"ขนมอาซูรอ"
" ขนมอาซูรอ "
ขนมอาซูรอหรือขนมบูโบร์ซูรอ เป็นขนมที่ชาวไทยมุสลิมทำขึ้นในวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปฏิทินอาหรับขนมชนิดนี้เป็นขนมที่ได้จากการนำอาหารหลายอย่างมารวมกันแล้วกวนให้เป็นเนื้อเดียวกันคล้ายขนมเปียกปูน
ประเพณีการกวนขนมอาซูรอเริ่มจากเจ้าภาพประกาศเชิญชวนชาวบ้านว่าจะมีการกวนขนม เมื่อถึงวันนัดหมาย ชาวบ้านจะนำเครื่องปรุงขนมมารวมกันและช่วยกันกวน เมื่อเสร็จแล้วจะกล่าวขอพรพระเจ้าแล้วจึงแบ่งขนมไปกินกัน เครื่องปรุงขนมที่ใช้ได้แก่ เครื่องแกง ข้าวสาร น้ำตาล กะทิ และของที่กินได้อื่นๆ เช่น มัน กล้วย ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่
ความเป็นมาของการกวนข้าวอาซูรอ หรือกวนขนมอาซูรอสืบเนื่องจากได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในสมัยนบี นุฮ (อล) ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ไร่นาของประชาชนและสาวกของนบีนุฮ (อล) และคนทั่วไปอดอาหาร นบีนุฮ (อล) จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของเหลือพอจะรับประทานได้ ให้เอามากองรวมกัน และให้เอาของเหล่านั้นมากวนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนได้รับประทานอาหารกันโดยทั่วหน้า
การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้รับประทานกัน เจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชนขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอา) ก่อน จึงจะแจกให้คนทั่วไปรับประทานกัน