ปลาร้าบอง "ปลาร้าสับ" อาหารอีสาน
ปลาร้าบอง หรือ แจ่วบอง มันเป็นอาหารอีสาน ทำโดยเอาปลาร้ามาสับรวมกับเครื่องสมุนไพรสดจนเข้ากันดี รสชาติเผ็ดเค็มนัวจากเนื้อปลาร้าปลากระดี่หรือปลาเล็กปลาน้อยอื่นๆ สับทั้งตัว เมื่อจ้ำข้าวเหนียวหรือคลุกข้าวสวยกินกับผักสดๆ
ปลาร้าบอง จะเอาไปผัดต่อก็ได้ เครื่องสมุนไพรและปลาหมักที่สุกในน้ำมันจะมีกลิ่นหอมขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง แต่รสก็จะอ่อนลงไปบ้าง
คนมักอธิบายคำว่า บอง ว่ามาจาก บ้อง ไม้ไผ่ ทำนองว่าเป็นสำรับที่ทำไว้กินได้นานๆ บรรจุในบ้องไม้ไผ่แห้ง สำหรับพกพาเดินทางไปไกลๆ คำอธิบายนี้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องเสบียงกรังของทหารโบราณระหว่างเดินทัพ หรือพรานป่าระหว่างออกล่าสัตว์ อีกทั้งยังอาจพ้องกับลักษณะการหมักปลาร้าของผู้คนแถบซำเหนือ สปป.ลาว และหลายแห่งในสกลนคร ที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้อธิบายไว้ในหนังสืออาหารไทย มาจากไหน? (พ.ศ. 2560) ว่าพวกเขาทำปลาแดกหมักบั้ง โดยหมักปลาสด เกลือ และรำในไม้ไผ่ป่าตากแห้ง แล้วปิดจุกด้วยใบผักแพว
นิยามความหมายของปลาร้าบอง หรือแจ่วบองของคนไทยในปัจจุบันได้เลื่อนมาอยู่ที่การปรุงรสแบบที่อธิบายมาข้างต้นหมดแล้ว
เมื่ออยากกินปลาร้าบองสักถ้วย นั่นจึงหมายถึงการควักปลาร้าจากไห วางกองบนเขียงใบใหญ่ สับด้วยมีดโต้จนเริ่มละเอียด จึงทยอยใส่เครื่องสมุนไพรสดหั่นซอย ซึ่งหลักๆ ก็มีข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง กระเทียม พริก อาจมีรากกระชายด้วยก็ได้ สับรวมกันไป
หากใครชอบรสเปรี้ยว ก็เพิ่มมะขามเปียกลงไปสับด้วย
เว็บไซต์เกี่ยวกับคำภาษาอีสานอธิบายคำนี้ไว้ว่า ปลาแดกบอง แปลว่า ปลาร้าทรงเครื่อง, ปลาร้าบอง เป็นการนำปลาร้ามาปรุงรสด้วยพริกป่น, ข่าสับ, ใบมะกรูดซอย, ตะไคร้ซอย บางท้องที่ใส่มะเขือเทศด้วย
อ้างอิงจาก: https://www.silpa-mag.com/from-the-fingertip/article_13721