เขียนเรื่องจากภาพ ฝึกได้ง่าย ๆ ค่ะคุณครู
การเขียนเรื่องจากภาพ คือ การเขียนเล่าเรื่องจากภาพที่กำหนด โดยสามารถเพิ่มเติมประสบการณ์ ความคิด จินตนาการของผู้เขียนเกี่ยวกับภาพนั้น ๆ ลงไปด้วย
การเขียนเรื่องจากภาพ เป็นการนำมวลประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ทักษะทางด้านภาษาที่มีในตัวเด็กออกมาใช้ หลังจากที่เด็กได้เรียนรู้เรื่อง พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ คำ ประโยคไปแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นถึงการประมวลเอาความรู้ในตัวเด็กออกมาผ่านการเขียน
การเขียนเรื่องจากภาพ จะช่วยสร้างเสริมจินตนาการ และทักษะการเขียนให้เกิดขึ้นกับเด็ก โดยเฉพาะเรื่องการใช้ภาษา และการดึงคลังคำศัพท์ที่มีอยู่ในความทรงจำของนักเรียนแต่ละคน เขียนออกมาในรูปแบบของเรื่องเล่า มีเหตุการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก และลักษณะตัวละคร รวมถึงเป็นการดึงประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ นำมาบรรยายเล่าเรื่อง พร้อมกันนั้นการเขียนเรื่องจากภาพ ยังช่วยให้นักเรียนหรือเด็กได้เรียนรู้โครงสร้างการเขียน และการวางรูปแบบการเขียนอย่างเป็นระบบ และมีระเบียบ ใช้ภาษาได้ถูกต้อง
ขั้นตอนการเขียน
ในการฝึกให้นักเรียนเขียนเรื่องจากภาพ ผู้สอนควรเน้นขั้นตอนดังต่อไปนี้
๑. ให้สังเกตสิ่งที่มีอยู่ในภาพโดยละเอียด ในเบื้องต้นผู้สอนควรเป็นผู้นำในการสังเกตก่อน แล้วจึงค่อยให้นักเรียนฝึกการสังเกต ก่อนลงมือเขียนจริง
๒. ให้นักเรียนฝึกการนำสิ่งที่อยู่ในภาพมาเชื่อมโยงกับความคิด ความรู้สึก ผู้สอนต้องฝึกโดยการใช้คำพูดกระตุ้น ชักนำ เพื่อให้นักเรียนเกิดความคิดที่แตกต่าง หลากหลายเกี่ยวกับภาพ ตามประสบการณ์ ความรู้ จินตนาการ ของแต่ละคน
๓. เขียนแผนภาพความคิด ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้สอนมักมองว่าทำให้เสียเวลาจึงมักไม่เน้นขั้นตอนนี้ อาจจะแค่บอกกับนักเรียนว่าควรเขียนแผนภาพความคิด แต่ก็ไม่ได้เน้นให้นักเรียนฝึกเขียนจริง ๆ นักเรียนจึงไม่เห็นความสำคัญ และเห็นว่าเป็นสิ่งไม่จำเป็นจึงไม่ค่อยมีใครเขียนแผนภาพความคิดก่อน
๔. ฝึกแต่งประโยคให้สอดคล้อง สัมพันธ์กับภาพ โดยการนำคำในแผนภาพความคิดมาแต่งประโยคให้ครบถ้วนทุกประเด็น
๕. เรียบเรียงประโยคตามลำดับเนื้อหาให้เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่อง
๖. ปรับปรุงภาษา และการใช้คำเชื่อมประโยค เพื่อความสละสลวย
๗. สรุปข้อคิดจากเรื่อง
๘. ตั้งชื่อเรื่องให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่เขียน
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะสามารถพัฒนาทักษะการเขียนเรื่องจากภาพของนักเรียนได้ดี คือ ผู้สอนต้องตรวจชิ้นงาน ให้ข้อเสนอแนะต่อนักเรียนเป็นรายบุคคล และให้นักเรียนแก้ไข ปรับปรุงผลงาน อีกทั้งการฝึกจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และผู้สอนจะต้องระลึกไว้เสมอว่า
“การเสริมแรงทางบวกเท่านั้นที่จะส่งเสริมและพัฒนาการทักษะ และความคิดของนักเรียนได้”
จากประสบการณ์ที่เจอนักเรียนที่มาแข่งขันกิจกรรมการเขียนเรื่องจากภาพพบข้อสังเกตดังนี้
๑. ผู้สอนไม่ได้ฝึกการเขียนแผนภาพความคิด หรือให้นักเรียนคิด ละเขียนคำที่เป็นคำสำคัญก่อน เมื่อนักเรียนเห็นภาพก็จะลงมือเขียนเลย ทำให้การเขียนของนักเรียน อาจวกวน ได้ใจความไม่ครบถ้วน ซึ่งผู้สอนอาจจะไม่ให้นักเรียนเขียนแผนภาพความคิดก็ได้ แต่อาจจะให้ใช้วิธีการเขียน คำ ข้อความ กลุ่มคำ ที่นักเรียนคิดได้ เอาไว้ก่อน แล้วจึงค่อยนำคำ หรือข้อความเหล่านั้นมาแต่งประโยค
๒. ผู้สอนมักฝึกให้นักเรียนตั้งชื่อเรื่องก่อนแล้วจึงเขียนเรื่อง บางครั้งอาจทำให้ชื่อเรื่องไม่ตรงกับเนื้อหาได้
๓. ผู้สอนหลายคนเน้นให้นักเรียนตั้งชื่อตัวละคร เมื่อเจอภาพก็ให้ตั้งชื่อตัวละครเลย บางครั้งเด็กประสบปัญหาเมื่อเจอภาพที่มีคนเยอะ ๆ ทำให้นักเรียนยุ่งยากในการตั้งชื่อตัวละคร ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในการเขียนเรื่องจากภาพ หรือการเขียนบรรยายภาพไม่จำเป็นจะต้องตั้งชื่อตัวละคร หรือไม่ต้องตั้งชื่อทั้งหมดก็ได้
๔. ผู้สอนบางคนเน้นให้นักเรียน เขียนเป็นบทสนทนา และใส่เครื่องหมายคำพูด ซึ่งเด็กชั้นเล็ก ๆ มีโอกาสใส่เครื่องหมายคำพูดผิดได้ง่าย ทำให้เสียคะแนน
๕. การเพิ่มเติม ความรู้สึก จินตนาการ ประสบการณ์ของนักเรียนลงไป จะทำให้เกิดความแตกต่างของผลงานได้อย่างชัดเจน
การฝึกเขียนเรื่องจากภาพ เป็นการฝึกทักษะการเขียน การจินตนาการ ที่สำคัญของนักเรียน ในระดับชั้นประถมศึกษา หากผู้สอนสามารถฝึกทักษะพื้นฐานในเรื่องการเขียนเรื่องจากภาพให้นักเรียน สามารถเขียนได้ดี มีความสุขกับการเขียน เด็กก็จะเกิดทักษะ และมีพื้นฐานที่ดีด้านการเขียน สิ่งสำคัญเด็กจะเกิดความรักและเจตคติที่ดีในการเขียน และต่อวิชาภาษาไทยแน่นอน