เห็ดวิเศษ Magic Mushrooms
Next to know? เห็ดขี้ควาย ส่วนประกอบยารักษาโรคซึมเศร้า
คุณสมบัติที่ทำให้ยาที่ผลิตจากเห็ดขี้ควายพิเศษ
ประเด็นสำคัญในการรักษาโรคซึมเศร้าคือ เมื่อเข้ารับการรักษาคนไข้จะไม่สามารถเห็นผลลัพธ์ทันทีแม้ได้รับยา จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการบำบัดยาวนาน ต้องเข้ารับการรักษาสม่ำเสมอซึ่งบางครั้งอาจกินเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เกิดผลข้างเคียงรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันในบางครั้ง ที่สำคัญคือไม่สามารถยืนยันผลการรักษาได้เสมอไป
ทั้งหมดนี้กลับเปลี่ยนไปเมื่อมีการนำสารสกัดจากเห็ดขี้ควายมาใช้ประกอบ ในขั้นตอนการทดสอบมีการใช้สารสกัดชนิดนี้ราว 1 – 2 ครั้ง เว้นห่างกันหลายสัปดาห์ พบว่าอาการของคนไข้เป็นที่น่าพอใจ มีประสิทธิภาพมากกว่ายารักษาอาการซึมเศร้าตามท้องตลาดทั่วไปถึง 4 เท่าเลยทีเดียว
สารสกัดสำคัญที่ทำให้ต่างชาตินำไปจดสิทธิบัตรคือ วิธีการสกัดสาร Psilocybin และ Psilocine โดยเริ่มมีการใช้สารสกัดจากเห็ดขี้ควายร่วมกับการรักษาอาการทางจิตแก่ผู้ป่วยซึมเศร้ามาตั้งแต่ปี 2016 ผลลัพธ์ออกมาน่าพอใจเมื่อสารสกัดจากเห็ดขี้ควาย ช่วยทุเลาอาการปรับสมดุลให้การทำงานของสมองกลับมาเป็นปกติได้แม้สร่างจากฤทธิ์ยาแล้ว
ผลการทดสอบจากผู้ป่วยซึมเศร้า 27 คนที่มีอาการซึมเศร้าเรื้อรังนานกว่า 2 ปี ถือเป็นผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างมาก หลังผ่านการรักษาเป็นเวลา 12 เดือนโดยใช้สารสกัดจากเห็ดขี้ควายประกอบพบว่า โรคซึมเศร้าทุเลาลงจนอยู่ในระดับที่แทบไม่เหลืออาการหดหู่ อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นนัยยะสำคัญจากสาร Psilocybin อีกด้วย
ถือเป็นผลสำเร็จครั้งสำคัญที่ช่วยเปิดแนวทางใหม่ในการรักษาโรคซึมเศร้า นอกจากนี้จากการทดลองในห้องวิจัยพบว่า สารสกัดจากเห็ดขี้ควายมีคุณสมบัติในการฟื้นฟูเซลล์ประสาทภายในสมองของหนูทดลอง นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สารสกัดชนิดนี้ใช้รักษาอาการซึมเศร้าเห็นผล อีกทั้งยังอาจนำไปต่อยอดในการรักษาโรคจิตเวชชนิดอื่นได้ด้วย
ผลที่ได้จากงานวิจัยขั้นต้นชี้ว่าสารที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทไซโลไซบิน (psilocybin) ซึ่งพบในเห็ดขี้ควายหรือ "เห็ดวิเศษ" ช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ดีพอ ๆ กับตัวยาที่แพทย์แผนปัจจุบันใช้กันอยู่
แต่เมื่อพิจารณาถึงเรื่องของการมีชีวิตที่ดีขึ้นและความสามารถที่จะรู้สึกถึงความสุข งานวิจัยซึ่งยังทดลองกับคนจำนวนไม่มากนี้ ชี้ว่าสารที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทจากเห็ดให้ผลที่ทรงพลังกว่า
ในปัจจุบันมีการศึกษาว่าสารหลอนประสาทจะมีผลต่อสุขภาพจิตในรูปแบบต่าง ๆ อย่างไรบ้าง แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าผลการวิจัยนี้ได้จากการทดลองขนาดเล็ก ๆ และยังต้องทำการวิจัยต่อไปอีก
ตั้งแต่ยาโพรแซค (Prozac) ออกวางตลาดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ยารักษาอาการซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลตัวใหม่ ๆ ที่ออกตามมานั้นไม่ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดในการรักษาไปจากเดิมมากนัก
อย่างไรก็ดี ผู้ใช้ยาหลายคนต้องเผชิญกับอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ยาหมดประสิทธิภาพเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก หรือไม่ได้ผลเลยตั้งแต่เริ่มใช้
สำหรับการทดลองล่าสุดนี้มีผู้เข้าร่วม 59 คน นักวิจัยแบ่งอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับสารหลอนประสาทไซโลไซบิน อีกกลุ่มหนึ่งได้รับยารักษาอาการซึมเศร้าที่ใช้กันทั่วไปที่เรียกว่าเอสเอสอาร์ไอ (selective serotonin reuptake inhibitor - SSRI)
นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยเกี่ยวกับสารที่มีฤทธิ์หลอนประสาท อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) ได้ตรวจสอบสภาวะทางอารมณ์และการทำงานของร่างกายของผู้เข้าร่วมการทดลองโดยใช้เกณฑ์หลายอย่างด้วยกัน
สำหรับเกณฑ์ที่ใช้วัดอาการซึมเศร้านั้นจะเน้นไปที่เรื่องของการนอนหลับ ความกระตือรือร้น อารมณ์ และความคิดอยากฆ่าตัวตาย โดยคำถามที่ใช้ถามอาสาสมัครจะเป็นไปในเชิงลบ เช่น รู้สึกเศร้าหรือไม่ ไม่ใช่คำถามว่ามีความสุขหรือไม่ ซี่งหากวัดกันตามเกณฑ์นี้ สารหลอนประสาทไซโลไซบินทำงานได้ดีพอ ๆ กับยารักษาอาการซึมเศร้าทั่วไปที่ชื่อว่าเอสซิตาโลแพรม
โดยผู้เข้าร่วมวิจัยทั้ง 59 คน มีความรู้สึกหดหู่ลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกัน