“มะม่วงหาวมะนาวโห่”หรือ “ต้นหนามแดง” มีประโยชน์ สรรพคุณทางยาจริงหรือไม่???
"มะม่วงหาวมะนาวโห่" มีประโยชน์ และโทษอย่างไร
ในประเทศไทยก็มีพืชผักและผลไม้หลายชนิดที่มีสารสำคัญที่นำมาเป็นยารักษาได้ หรือมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกายหนึ่งในนั้นคือ “มะม่วงหาวมะนาวโห่”
มะม่วงหาวมะนาวโห่ เป็นผลไม้ที่กำลังได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย ในแง่ของสรรพคุณการรักษาโรค โดยผลไม้ชนิดนี้เป็นผลไม้ท้องถิ่นที่ให้รสเปรี้ยวนำและออกรสหวานเล็กน้อย หากปล่อยให้ผลสุกจัดจากสีแดงจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ
ลักษณะทั่วไปของมะม่วงหาวมะนาวโห่
มะม่วงหาวมะนาวโห่ มีอีกชื่อว่า ต้นหนามแดง หรือบ้างก็เรียกกันว่า มะนาวไม่รู้โห่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Carissa carandas Linn. อยู่ในวงศ์ Apocynaceae หรือที่รู้จักกันในวงศ์ต้นตีนเป็ดนั่นเอง เป็นพืชที่สามารถเก็บเกี่ยวผลได้ตลอดทั้งปี โดยมีลำต้นสูงประมาณ 2 – 3 เมตร แต่สามารถสูงได้มากที่สุดถึง 5 เมตร ลำต้นมียางขาว เปลือกสีเทา มีหนามยาว มีกิ่งเป็นจำนวนมาก และกิ่งมีความแข็ง
- มีลักษณะใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายใบกลมหรือเว้าบุ๋ม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงเนื้อใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง
- ดอกกระจุกออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวหรือชมพูอ่อน เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 กลีบ
- ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรี ขนาดเท่าหัวแม่มือเป็นพวง มีเมล็ดจำนวนมาก เป็นผลไม้ที่มีเนื้อสด เนื้อนุ่มรับประทานได้ ผลอ่อนจะมีลักษณะเป็นสีขาวอมชมพู มีน้ำยางมาก และค่อยๆ เข้มขึ้นเป็นสีแดง จนกลายเป็นสีดำเมื่อสุกเต็มที่ มีรสชาติเปรี้ยว
- สารเคมีที่พบในผล ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ฟลาโวนอยด์ ไตรเทอร์ปีนส์ และพวกโปรตีน เช่น Alanine, Glycine, Glutamine เป็นต้น ลำต้นและรากพบสารลิกแนน ใบพบสารไตรเทอร์ปีนส์ และสเตียรอยด์
วิธีการปลูกและการดูแลรักษามะม่วงหาวมะนาวโห่
มะม่วงหาวมะนาวโห่ มักนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกและผลที่สวยงาม และออกดอกตลอดปี ทนต่อสภาพอากาศได้ดี จึงพบว่าเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนและเขตอบอุ่น อีกทั้งยังสามารถเติบโตได้ดีในเขตดินทราย และในดินเกือบทุกชนิด ตั้งแต่ดินเค็มไปจนถึงดินเปรี้ยว แต่มะมะม่วงหาวมะนาวโห่จะให้ผลผลิตที่ดีในสภาพดินที่มีความสมบูรณ์ และต้องมีการระบายน้ำที่ดีด้วย เพราะเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อยมาก
การขยายพันธุ์
โดยปกติแล้ว นิยมขยายพันธุ์มะม่วงหาวมะนาวโห่ด้วยเมล็ด ซึ่งเมล็ดของพืชชนิดนี้มีอายุการเก็บรักษาสั้น ดังนั้น หลังจากแยกเมล็ดออกจากผลแล้วจึงควรเพาะพันธุ์เมล็ดทันที ซึ่งการเพาะปลูกนิยมทำในโรงเรือนช่วงเดือนสิงหาคม และต้องย้ายเมื่อต้นกล้าอายุได้ 1 ปี
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ผลของมะม่วงหาวมะนาวโห่จะเริ่มแก่เมื่อมีอายุได้ 100 – 110 วัน หลังจากติดผล จากนั้นจะเริ่มสุก สังเกตได้ว่าผลจะเริ่มนุ่ม และเปลี่ยนไปสีม่วงเข้ม รวมเวลาแล้วประมาณ 120 วันหลังติดผล ซึ่งควรเก็บผลไว้ในที่ร่ม โดยสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้นานถึง 1 สัปดาห์ ส่วนระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวนั้น จะมีส่วนสำคัญต่อการรักษาปริมาณสารสำคัญและสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าการเก็บเกี่ยวผลสุกจะให้สารต้านอนุมูลอิสระได้สูงที่สุด
คุณค่าทางโภชนาการของมะม่วงหาวมะนาวโห่
- ผลสุก 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 75 กิโลแคลอรี่ และวิตามินซี 9 - 11 มิลลิกรัม
- ผลสด จะมีรสเปรี้ยวและมีวิตามินซีสูง นิยมนำมาทำเป็นน้ำผลไม้ และสามารถนำมาดองเกลือแช่อิ่ม ทำเป็นวุ้นทำแยมผลไม้ และใช้สำหรับแต่งสีอาหารและเครื่องดื่มได้ด้วย
สรรพคุณตามตำรายาไทยของมะม่วงหาวมะนาวโห่
- แก่น: ช่วยบำรุงไขมัน เหมาะสำหรับคนผอม ช่วยบำรุงธาตุ
- ใบสด: นำมาต้มน้ำดื่ม รักษาโรคท้องร่วง แก้อาการปวดหู แก้ไข้ แก้เจ็บปากและคอ
- ผลสุกและผลดิบ: ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน แก้ท้องเสีย
- รากสด: นำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยขับพยาธิ บำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร หรือนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้า ทาหรือพอกรักษาบาดแผล และช่วยแก้อาการคัน
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมะม่วงหาวมะนาวโห่
มะม่วงหาวมะนาวโห่ เป็นผลไม้สีม่วงแดง มีสารสำคัญเป็นพวกกลุ่มแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และยังมีพวกสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic compounds) และกรดไตรเตอพีนอยด์ (Triterpenoid acid)
การศึกษาฤทธิ์เภสัชวิทยาในผลไม้ชนิดนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพียงการศึกษาในระดับเซลล์และห้องทดลองเท่านั้น ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ดังนี้
ต้านเซลล์มะเร็ง
เนื่องจากมะม่วงหาวมะนาวโห่นั้นเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ทั้งยังสามารถต่อต้านเอนไซม์ในสภาพปลอดเชื้อ และช่วยสร้างสารไกลเคชั่นได้ ซึ่งพบว่าสารชนิดนี้มีความเป็นพิษต่อมะเร็งทุกชนิด
ต้านการอักเสบ
อาการติดเชื้อและอาการอักเสบล้วนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ขยายตัวของโรค เช่น ข้อต่ออักเสบ แผลพุพองโรคหลอดเลือดแดง และโรคหืด ซึ่งในปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ช่วยต่อต้านอาการเหล่านี้ แต่ก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายอย่างเช่นกัน ซึ่งในงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากใบมะม่วงหาวมะนาวโห่สามารถลดการปล่อย Nitrogen oxide ที่ปล่อยออกมาจากเม็ดเลือดขาว และลดการเกิดอนุมูลอิสระได้
บำรุงหัวใจ
จากการศึกษาพบว่า สารในกลุ่มของ amorphous water – soluble polyglycoside ที่ได้จากมะม่วงหาวมะนาวโห่นั้นมีฤทธิ์ในการบำรุงหัวใจ และยังช่วยลดความดันโลหิตได้
ป้องกันตับอักเสบ
ตับเป็นอวัยวะสำคัญที่จะช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ซึ่งถ้าตับทำงานผิดปกติย่อมทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติตามไปด้วย เช่น อาการทางสมองและเลือดออกง่าย แต่มะม่วงหาวมะนาวโห่ แต่มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า สารสกัดจากรากของพืชชนิดนี้ จะช่วยป้องกันพิษที่เกิดจากการใช้ยาพาราเซตามอลได้อย่างมีนัยสำคัญ
ความปลอดภัยในการใช้มะม่วงหาวมะนาวโห่
ขณะนี้ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษจากการใช้มะม่วงหาวมะนาวโห่ แต่น้ำยางสีขาวอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรืออาการแพ้ได้ ดังนั้น ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือหากจำเป็นต้องสัมผัสให้รีบทำความสะอาดทันที
แม้ว่าจะมีผู้กล่าวอ้างถึงสรรพคุณของมะม่วงหาวมะนาวโห่มากมาย แต่งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณยังมีน้อยมาก
สรุป มะม่วงหาวมะนาวโห่ เป็นพืชสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่เปี่ยมไปด้วยสรรพคุณทางยา สามารถนำมาบำบัดรักษาและบำรุงสุขภาพได้ สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ การหันมาใช้สมุนไพรก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ควรรับประทานอย่างเหมาะสม เลือกบริโภคอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ และหากต้องการรับประทานมะม่วงหาวมะนาวโห่เป็นยารักษา หรือบำรุงร่างกายควบคู่ไปกับการรับประทานยาประจำ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันการเกิดอันตราย หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้