ฝันร้าย
ฝันร้าย
ฝันร้าย ประสบการณ์ สิ่งที่มนุษย์ไม่อยากจะพบ ไม่อยากจะให้เกิดขึ้นกับตนเอง แต่ใครล่ะจะควบคุมมันได้ เพราะมันเกิดขึ้นตอนเรานอนหลับ มันน่ากลัว และมันยังตามหลอกหลอนเราเมื่อตื่นอีกด้วย
มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้มนุษย์ต้องประสบกับฝันร้าย
ความเครียดและความวิตกกังวล หนึ่งในสิ่งกระตุ้นให้เกิดฝันร้ายกับคนเรามากที่สุดนั่นก็คือความเครียด ความวิตกกังวล เมื่อมนุษย์ต้องรับมือกับความเครียดที่ต้องพบเจอในแต่ละวัน ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากเรื่องงาน ความสัมพันธ์ สถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต จิตใจของมนุษย์อาจยังคงเก็บและประมวลผลความเครียดที่ได้พบเจอมาเหล่านี้ต่อไปในระหว่างการนอนหลับ นำไปสู่ฝันร้ายยามค่ำคืน
อาการบาดเจ็บ คนที่ประสบเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจ ร่างกาย เช่น อุบัติเหตุ การถูกทำร้าย การถูกทารุณกรรม หรือการสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บต่อจิตใจหรือร่างกายเพียงเล็กน้อย หรือใหญ่มากมาย อาจทำให้เกิดฝันร้าย และฝันร้ายซ้ำ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความบอบช้ำทางจิตใจ ฝันร้ายเหล่านี้แสดงออกถึงจิตใต้สำนึกที่พยายามจะประมวลผลและรับมือกับความทรงจำที่ได้รับความกระทบกระเทือนมา
ยาและสารต่าง ๆ สำหรับยาบางชนิด สารกระตุ้นประสาทและแอลกอฮอล์บางชนิดก็สามารถรบกวนวงจรการนอนหลับตามปรกติ และเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดฝันร้ายได้
ความผิดปกติของการนอนหลับ ในบางคนเมื่อนอนหลับจะเกิดอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น อาการหยุดหายใจขณะหลับ อาการชักกระตุกของกล้ามเนื้อขณะหลับ อาการเหล่านี้จะไปรบกวนการนอนและส่งผลให้เกิดเป็นฝันร้ายได้
นิสัยการกินและการควบคุมอาหาร การรับประทานอาหารมื้อหนักหรือรสจัดเกินไปก่อนนอน หรือแม้แต่การกินน้อย อดอาหารก็สามารถเพิ่มโอกาสให้เกิดฝันร้ายได้ เพราะระบบภายในร่างกายต้องทำงานหนักเพื่อย่อยและดูดซึมไปอีกหลายชั่วโมงแม้มนุษย์จะหลับอยู่ ในบางรายที่อดอาหารก็ทำให้ร่างกายเกิดความเครียดและหลั่งสารบางอย่าง ส่งผลต่อกลไกการทำงานของร่างกาย จึงทำให้นอนหลับได้ไม่ดีและอาจทำให้ฝันร้ายได้ด้วย นอกจากนี้ อาหารและเครื่องดื่มบางชนิด เช่น คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ สามารถรบกวนระบบประสาทและส่งผลต่อการนอนหลับ นำไปสู่ฝันร้ายตามมาได้เช่นกัน
การอดนอน การนอนหลับไม่เพียงพอหรือมีรูปแบบการนอนที่ผิดไปจากปกติอาจส่งผลต่อระยะการนอนหลับ มันเป็นผลกระทบต่อเนื่องของระบบกลไกในร่างกาย เมื่อร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้ามาก ๆ ระบบประสาททำงานได้ไม่เต็มที่ สมองไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอตามระยะเวลาที่ควรจะเป็น เมื่อมีการนอนเกิดขึ้นจึงอาจทำให้ฝันร้ายได้
ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา สภาวะทางจิตใจก็มีส่วนสำคัญต่อการนอนหลับและฝัน เช่น บางรายมีภาวะเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล อาจทำให้บุคคลเหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดฝันร้ายมากขึ้น
จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ มนุษย์เรามีจินตนาการและความคิด แม้กระทั่งตอนที่คนเรานอนหลับ เซลล์ในสมองก็ยังทำงานอยู่ ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์รู้จักการจินตนาการและคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ในหัว อาจจะมีมากน้อยแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล แต่มันก็อาจจะทำให้เกิดฝันร้ายในบางคนได้เช่นกัน
สิ่งกระตุ้นภายนอก บางครั้งก็มีปัจจัยภายนอกที่มากระตุ้นให้คนเราฝันร้ายยามหลับ เช่น เสียงดัง อุณภูมิที่เปลี่ยนแปลงหรือสภาพแวดล้อมการนอนที่ไม่สะดวกสบาย อาจรบกวนจิตใจและทำให้เกิดฝันร้ายได้
ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข มนุษย์เราย่อมมีปัญหาส่วนตัว หรืออาจจะปัญหาส่วนรวม ความขัดแย้งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข อาจปรากฏในฝัน ทำให้กลายเป็นฝันร้ายได้ ความฝันเหล่านี้สามารถใช้เป็นหนทางให้จิตใจ จิตใต้สำนึกได้ทำงานเพื่อระบายผ่อนคลายปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในชีวิตยามตื่นและยังไม่ได้รับการแก้ไข
ฝันร้ายเป็นครั้งคราว ถือเป็นเรื่องปกติของประสบการณ์มนุษย์ อย่างไรก็ตามหากเกิดฝันร้ายบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ
รุนแรง หรือรบกวนส่งผลกระทบต่อการนอนหลับพักผ่อนในชีวิตประจำวัน การปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหรือนักบำบัดอาจเป็นประโยชน์และช่วยได้ การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือนักบำบัดจะสามารถช่วยระบุสาเหตุที่ซ่อนอยู่และให้คำแนะนำในการจัดการ ช่วยให้ลดฝันร้ายได้ รวมถึงอาจมีเทคนิคต่าง ๆ เช่น วิธีลดความเครียด แนวทางการผ่อนคลาย และวิธีการบำบัดพฤติกรรมและการรับรู้ สามารถแก้ไขฝันร้ายที่เกิดซ้ำ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้คุณนอนหลับและพักผ่อนได้อย่างเต็มที่