โรคลืมใบหน้า (Prosopagnosia) จำหน้าคนไม่ได้ แม้แต่หน้าคนใกล้ชิด ความผิดปกติทางสมองที่ทำให้ลืมใบหน้า
โรคลืมใบหน้า หรือ ภาวะลืมใบหน้า (Prosopagnosia) หมายถึง เป็นความผิดปกติทางสมองที่ทำให้ไม่สามารถจดจำ และแยกความแตกต่างของใบหน้าได้ มักมีอาการผิดปกติตั้งแต่เกิด แต่บางคนอาจเกิดภาวะนี้หลังจากสมองได้รับความกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุหรือป่วยเป็นโรคทางสมอง ผู้ป่วยโรคลืมใบหน้านั้นอาจจะไม่สามารถจดจำได้แค่เฉพาะใบหน้าของมนุษย์ด้วยกัน มีบางส่วนที่อาการนั้นจะครอบคลุมไปถึงความสามารถในการจดจำ และรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว อย่างเช่น สัตว์เลี้ยง รถยนต์ หรือสิ่งของเครื่องใช้อีกด้วย
ผู้ป่วยโรคลืมใบหน้าส่วนใหญ่มักจะมีเทคนิคในการจดจำคนแทนการจำใบหน้า ด้วยการจำลักษณะท่าทาง การพูด การแสดงออก รูปร่าง การแต่งกาย ทรงผม เสียง หรืออะไรก็ตามที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อให้สามารถแยกแยะคนออกจากกันได้ เทคนิคเหล่านี้ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน และไม่ได้ผลทุกครั้ง โดยเฉพาะเวลาที่ต้องพบเจอกับคนใหม่ ๆ
Prosopagnosia เป็นภาวะที่พบได้น้อยเพียง 2% ของประชากรทั่วไป ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจไม่สามารถจดจำใบหน้าของคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือแม้แต่ใบหน้าของตัวเอง ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
อาการ
- ไม่สามารถจดจำใบหน้าของคนใกล้ชิดได้ พวกเขาจะไม่สามารถนึกหน้าของคนที่รู้จักได้ แม้ว่าจะใกล้ชิดสนิทสนมกับเขาเพียงใด
- สับสนกับตัวละครในหนังมากกว่าคนอื่น ผู้ที่เป็นโรคลืมใบหน้ามักจะไม่ชอบที่จะดูภาพยนตร์หรือละคร เนื่องจากพวกเขามักจะชอบสับสน และไม่สามารถแยกแยะตัวละครออกจากกันได้
- จำไม่ได้แม้แต่หน้าตัวเอง ผู้ป่วยโรคลืมใบหน้าบางคน อาจจะไม่สามารถจดจำได้แม้แต่กระทั่งกับใบหน้าของตัวเอง โดยเฉพาะเวลามองมองรูปถ่ายแล้วไม่สามารถระบุได้ว่าตัวเองคือคนไหน
- เขาจะจำคุณไม่ได้หากคุณเปลี่ยนทรงผม ผู้ป่วยโรคลืมใบหน้าส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้วิธีในการจดจำทรงผมแทนการจำใบหน้า ดังนั้นหากคุณเปลี่ยนทรงผม ก็อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถจำคุณได้
- ไม่สามารถจดจำและจำแนกความแตกต่างของใบหน้า การแสดงออกทางสีหน้า อายุหรือเพศของผู้อื่นได้โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้พบหน้ากันในสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยมาก่อน
- ในบางรายอาจมีปัญหาในการจดจำวัตถุ สถานที่ และเส้นทางด้วย
Prosopagnosia อาจทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกับผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่ โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety) และโรคซึมเศร้า อีกทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก มีปัญหาในการทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
สาเหตุ
โดยสันนิษฐานว่า เกิดจากความผิดปกติ หรือความเสียหายของสมองซีกขวาส่วนที่เรียกว่า Fusiform Gyrus ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประมวลผลและการจดจำภาพใบหน้า
ภาวะ Prosopagnosia แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ภาวะลืมใบหน้าแต่กำเนิด (Congenital หรือ Developmental Prosopagnosia) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ในผู้ที่มีภาวะนี้ โดยเชื่อกันว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เนื่องจากมักพบคนในครอบครัวมีอาการของภาวะลืมใบหน้าเช่นเดียวกัน ในผู้ป่วยเด็กอาจไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะนี้จนกว่าจะโตขึ้น และเริ่มเข้าสังคม
ภาวะลืมใบหน้าแต่กำเนิดอาจพบในเด็กที่เป็น โรคออทิสติก (Autistic) โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome) และกลุ่มอาการวิลเลียม (Williams Syndrome) ส่งผลให้เด็กมีความผิดปกติทางร่างกาย และพฤติกรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคมยิ่งขึ้น
- ภาวะลืมใบหน้าจากการได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง (Acquired Prosopagnosia) อาจเกิดจากการได้รับแรงกระแทกบริเวณศีรษะจากอุบัติเหตุโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท (Neurodegenerative Diseases) อย่างเช่น โรคจิตเภท โรคอัลไซเมอร์ และโรคซึมเศร้า
หลังจากได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง ผู้ป่วยจะรับรู้ได้ว่าตัวเองสูญเสียความสามารถในการจดจำใบหน้าคนรู้จักไป แม้จะได้รับการรักษาก็อาจไม่สามารถกลับมาจดจำใบหน้าได้เหมือนเดิม
ผลกระทบ
- การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถจดจำใบหน้าผู้อื่นได้ และการจะหวังพึ่งการจำทรงผม เสื้อผ้า น้ำเสียง หรือท่าทาง ก็ไม่สามารถช่วยได้เสมอไป ดังนั้นการจะสานสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรักหรือเพื่อนร่วมงานจึงเป็นไปได้ยาก
- ส่งผลกระทบได้ถึงหน้าที่การงาน เพราะการที่พวกเขาไม่สามารถจดจำใบหน้าได้ จึงเป็นการจำกัดเส้นทางใช้ชีวิตบางส่วนไป การจะไปติดต่อลูกค้า หากเราไม่สามารถจำหน้าลูกค้าได้ ก็อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาในภายหลัง
- ผู้ที่เป็นโรคลืมใบหน้านั้นมักจะหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จนสุดท้ายก็กลายเป็นโรคหวาดกลัวการเข้าสังคมไปในที่สุด หากผู้ป่วยโรคลืมใบหน้านั้นไม่สามารถจดสิ่งของรอบตัวได้ ก็จะสิ่งสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นอีกด้วย
การรักษา
ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวิธีการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับการรักษาโรคลืมใบหน้า นักวิจัยได้พยายามหาสาเหตุในการเกิดโรค และพยายามพัฒนาโปรแกรมการฝึกที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคลืมใบหน้าสามารถจดจำใบหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่คาดการณ์กันว่า กลยุทธ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลืมใบหน้าให้สามารถกลับมาจดจำใบหน้าได้ดังเดิมนั้น อาจจะได้ผลเฉพาะกับผู้ที่กำลังเริ่มมีอาการของโรคลืมใบหน้าเท่านั้น
หากมีอาการเข้าข่ายภาวะลืมใบหน้า ผู้ป่วยอาจถูกส่งตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทจิตวิทยา เพื่อสอบถามอาการและทดสอบความสามารถในการจดจำลักษณะของใบหน้าของผู้ป่วย อย่างเช่น ให้ดูภาพคนดัง และบอกชื่อของบุคคลเหล่านั้น ระบุความเหมือน และความต่างของรูปภาพใบหน้าที่วางไว้ข้างกัน ทายอายุ เพศ หรืออารมณ์คนอื่นโดยดูจากใบหน้า
นอกจากนี้ อาจตรวจการทำงานของดวงตา ตรวจภาพถ่ายรังสีสมอง และให้ผู้ป่วยทำแบบทดสอบสมรรถภาพสมอง เพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ละเอียดขึ้น ผู้ที่สงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการของ Prosopagnosia ไม่ควรเชื่อผลจากการทำแบบทดสอบออนไลน์ แต่ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยที่เหมาะสม