มรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย
‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดย UNESCO
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือ เมืองโบราณศรีเทพ อาณาจักรโบราณตั้งแต่ยุคทวารวดีที่มีอายุกว่า 2,500 ปี กำลังได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของ UNESCO เป็นที่เรียบร้อยแล้วหลังจากมีการพิจารณาความเหมาะสม ก่อนที่จะมอบรางวัลมรดกโลกนี้ ในช่วงวันที่ 10 - 25 ก.ย.นี้ ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
เมืองโบราณศรีเทพ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มห่างจากแม่น้ำป่าสักไปทางทิศตะวันออกประมาณ 4 กิโลเมตร ในเขตอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบและมีคูน้ำ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ เมืองชั้นในและเมืองชั้นนอก ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 4.7 ตารางกิโลเมตรจากการสำรวจของนักโบราณคดี เมืองโบราณศรีเทพเป็นที่ตั้งของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่เจริญรุ่งเรืองในลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสักเมื่อ 1,700-1,500 ปีก่อน ก่อนจะรับเอาวัฒนธรรมอินเดียและเขมรโบราณ รวมทั้งพัฒนากลายเป็นศูนย์กลางเมืองทวารวดีในศตวรรษที่ 6-11 และค่อยๆ ล่มสลายเนื่องจากการเกิดใหม่ของเมืองละโว้และพิมายในช่วงปลายศตวรรษที่ 13
โดย UNESCO ได้ให้เหตุผลไว้สำคัญ 3 ประการในการขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพว่า
- ศรีเทพเป็นเมืองที่มีความได้เปรียบด้านทำเลภูมิศาสตร์และใช้ที่ดินได้อย่างชาญฉลาด จนช่วยเพิ่มการเติบโตอย่างมั่นคงของการค้าและวัฒนธรรม
- เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและศาสนาที่หลากหลาย มีการรับและถ่ายทอดความเชื่อจาก 2 วัฒนธรรมใหญ่ คือ พุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบทวารวดี กับศาสนาฮินดูและพุทธมหายาน จนทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างทางวัฒนธรรมมากมายที่โดดเด่น
- มีความคิดสร้างสรรค์และงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ โดย ฌอง บัวเซลิเยร์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ยืนยันว่า ศิลปะของเมืองโบราณศรีเทพมีความโดดเด่นแตกต่างจากประติมากรรมขอมโบราณ ทั้งวิธีการแกะสลักและลักษณะสัญลักษณ์ต่างๆ สิ่งนี้สะท้อนภูมิปัญญาและความโดดเด่นของชุมชน
สำหรับการได้รับการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ ส่งผลให้เมืองโบราณศรีเทพกลายเป็นแหล่งมรดกโลกอันดับที่ 7 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของประเทศ