มไปด้วยความทุกข์ระทมวิธีการจัดการอาหารและน้ำดื่มสะอาดในช่วงน้ำท่วมจักรพรรดิ​ผู่อี๋ ในพระราชวัง​ต้องห้าม
ตั้งกระทู้ใหม่