แมววิเชียรมาศ (Siamese cat)
"แมววิเชียรมาศ" หรือแมวสยาม เปรียบเสมือนตัวแทนสายพันธุ์แมวแห่งประเทศไทย เป็นแมวที่มีลักษณะนิสัยเป็นมิตร ขี้อ้อน และลวดลายสีขนบนตัวที่สวยงาม
ถิ่นกำเนิด : ประเทศไทย
ชื่ออื่นๆ : แมวแก้ว แมวสยาม
แมววิเชียรมาศอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยนั้นแมววิเชียรมาศนับว่าเป็นแมวชั้นสูงที่ถูกเลี้ยงไว้เฉพาะภายในพระบรมมหาราชวัง เพราะเชื่อว่าเป็นแมวมงคล เสริมโชคลาภให้แก่ผู้เลี้ยง สามัญชนในสมัยนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงได้
"วิเชียรมาศ" ความหมายว่า เพชรแห่งดวงจันทร์ มาจากลักษณะของแมวที่มีดวงตาสีฟ้าดุจเพชร ลำตัวขาวนวลคล้ายดวงจันทร์ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในสมัยปี พ.ศ.2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานลูกแมววิเชียรมาศให้เป็นของขวัญแด่ทูตชาวอังกฤษ ต่อมาทูตท่านนั้นได้เลี้ยงดูลูกแมววิเชียรมาศเป็นอย่างดี จึงได้ส่งเข้าประกวดในเวที The Crystal Palace London ที่จัดขึ้น ณ พระราชวังคริสตัล ประเทศอังกฤษ ซึ่งแมววิเชียรมาศได้รับชัยชนะ ทำให้แมววิเชียรมาศเริ่มมีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Siamese cat หรือแมวที่มาจากประเทศไทย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานแมววิเชียรมาศให้ทูตในอีกหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของสายพันธุ์แมววิเชียรมาศไปทั่วโลก
แมววิเชียรมาศเป็นแมวที่มีความปราดเปรียวสูง เคลื่อนที่คล่องแคล่ว ว่องไว และมีสัญชาตญาณการเป็นนักล่าที่ดี มีความระวังภัยให้กับตัวเองสูง แต่ขณะเดียวกันก็รักสงบ รักเจ้าของ และขี้อ้อนมาก
แมววิเชียรมาศมีลักษณะนิสัยช่างคุย จนได้รับฉายาว่า Extremely talkative cat หรือแมวช่างพูด มีอุปนิสัยชอบเข้าสังคม อยากรู้อยากเห็นสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ
แมววิเชียรมาศจะมีขนสั้นสีขาว หรือสีน้ำตาลอ่อน มีแต้มสีคลั่ง หรือสีน้ำตาลไหม้บริ้วณใบหน้า หูทั้งสองข้าง เท้าทั้งสี่เท้า หาง และบริเวณอวัยวะเพศ รวมทั้งสิ้น 9 ตำแหน่ง
แมววิเชียรมาศจะมีดวงตาสีฟ้า ลักษณะของยีนส์สีขนส่งผลต่อสีตา โดยยีนส์ที่ทำให้เกิดแต้มสีทั้ง 9 ตำแหน่งบนตัวของแมววิเชียรมาศนั้น ส่งผลต่อการยับยั้งการเจริญของเม็ดสีที่อยู่บนดวงตาของแมว ทำให้แมววิเชียรมาศทุกตัวมีตาสีฟ้าใสคล้ายแก้ว จึงได้รับชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าแมวแก้ว
งานวิจัยยังพบว่า ลักษณะสีขนซึ่งถูกควบคุมด้วยยีนส์จำนวนหลายยีนส์ในแมววิเชียรมาศ ส่งผลให้ขนมีสีขาวทั้งลำตัว แต่ด้วยลักษณะเด่นของยีนส์ดังกล่าว ส่งผลให้ลักษณะของสีขนสามารถเปลี่ยนไปได้ตามอุณหภูมิ สิ่งแวดล้อมที่แมวอาศัยอยู่ หากแมววิเชียรมาศอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เย็น หรือต่ำกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ จะส่งผลให้สีขนของแมววิเชียรมาศมีลักษณะเข้มขึ้น และถ้าอาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ร้อน หรืออุณหภูมิสูงกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ จะส่งผลให้สีขนของแมววิเชียรมาศมีลักษณะที่อ่อนลงตามลำดับ