กลยุทธ์ฝึกวินัยให้เด็กๆตามอายุ คำแนะนำโดยกุมารแพทย์
การสร้างนิสัยมีวินัยให้กับลูกๆ แต่ละช่วงวัย ไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถใช้กลยุทธ์เดียวกันกับเด็กทุกวัย แน่นอนว่าเด็ก 2 ขวบ กับ 10 ขวบ ย่อมมีวิธีการที่ต่างกันเพื่อเหมาะกับช่วงวัยและการเรียนรู้ของลูกๆ และยิ่งไปกว่านั้น การลงโทษไม่ใช่วิธีที่ดี และไม่ควรใช้! พ่อแม่ผู้ปกครองควรใช้วิธีปรับพฤติกรรมของลูกๆ แทนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อให้เด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงทางจิตใจและสังคม
วันนี้ มีกลยุทธ์ที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่ดีมาฝาก ซึ่งแนะนำโดยกุมารแพทย์
เด็กอายุ 1-2 ขวบ อยู่ในระยะที่เด็กหัดเดินตอนต้น กำลังขากำลังมาพวกเขาจะเริ่มออกสำรวจโลกของตัวเอง ฉะนั้น ปล่อยให้นักสำรวจได้ออกเดินทางตามประสาพวกเขา เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ปล่อยให้ลูกๆ อยู่เพียงลำพัง และสิ่งสำคัญคือคอยเป็นผู้ช่วยไม่ให้เด็กๆทำสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตัวเองหรือต่อผู้อื่น
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือ
- เด็กวัยหัดเดิน กลัวการถูกทอดทิ้ง ฉะนั้น อย่าปล่อยให้นักสำรวจตัวน้อยรู้สึกว่าพวกเขาถูกทอดทิ้ง
- ทำนองเดียวกันกับการกลัวถูกทอดทิ้ง นั่นคือ อย่าทำให้พวกเขารู้สึกถึงการไม่มีใครรัก ความรักของคุณพ่อคุณแม่คือพลังงานสำคัญของแต่ละก้าวในการสำรวจโลกของพวกเขา
- ทักษะทางภาษาของลูกวัยหัดเดินยังไม่พัฒนา พวกเขายังไม่สามารถตีความหรือตอบสนองต่อข้อห้ามและคำอธิบายที่ยืดยาวได้ สรุปสั้นๆคือ ลูกๆ ยังไม่เข้าใจข้อห้ามหรือกฎกติกาอะไรทั้งนั้น ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นเพื่อนร่วมทางที่ดีในการสำรวจโลกของเขา การพูดอะไรมากมายอาจไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม
ให้คุณพ่อคุณแม่ทำสิ่งเหล่านี้แทน คือ
- ย้ายลูกๆ วัยหัดเดินออกจากพื้นที่ที่อาจเกิดอันตราย เช่น สิ่งของ หรือกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่นั้นๆ หรือหากจะใช้คำว่าห้ามว่า “ไม่” ให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายสั้นๆ เช่น “ ไม่..มันร้อน” คำอธิบายสั้นๆ ไม่ซับซ้อน เป็นภาษาที่ลูกวัยหัดเดินสามารถเข้าใจได้
- เปลี่ยนความสนใจของลูก ให้หันออกจากวัตถุ หรือพื้นที่ๆไม่ปลอดภัยแทนการห้าม หรือดุ
- อยู่ใกล้ชิดกับเด็กๆ เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกได้ถึงการได้รับความรัก การปกป้องเมื่อพวกเขาอาจเจอสิ่งที่เป็นอันตราย
เด็กอายุระหว่าง 2 – 3 ขวบ พัฒนาการและความพยายามในการหัดเดินของเด็กๆ จะต่อเนื่อง พวกเขาจะเริ่มต้องการอิสระและกล้าแสดงออกมากขึ้น แต่การเรียนรู้ก็มีข้อจำกัด ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่ความคับข้องใจและการมีอารมณ์ฉุนเฉียว(อันน่าสะพรึงกลัวและยาวนาน)
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือ
- การออกคำสั่งห้ามในสิ่งต่างๆ
- การไม่สนใจเด็กๆ โดยคิดว่าเด็กๆจะควบคุมตัวเองได้เอง ซึ่งมันจะไม่เป็นอย่างนั้น
- การตีก้นเด็กๆอยู่เสมอ
ให้คุณพ่อคุณทำในสิ่งเหล่านี้แทน
- ใช้ความเห็นอกเห็นใจลูกน้อย เพื่อคุณพ่อคุณแม่เองจะได้ไม่สูญเสียการควบคุมอารมณ์ ไม่แสดงความหงุดหงิด โกรธหรือขัดแย้งต่อต้านลูก
- พาเด็กๆ ออกจากที่เกิดเหตุ
- ช่วยให้เด็กๆ สงบลงด้วยการกอดหรือจับพวกเขาไว้ และพูดคุยกับเด็กๆ ว่าทำไมเด็กๆ จึงทำ(พฤติกรรม) หรือเล่นแบบนั้น เพราะบางทีอาจเป็นเพราะเด็กๆกลัว เครียด หรือเหนื่อยเกินไป
- อธิบายสถานการณ์ด้วยความใจเย็นและชัดเจน อย่าลืมปลอบโยนลูกๆ และแนะนำพฤติกรรมที่เหมาะสมให้ลูกได้เรียนรู้ด้วย
เด็กอายุระหว่าง 3-5 ขวบ ลูกๆวัยเข้าโรงเรียนอนุบาล ที่โรงเรียนเด็กๆ จะเริ่มเรียนรู้ที่จะยอมรับความจริงและข้อจำกัดต่างๆ แต่แน่นอนพวกเขาก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ในการทำความเข้าใจกฎเกณฑ์และการพัฒนาวิจารณญาณที่ถูกต้อง
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงคือ
- แม้เด็กๆจะเริ่มสื่อสารรู้เรื่องบ้างแล้ว แต่การอธิบายอะไรยาวๆ รายละเอียดเยอะๆ แถมอาจซับซ้อนอีก จะไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กๆ ตรงกันข้ามอาจส่งผลเสียแทน
- การข่มขู่ ไม่ว่ารูปแบบใด หากว่าการข่มขู่นั้นไม่มีผลใดๆตามมา สิ่งนี้จะสอนให้เด็กๆเรียนรู้ว่ากฎเกณฑ์ไม่มีผลอะไรเลย
ให้คุณพ่อคุณแม่ทำสิ่งเหล่านี้แทน
- กำหนดกติกา และบังคับใช้กฎให้สม่ำเสมอ ช่วงวัยนี้ลูกๆ สามารถเข้าใจกฎเกณฑ์และสามารถทำตามกฎได้แล้ว
- แนะนำหรือให้แนวทางแก่เด็กๆ ในการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม
- หากเด็กๆ มีปัญหาในการควบคุม ให้กำหนดการหมดเวลา โดยกำหนดเท่ากับอายุของเด็ก คือ 5 นาที
- ให้เด็กๆเรียนรู้เหตุและผลเชิงตรรกะ จากผลลัพธ์ของความประพฤติที่ไม่ดีของตัวเขาเอง
- ป้องกันพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ด้วยการชมเชยพฤติกรรมที่ดี เพราะช่วงวัยนี้เด็กๆ จะต้องการการรับรองสิ่งที่พวกเขาทำจากผู้ใหญ่
เด็กวัย 6 – 12 ปี เด็กวัยนี้จะได้รับอิสระภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะแสดงตัวตนที่พวกเขาเป็นต่อหน้าคุณแม่คุณแม่ และ/หรือเริ่มมีการขัดแย้ง เด็กๆ เริ่มสามารถเลือกเพื่อน รู้ความสนใจของตัวเองได้ ซึ่งนั่นหมายถึงคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยเหลือลูกๆ ในการตัดสินใจในสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากความสามารถในการวิเคราะห์การตัดสินใจของลูกๆ 6-12 ปี ยังไม่ละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบเท่าผู้ใหญ่
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง คือ
- การกำหนดบทลงโทษที่ไม่สมจริง เช่น การกักขังเด็ก
- การทำให้เด็กอับอายสำหรับพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ต่อหน้าผู้อื่น เด็กก็คือเด็ก อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญ คือ ต้นแบบ ตัวอย่างที่ดี ก่อนจะทำให้เด็กอับอายในสิ่งที่พวกเขาอ่อนหัดต่อโลก พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพิจารณาตัวเองก่อนว่า ได้เป็นต้นแบบ ตัวอย่างที่ดี ที่ถูกต้องให้เด็กๆ หรือยัง ?
- เมื่อมีการลงโทษทางวินัย สิ่งสำคัญคือ การพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นเหตุเป็นผล ไม่งั้นอำนาจของผู้ใหญ่จะถูกลบล้างไปได้
คุณพ่อคุณแม่ทำสิ่งเหล่านี้แทน
- ให้คำอธิบายที่สมเหตุสมผล โดยไม่ตัดสินพวกเขา
- ทำความเข้าใจพฤติกรรมตามวัยที่เหมาะสม เช่น ถ้าเด็กหญิงอายุ 6 ขวบแกว่งเท้าขณะนั่ง นั่นก็เพราะเธอคือเด็กหญิงอายุ 6 ขวบ (ไม่ใช่หญิงสาวอายุ 24 ปี!)
- คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองเมื่อกำหนดกฎกติกาของบ้านขึ้นมา ก็ต้องปฏิบัติตามด้วย นี่จะเป็นการยืนยันอำนาจของผู้ปกครอง
- ใช้การถอดถอนหรือชะลอสิทธิพิเศษ เช่น ของเล่น ขนมของหวาน โดยให้อยู่ในเงื่อนไขของความเป็นจริง
- ปล่อยให้ผลลัพธ์จากพฤติกรรมของพวกเขา ส่งผลต่อตัวเด็กๆเอง เพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้เหตุผลเชิงตรรกะ
เด็กอายุ 13 – 18 ปี เรารู้กันดีว่าวัยรุ่นเป็นวัยของการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ ค่านิยม และกติกาของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ทั้งนี้เพราะพวกเขาอยู่ในช่วงวัยของการทำความรู้จักกับตัวเอง ทั้งความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรมต่างๆ เพื่อยืนยันความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อจะได้ตีตัวออกห่างจากพ่อแม่ผู้ปกครองสักเล็กน้อย แนวโน้มพฤติกรรมจะไปในทางหุนหันพลันแล่น เรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งและความยากลำบากของการเติบโตก็ว่าได้ แต่นั่นแหล่ะ ความรักของคุณพ่อคุณแม่เป็นพลังสำคัญที่จะพาลูกๆก้าวข้ามช่วงวัยนี้ไปได้
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องหลีกเลี่ยง คือ
- การดูหมิ่นพวกเขา ต่อหน้าคนรอบข้าง โดยเฉพาะต่อหน้าผู้คนแปลกหน้า ในที่สาธารณะ
- สื่อสารกับพวกเขาตรงไปตรงมา อธิบายกับพวกเขาด้วยความสุภาพ โปร่งใส ให้ได้ความหมายที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย
- เลี่ยงคำพูด “ฉันบอกแล้ว” .. เด็กๆ อยู่ในช่วงวัยกำลังเรียนรู้โลกรอบด้านเพื่อก้าวไปเป็นผู้ใหญ่(ที่มีคุณภาพ) การลองผิดลองถูก(ถ้าไม่ใช่สิ่งที่เสียหายเกินแก้) พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหลีกเลี่ยงคำพูดที่ซ้ำเติมลูก
ให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองลองใช้เทคนิคเหล่านี้
- ตั้งกฎเกณฑ์ตามอายุของลูกๆ ในลักษณะไม่วิจารณ์
- ให้เด็กๆ เรียนรู้ผลลัพธ์ตามธรรมชาติของพฤติกรรมที่ผิดหรือไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องเผชิญหน้าไม่ใช้ความรุนแรง เช่น ถ้าพวกเขาเล่นฟุตบอลถูกกระจกหน้าต่างแตก ให้พวกเขาชดใช้ด้วยเงินค่าขนมหรือเงินเบี้ยเลี้ยงที่พวกเขาได้รับ
- สนทนาพูดคุยกับพวกเขาในเรื่องราวที่ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดที่ต้องอยู่ในกรอบในกฎเกณฑ์บ้าง พวกเขาจะรู้สึกเป็นอิสระ หรือรู้สึกดีกับการได้เป็นส่วนหนึ่งหากว่ามีการตัดสินใจใดๆ ในเรื่องนั้นๆ
- พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าถึงได้ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กๆ วัยสร้างตัวตน พวกเขาแสวงหาคำแนะนำ พวกเขาต้องการคำปรึกษา และการรับรองจากผู้ใหญ่ว่าสิ่งที่พวกเขาคิด ทำ ถูกต้องเหมาะสมหรือดีงามมีคุณค่าอย่างไร พวกเขาต้องการแนวทางในการปฏิบัติตนในการใช้ชีวิต แน่นอน... ผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนผ่านโลกมาก่อน ย่อมเป็นผู้มีประสบการณ์ที่ต้องสามารถแบ่งปันความรู้ประสบการณ์และบทเรียนชีวิตดีๆ ให้กับพวกเขาได้
ที่มา: bright side