ขั้วใต้ของดวงจันทร์...มีอะไร..ทำไมแข่งกันสำรวจ ???
ปัจจุบันมีประเทศมหาอำนาจหลายชาติ เช่น อเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่นและอินเดียพยายามแข่งขันแย่งกันสำรวจดวงจันทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้วใต้ คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ขั้วใต้ของดวงจันทร์มีอะไร ทำไมทุกประเทศถึงต้องส่งยานไปสำรวจที่นั่น คำตอบอาจอยู่ที่ “ทรัพยากรที่มีค่าที่สุด”สำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดวงจันทร์ นั่นคือ “น้ำ” และขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นบริเวณที่น่าสนใจเป็นพิเศษกับนักวิทยาศาสตร์เพราะการเกิดขึ้นของน้ำแข็งในพื้นที่เงาถาวรรอบบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ มีหลุมอุกกาบาตที่มีลักษณะเฉพาะเพราะเป็นที่แสงแดดส่องไม่ถึงภายในหลุมอุกกาบาต ดังนั้นหลุมอุกกาบาตบริเวณขั้วใต้จึงเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า “กับดักเย็น”ที่มีซากดึกดำบรรพ์ของไฮโดรเจน ไอน้ำและสารระเหยอื่นๆ ที่เกิดมาพร้อมกับระบบสุริยะในช่วงแรกเริ่ม ซึ่งตรงกันข้ามกับบริเวณขั้วเหนือของดวงจันทร์ซึ่งมีหลุมอุกกาบาตค่อนข้างน้อยกว่า
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นการสำรวจที่คุ้มค่า เพราะคาดว่าจะมีน้ำแข็งภายในหลุมอุกกาบาตในปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มนุษย์สามารถใช้สกัดเชื้อเพลิงและออกซิเจน ตลอดจนน้ำดื่ม นอกจากนี้ น้ำยังเป็นกุญแจสำคัญในการใช้ชีวิตบนดวงจันทร์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ การขุดค้นแร่บนดวงจันทร์ รวมถึงการตั้งฐานหรือจุดเชื่อมต่อสำหรับการเดินทางไปยังดาวอังคาร สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อการก่อสร้างสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบนดวงจันทร์ในอนาคตต่อไป
ขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตและร่องลึก ทำให้ยากต่อการลงจอด และเป็นโจทย์ท้าทายต่อเทคโนโลยีอวกาศของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งหากประเทศใดทำสำเร็จ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะมีความได้เปรียบในการสำรวจและเข้าถึงทรัพยากรอันมีค่าบนดวงจันทร์ก่อน ซึ่งขณะนี้ยานจันทรายาน-3 ของอินเดียซึ่งเป็นชาติแรกของโลกที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดบริเวณขั้วใต้ (South pole) ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยมีชาติไหนทำได้มาก่อน