แปลกแต่จริง "ผ้าก็อชหนังปลานิล"
ในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ในสังคมออนไลน์มีการแชร์ข่าวและข้อมูลการใช้หนังปลานิลมาแปะบนร่างกายรักษาแผลผู้ป่วยไฟไหม้
การันตีให้ผลเยี่ยม จนเป็นที่ฮือฮาอยู่ระยะหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีการตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเรื่องจริงหรือแค่คอนเทนต์ลวงหลอกเรียกยอดไลก์ยอดแชร์เพียงเท่านั้น
ย้อนความกลับไป เรื่องราวหนนั้นมีต้นตอมาจากประเทศบราซิล และเป็นเหตุการณ์จริงที่แพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งนำหนังปลานิลมารักษาแผลไฟไหม้
แนวคิดนี้เกิดจากการที่ทีมแพทย์ต้องการหาทางออกให้กับผู้ป่วยที่ประสบเหตุถูกไฟไหม้ผิวหนัง จึงทดลองปลูกถ่ายผิวหนังจากวัสดุหลายประเภท ซึ่งในทางการแพทย์เคยพัฒนาการนำผิวหนังของมนุษย์ หมู และแม้แต่กบมาใช้จนสำเร็จแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยได้เป็นที่นิยมนักในบราซิล เนื่องจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่นเรื่องราคา บวกกับผู้ป่วยประเภทนี้ส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางค่อนไปทางยากจน จึงต้องมองหาทางเลือกอื่นๆ มาทดแทน จนบทสรุปมาตกที่หนังปลานิล
การที่หนังปลานิลเหมาะที่จะใช้รักษาแผลไฟไหม้และปลูกถ่ายผิวใหม่ เพราะว่ามันมีโครงการผิว (morphology) เหมือนผิวมนุษย์ มีไมโครไบโอต้าที่ไม่ติดเชื้อ (ใช้สร้างผิวใหม่) มีคอลลาเจนชนิดที่ 1 ในปริมาณสูง (ที่ผิว ผม กระดูก อวัยวะภายในเราต้องใช้)
มีความชุ่มชื้นสูงที่สามารถเก็บความชื้นได้ดีแทนผ้าพันแผลที่ปกติใช้ เช่น ผ้าพันแผลพาราฟินก็อซ ที่ต้องเปลี่ยนบ่อยแทบทุกวัน หรือ 2-3 วัน แล้วมันทรมานมาก ๆ กว่าคนไข้จะหายก็ใช้เวลานานแล้วก็เปลืองทรัพยากรเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ ซึ่ง ถ้าใช้ผิวปลานิลจะพันทิ้งไว้ได้นาน ๆ ถึง 5 วัน หรือจนหายไมต้องเปลี่ยนเลย คือลดความเจ็บปวดไปกว่า 50% แล้วราคาถูก มีความยืดหยุ่นและทนทานในตัวช่วยปกป้องแผล ลดแผลเป็น
เนื่องจากหนังปลานิล วัสดุชีวภาพที่มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายคลึงกับผิวหนังมนุษย์ และมีปริมาณคอลลาเจนสูง ช่วยในการเสริมความยืดหยุ่นและการสมานแผล
รวมถึงยังสามารถป้องกันการสูญเสียความชื้นและโปรตีนบนบาดแผลได้ และยังยึดเกาะแผลได้ดี ช่วยป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
และนวัตกรรมชีวภาพนี้ก็ไม่ได้ใช้กับแค่คนเท่านั้น ยังถูกนำมาต่อยอดรักษาสัตว์ที่โดนไฟป่าเล่นงาน ไม่ว่าจะเป็นเหตุไฟป่าใน Pantanal ของบราซิล ที่สหรัฐอเมริกา หรือโคอาลาที่ออสเตรเลียก็ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งข้อดีอีกอย่างคือ การนำวัสดุชีวภาพมาใช้จะช่วยลดอันตรายเวลาสัตว์รู้สึกรำคาญเผลอกัดและกลืนเข้าไป ถ้าเป็นผ้าก๊อซก็อาจก่อให้เกิดอันตรายอื่นๆ กับสัตว์ได้อีกทอดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็มีข้อยกเว้นว่า มันไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน เนื่องจากพบอาการแพ้ในผู้ป่วยที่มีโรคอื่นแทรกซ้อนอยู่เหมือนกัน
แต่ถึงจะมีข้อจำกัดกับผู้ป่วยบางประเภท รายงานการวิจัยก็ค่อนข้างให้ความเห็นไปในทางบวก คือ สามารถใช้แทนการพันผ้าก๊อซชุบพาราฟินได้อย่างไม่น้อยหน้า อีกทั้งเมื่อเทียบราคาแล้วยังถูกกว่า รวมถึงมีความยั่งยืนกว่าในแง่การผลิต ซึ่งงานวิจัยก็หวังเห็นถึงการนำหนังปลานิลไปใช้เชิงพาณิชย์ได้ และใช้ในทางการแพทย์ต่อไป
ลักษณะแผลที่ใช้
- บาดแผลไฟไหม้เป็นแผลที่น่ากลัว เพราะแผลพวกนี้ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ขาดน้ำ เสี่ยงต่อการอักเสบ และเกิดแผลเป็น ถ้าแผลใหญ่จะน่ากลัว ต้องมีการทำแผลบ่อยๆ และถ้าติดเชื้อก็ต้องใช้ยา
ถ้าแผลลึกและใหญ่พอ แม้ไม่ตายจากไฟไหม้ก็จะตายจากติดเชื้ออยู่ดี
- ในการพัฒนาการรักษา มีตั้งแต่การใช้น้ำผึ้ง ยาฆ่าเชื้อ น้ำเกลือ ก็อซ ใบตอง หนังคน หนังหมู แผ่นเงิน
ซึ่งปัจจัยที่มีปัญหาคือ
- ถ้ารักษาแผลได้ดี มักแพง
- ถ้าราคาถูก มักรักษาได้ผลไม่ดี หรือได้ผลดีแต่เจ็บ
- เราพบกันว่า หากใช้วัสดุใส่แผลที่มีคอลลาเจนที่เหมาะสม จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ... ซึ่งแพง
มีการใช้หนังหมู(มีคอลลาเจนที่เหมาะสม) ในการปิดแผล แต่ก็แพง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพราะมนุษย์และหมูคล้ายคลึงกัน
- 15ปีก่อน เริ่มมีงานวิจัยเอาผิวหนังปลามาสกัดคอลลาเจน แล้วเอาไปทำวัสดุปิดแผล
ก็ทำๆกันมาหลายๆประเทศ
- เมื่อ 2 ปีก่อน นักวิจัยจีนเอาหนังปลานิลมาสกัดคอลลาเจน จากนั้นเอาไปทำแผ่นปิดแผลให้หนู ปรากฎว่าหนูหายเร็วขึ้น
ตอนนั้นก็มีความหวังว่าจะมีการพัฒนาเข้าสู่มนุษย์ ... แต่น่าจะใช้เวลานาน เพราะว่าการจะวิจัยอะไรพวกนั้นต้องผ่านขั้นตอนเยอะแยะมากมาย
- ทีนี้หมอที่บราซิลได้ข่าวงานวิจัยที่ว่า ก็เลยทดลอง
- ไปกระชังปลานิล
- ให้ตัดหนังปลา(ซึ่งปกติเป็นของเหลือทิ้ง) ส่งไปฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- ส่งหนังปลาฆ่าเชื้อแบคทีเรียส่งไปฉายรังสีเพื่อฆ่าไวรัส
- บรรจุหนังปลาฆ่าเชื้อใส่ภาชนะสะอาด เก็บแช่เย็นอยู่ได้ 2 ปี ไม่มีกลิ่นปลา
- พอมีคนไข้ไฟไหม้ก็เอาหนังปลาแบบที่ยังเห็นเกล็ดๆนี่แหละ แปะ แทนผ้าพันแผล
ปรากฎว่าลดอาการอักเสบ ลดเจ็บปวด แผลหายเร็วขึ้น ไม่มีแผลเป็น แถมยังถูกกว่าการใช้ยา SilverSulfa ที่ใช้กันปกติอีก
ทำแผลก็ดึงออกได้ไม่เจ็บมากเท่าผ้าพันแผล แถมใช้หนังปลาเพียวๆ ไม่ต้องไปสกัดทำเป็นแผ่นให้ยุ่งยาก เรียกได้ว่ากระโดดแซงโค้งจีนข้ามขั้นไปทำการวิจัยในมนุษย์ได้ในขั้นตอนเดียว
สุดท้าย ถึงบทสรุปจะมองเห็นอนาคตของวัสดุทางเลือก แต่เราไม่แนะนำให้ใครทำตามหรือเอาอย่าง การรักษานี้เป็นเรื่องที่ต้องทำโดยแพทย์ และหนังปลาที่ใช้ต้องผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐานหลายขั้นตอนก่อน
ไม่ใช่จู่ๆ เดินไปซื้อปลาจากตลาดแล้วแล่มาแปะเอง – อย่าหาทำโดยเด็ดขาด!