นักดื่มไทย..นิยมดื่มแอลกอฮอล์ชนิดไหนมากที่สุด
ผลจากการสำรวจวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คนไทยนิยมเลือกดื่ม มักขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น ราคา ความยากง่ายในการเข้าถึงเครื่องดื่มชนิดนั้น ความนิยมในสังคม และอิทธิพลของโฆษณาการตลาดของผู้ผลิตหรือจำหน่ายเครื่องดื่มนั้น นอกจากนี้ ประเภทของนักดื่มเองก็เป็นปัจจัยหลักในการเลือกชนิดของเครื่องดื่ม นักดื่มหนัก หรือผู้ติดสุราที่ดื่มเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีระดับรายได้ต่ำอาจจะนิยมเครื่องดื่มที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์สูงและราคาถูก เช่น เหล้าขาวหรือสุรากลั่นพื้นบ้าน ส่วนนักดื่มเยาวชน นักดื่มหน้าใหม่ หรือนักดื่มหญิง อาจจะนิยมเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์แอลกอฮอล์ต่ำ เช่น เบียร์หรือไวน์คูลเลอร์และเครื่องดื่มผสมที่มีรสชาติอร่อย เป็นต้น
ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ.2564 พบว่า ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นักดื่มไทยนิยมบริโภคมากที่สุด คือ “เบียร์” เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 อันดับสูงสุดที่นักดื่มนิยมดื่มมากที่สุด พบว่า นักดื่มร้อยละ 55.96 นิยมดื่มเบียร์มากที่สุด รองลงมาคือ สุราประเภทต่าง ๆ ได้แก่ สุราขาว/สุรา กลั่นชุมชน สุราสี/สุราแดง และยาดองเหล้า/สุราจีน/วอดก้า/อื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 40.98 และไวน์คูลเลอร์/สุราผสมน้ำผลไม้/เหล้าปั่น คิดเป็นร้อยละ 1.83 ตามลำดับข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ นักดื่มหญิงนิยมบริโภค เบียร์และไวน์ประเภทต่าง ๆ ทั้งไวน์องุ่นและไวน์คูลเลอร์มากกว่านักดื่มชาย (สัดส่วนของนักดื่มหญิงที่นิยมดื่มเบียร์ และไวน์มากที่สุดเท่ากับร้อยละ 70.21 และ 8.69 สัดส่วนในนักดื่มชายเท่ากับร้อยละ 52.37 และ 0.50 ตามลำดับ)
เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่าเกณฑ์ (อายุ 15-19 ปี) ดื่มเบียร์บ่อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 68.50 กลุ่มวัยทำงานตอนปลาย (อายุ 45-59 ปี) นิยมดื่มสุรามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 48.76 ส่วนกลุ่ม ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) นิยมดื่มสุราโดยเฉพาะสุราขาว/สุรากลั่นชุมชนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47.16
จากผลการสสำรวจในปี พ.ศ.2564 นี้ แสดงให้เห็นว่า นอกจาก “เบียร์” จะเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยม สูงสุดในกลุ่มนักดื่มเพศหญิงและนักดื่มเยาวชนอายุต่ำกว่าเกณฑ์แล้วนั้น “เครื่องดื่มผสมได้แก่ ไวน์คูลเลอร์/สุราผสมน้ำผลไม้/เหล้าปั่น” ก็ได้รับความนิยมสูงในประชากรนักดื่มสองกลุ่มนี้เช่นกัน โดยสัดส่วนการดื่มเครื่องดื่มผสม คิดเป็นร้อยละ 8.06 ในกลุ่มนักดื่มเพศหญิง และร้อยละ 2.70 ในกลุ่มนักดื่มเยาวชนอายุต่ำกว่าเกณฑ์
อ้างอิงจาก: https://pixabay.com/th/photos/เครื่องดื่ม-แอลกอฮอล์,
เอกสารวิชาการในชุดสถานการณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์,ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา