คนไทย(ชอบ)อ่านอะไร?
จากผลการสำรวจ คนที่ไม่อ่านหนังสือคือคนในวัยทำงานอายุระหว่าง 30-40 ปี เนื่องจากคนกลุ่มนี้อยู่ในวัยทำงาน กำลังทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว คนทำงานพอกลับมาบ้านก็เหนื่อยจนไม่อยากอ่านหนังสือแล้ว
ส่วนกลุ่มคนที่อ่านเยอะที่สุดอยู่ในช่วงระหว่าง 20-30 ปี และจะกลับมาอ่านหนังสือเยอะอีกครั้งก็เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว จนเมื่อถึงวัยเกษียณก็จะกลับมาอ่านหนังสือมากขึ้นเช่นกัน
เด็กในยุคนี้มีหนังสือให้อ่านเยอะมาก หลากหลายเยอะกว่าในสมัยก่อนมาก ในยุคสมัยนี้มีหนังสือแปลที่มีเนื้อหาแปลกใหม่ จากการสำรวจเด็กมัธยมต้นบางคนเริ่มอ่านวรรณกรรมคลาสิคของโลกแล้ว โดยเมื่อเขาได้อ่านเรื่องแปลพวกนี้แล้วเขาชอบก็จะเกิดแรงบันดาลใจให้เขาอยากไปหาต้นฉบับ(ภาษาต่างประเทศ)มาอ่านด้วย
ที่น่าสนใจคือว่า วัยรุ่นอ่านคอนเทนต์ที่เป็นนิยายเยอะมาก แต่หนังสือในบ้านเราไม่ค่อยจะมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัยรุ่นสักเท่าไหร่เลย คือในวงการหนังสือไทยยังขาดวรณกรรมเยาวชนที่ดีๆ สำหรับให้เด็กวัยรุ่นอ่าน
ถ้าย้อนไปในสมัยก่อน จะมีนิตยสาร “เธอกับฉัน” ที่ถือว่าเป็นหนังสือของวัยรุ่นในยุคนั้น มี “พจน์ อานนท์” เป็นบรรณาธิการ ในตัวนิตยสารมีเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจของวัยรุ่น รวมทั้งมีนวนิยายวัยรุ่นที่ดีๆ หลายเรื่องด้วย แต่ในปัจจุบันในท้องตลาดไม่มีหนังสือในลักษณะนี้เลย
สำหรับนิตยสาร “เธอกับฉัน” ในสมัยก่อนนั้นคงเรียกว่าเป็นสกุลไทยฉบับวัยรุ่นเลย เทียบเท่ากับนวนิยายที่โพสลงในเว็บสมัยนี้ เพียงแต่นิยายที่ลงในเว็บพวกนี้ไม่ผ่านการกลั่นกรองจากบรรณาธิการเลย
ในยุคนี้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายอย่าไปต่อว่าลูกเลย ในการที่ลูกเป็นติ่งโน้นติ่งนี้หรือชื่นชอบในสิ่งต่างๆ เพราะในสมัยก่อนคุณพ่อคุณแม่ก็มีความรู้สึกเหมือนกับลูกๆ ในตอนนี้เช่นกัน เพียงแต่แสดงออกไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง
ถ้าถามว่าคนไทยอ่านอะไร? ตอบได้ว่าคนไทยก็อ่านคอนเทนต์ในแบบเดิมไม่ได้เปลี่ยนเลย แต่ที่เปลี่ยนไปคือรายละเอียดต่างๆ ในคอนเทนต์นั้นๆ อย่างเช่นในสมัยก่อนยุคคุณพ่อคุณแม่อาจจะได้อ่านแต่นิยายรัก แต่รุ่นลูกในสมัยนี้เข้าได้อ่านเรื่องรักเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดของเรื่องนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ในนิยายรักสมัยนี้อาจจะมีแฝงเรื่องสิทธิสตรีเอาไว้ด้วย ซึ่งนิยายในสมัยก่อนไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องนี้มากนัก หรือปัจจุบันนี้มีเรื่องชายรักชายเป็นนิยายวาย เป็นแนวที่วัยรุ่นกำลังนิยมอ่านอยู่
จะเห็นได้ว่าคอนเทนต์ในสมัยใหม่นี้มีความหลากหลายมากขึ้น คือมีแยกย่อยแตกออกไปเยอะ หรือมีเซ็กเม้นท์ (segment) มากขึ้น ไม่เหมือนในสมัยก่อนที่นักเขียนดังจะครองตลาดอยู่ตลอด เรื่องราวหรือคอนเทนต์ต่างๆ ก็จะซ้ำไปซ้ำมาตลอด
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะเห็นว่า ในปัจจุบันนี้คนที่เป็นผู้ใหญ่เหมือนว่าจะไม่มีคอนเทนต์อะไรให้อ่าน เพราะที่มีอยู่ในตลาดไม่ใช่เรื่องที่เขาสนใจ ไม่ใช่เรื่องของวัยเขา หลายสำนักพิมพ์มองข้ามกลุ่มผู้อ่านสูงวัยนี้ไปเลย จะเห็นว่าไม่ค่อยมีสำนักพิมพ์ไหนเลยที่ทำฟอนซ์(ลักษณะของตัวอักษร)ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อที่คนแก่จะได้อ่านได้ บางครั้งตัวหนังสือที่เล็กเกินไปผู้ใหญ่ก็อ่านไม่ได้ ทำให้ความรื่นรมย์ในการอ่านลดน้อยลงไป
นักเขียนต้องเข้าใจว่ากลุ่มผู้อ่านของเราคือใคร จะได้สร้างเรื่องได้ตรงกับความต้องการของผู้อ่านด้วย เช่นถ้าเป็นผู้อ่านกลุ่มมีอายุสักหน่อย ถ้าจะเขียนเรื่องรักก็อาจจะเป็นรักแบบพีเรียด(ย้อนยุค)ก็ได้
ปัจจุบันจึงกลายเป็นว่า คอนเทนต์ของใครก็ของมัน ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจคอนเทนต์ของเด็ก จึงทำให้เด็กก็ไม่เข้าใจคอนเทนต์ของผู้ใหญ่ด้วย ผู้ปกครองในสมัยนี้จึงควรต้องเปิดใจให้กว้าง ต้องยอมรับเรื่องราวของพวกเด็กๆ ด้วย ลองเข้าไปอ่านนิยายในเว็บดู ผู้ใหญ่อ่านแล้วอาจจะรู้สึกกรี๊ดกร๊าดบอกว่าอ่านไม่ได้ แต่ต้องอย่าลืมว่าในสมัยก่อนคุณก็เคยอ่านนิยายประโลมโลกมาก่อน เคยต้องคลุมโปงแอบอ่านก็มี เพราะฉะนั้นอย่างไปว่าเด็กเลย
พอมีอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้น ความชอบของคนก็เริ่มหลากหลายมากขึ้นด้วย คนสามารถเข้าถึงสิ่งที่ชอบได้มากขึ้นและถี่มากกว่าแต่ก่อน ด้วยความที่เซ็กเม้นท์มันหลากหลายมากขึ้น คนก็จะเลือกอ่านตามแต่เรื่องที่ตัวเองชอบ
สรุปคนไทย(ชอบ)อ่านคอนเทนต์ตามรสนิยมของตัวเอง ตามความชื่นชอบของตัวเอง ถึงแม้มันจะหลากหลายขึ้นแต่มันก็ยังมีความชอบส่วนตัวอยู่
อ้างอิงจาก: กระปุก, เด็กดี, พันธ์ทิพ, sanook.com