วัตถุจีรังในรอยจำ (รีวิวหนังสือรวมเรื่องสั้น - แมวตัวที่หายไปในเดือนกั้นอยาก)
วัตถุจีรังในรอยจำ
รวมเรื่องสั้น “แมวตัวที่หายไปในเดือนกั้นอยาก”
ผู้เขียน ‘ปั้นคำ’
ปีที่พิมพ์ 2557
สำนักพิมพ์บุราคุมิน
The Persistence of Memory เป็นภาพนาฬิกาเหลวบิดเบี้ยว วาดโดยซัลวาดอร์ ดาลี กาลเวลาที่ยืดขยาย ความทรงจำอันเปื่อยเน่าผุพังจนมดมอดตอมไต่ ผลึกจารึกที่ผลิตซ้อนทับตัวเองจวบนิรันดร์
12 เรื่องสั้นใน “แมวตัวที่หายไปในเดือนกั้นอยาก” เล่ากล่าวถึงผู้คนสีเทา บอกเล่ากิจวัตรประจำวันอันธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง กิน ตื่น หลับ นอน มีเพศสัมพันธ์ บ้างแอบเล่นชู้นอกใจ หลายคนให้รักเต็มร้อย เหล่าผู้คนซึ่งใช้ชีวิตตามแรงขับดัน ทยานไปข้างหน้าตามสัญชาตญาณ ปะทะสังสันทน์ ขัดแย้ง จูบปากคืนดี รักอย่างเต็มรัก เปี่ยมโลภ โกรธ หลง งมงาย ขลาดเขลา กล้าหาญ
ขณะฤดูกาลหมุนเวียน ฝ่าลมฝน แดดร้อน เหน็บหนาว หมอกควันและมรสุมคลุ้มคลั่ง ผู้คนต่างก็ใช้ชีวิต สูดเฮือกหายใจเข้าออก หากไม่รอวันเสื่อมสลาย ก็พร้อมจะดันทุรังยืนหยัดชีวิตไม่จบสิ้น อาจบางคนเดินเหินกระทบไหล่เราทุกเมื่อเชื่อวัน ใช่คนแปลกหน้าอื่นไกลเสียเมื่อไหร่ ไม่เพียงผู้คนโลดโจน ทว่ายังกอปรด้วยอุณหภูมิและอากาศวิปริตแปรปรวน ไร้ชีวิตแต่กระเพื่อมลมหายใจของตนเอง ไม่ต่างจากอากาศแล้งร้อนบนผืนทะเลทรายจาก “L'Etranger” ของอัลแบร์ต กามูส์สักกี่มากน้อย
ลองนับนักเขียนที่ใส่ใจประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ ‘ปั้นคำ’ ย่อมเป็นหนึ่งในประดานักเขียนเหล่านั้น ความสัมพันธ์เป็นเรื่องราวระหว่างมนุษย์ คนกับคน หากก็มีวัตถุเป็นอุปกรณ์สำคัญ บ้างกางกั้น เป็นฉนวน เป็นสัญลักษณ์ตัวแทน บางวัตถุใช้สำหรับถ่ายเทความทรงจำ เก็บดองรักษาไม่ยอมปล่อยวาง บ้างมีไว้เพื่อหมกไหม้ตกตายไปกับพร้อมมัน ดังเช่นอาจารย์รตีจากเรื่อง ’กระพรวน’ เพราะเมื่อหล่อนทำกระพรวนสูญหาย เท่ากับภาพสลักแทนตัวคนรักหักบิ่น ผลสรุปจึงต้องจบลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมมิอาจแปรเป็นอื่น หรือวัตถุอย่างโทรศัพท์มือถือจากเรื่อง 'รักคุ้มใจ' ที่คลื่นเสียงไร้สายจองจำหญิงสาว เสียงแห่งอดีตที่เคยพร่ำคำรักเสนาะหู โดยสารอากาศด้วยความเร็วแสงไม่หวนคืน หญิงสาวเพียงรอคอยเสียงเรียกเข้า ที่เมื่อกดรับสาย อาจจะตามมาด้วยสำเนาเสียงของชายคนรัก หากทว่าสุ้มเสียงนั้นไม่เคยปรากฏให้ได้ยินซ้ำซาก
วัตถุเป็นตัวแทนความทรงจำ ผู้คนหลายๆ คนหวังให้วัตถุเป็นสิ่งจีรังในรอยจำ ดั่งนาฬิกาเหลวของดาลี ในทางหนึ่งวัตถุอาจจืดชืดไร้ชีวิตหรือบังเกิดมีชีวิต ขึ้นกับผู้เป็นเจ้าของที่ปลูกฝังความทรงจำให้เติบโต ยืดขยาย ตัดทอน ดังนั้นแล้ว สุนัขและแมวจากเรื่อง ‘มารี’ และ ‘แมวตัวที่หายไปในเดือนกั้นอยาก’ ก็อาจถือเป็นวัตถุชนิดหนึ่ง ที่แม้มีมีชีวิตแต่กลับไม่เป็นตัวของตัวเอง ได้แต่เฝ้ารอเจ้าของ ว่าจะยินยอมปลดปล่อยความทรงจำจากกรงคอกกักขังหรือไม่ ถึงที่สุดแล้ว ชายหนุ่มจากเรื่อง ‘สนิมในบ้านคนอื่น’ ย่อมคือการบรรลุถึงความสัมบูรณ์แห่งวัตถุจีรังในรอยจำ เมื่อความตายกลายรูปเป็นวัตถุวิญญาณ แฝงฝังในร่างกายชายหนุ่ม จนกว่าร่างกายของเขาจะถึงกาลดับขันธ์!