"ตดหมูตดหมา"ของเหม็นที่มีดีกว่าที่คิด
เครือตดหมา ได้ยินชื่อหรือได้เห็นหน้าสมุนไพรชนิดนี้ ต้องหันหน้าหาเพื่อนข้าง ๆ ด้วยคำถามที่ว่า เธอรู้จักไหม ? บ้านเธอเรียกว่าอะไร ? คำตอบก็มักจะแตกต่างออกไปถ้าเพื่อนข้าง ๆ อยู่ต่างภูมิภาค ต่างพื้นที่กัน ซึ่งบางพื้นที่เรียก “เครือตดหมา” ว่า ตำยานตัวผู้ หญ้าตดหมา พังโหม กระพังโหม ย่านพาโหม หรือหญ้าตดหมูตดหมา
แล้วถ้าจะถามเพื่อนข้าง ๆ ต่อไปว่า เครือตดหมา นี่เอามาทำอะไรได้บ้าง เพื่อนข้างตัวไม่น้อยคนคงทำหน้าเอ๊ะไปสักครู่ และคำตอบที่คาดว่าฟิกซ์ไว้แล้วเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ กล่าว “ไม่รู้” และอาจจะมีคำถามอื่น ๆ จากเพื่อนโต้กลับคืนเข้าหาตัวเรา เช่นว่า เอาไปทำเป็นอย่างอื่นได้ด้วยหรือ ถ้าเอาไปทำอย่าอื่นได้แล้วทำอะไร ไม่ได้เป็นแค่วัชพืชหรอกหรือ กินได้ไหม และอีกมากมายหลายคำถาม
วันนี้แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ขอรับบทเป็นเพื่อนของคุณอีกคน จะพาไปไขคำตอบว่า เครือตดหมา คืออะไร ลักษณะเป็นอย่างไร แล้วสรรพคุณของเครือตดหมามีคุณประโยชน์ต่อตัวเราอย่างไร และที่สำคัญเครือตดหมากินได้ไหม
ลักษณะของตดหมูตดหมา
ต้นตดหมูตดหมา จัดเป็นไม้เถาขนาดเล็ก มีกลิ่นเหม็นเขียวเฉพาะและมียาวสีขาวทั้งต้น เจริญเติบโตแบบไม้เลื้อยเนื้ออ่อน ลำต้นเป็นสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.8-5 เซนติเมตร ก้านใบ กิ่งอ่อน ก้านช่อดอก และผลมีขนสั้น ๆ ปกคลุมอยู่หนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนซุย แสงแดดจัด ทนแล้งได้ดี พบขึ้นทั่วไปในที่รกร้าง ในป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะตามป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง และป่าที่กำลังคืนสภาพที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-800 เมตร ในต่างประเทศพบได้ที่ประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนวิธีการป้องกันและจำจัด สามารถทำได้โดนการใช้วิธีการเขตกรรม (ถาก ตัดให้สั้นเพื่อไม่ให้ออกดอก หรือขุดทิ้ง) และใช้สารเคมีต่าง ๆ
ใบตดหมูตดหมา
ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือเรียวยาว โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.1-12 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวถึงเขียวค่อนข้างเข้ม หน้าใบและหลังใบไม่มีขน แต่จะมีขนสั้น ๆ ละเอียดที่มุมเส้นใบตัดกับเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบออกตรงข้ามกันและเยื้องกันบ้าง ปลายเส้นวิ่งไปจนเส้นถัดไป ไม่ถึงขอบใบ เส้นแขนงเล็ก ๆ สานกันเป็นร่างแห มีเส้นแขนงใบข้างละ 4-7 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1.2-2.3 เซนติเมตร
ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอดและตามซอกใบ ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมากอยู่ชิดติดกันเป็นกระจุก กลีบดอกด้านนอกเป็นสีเขียว ส่วนด้านในเป็นสีม่วงเข้ม ดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวยปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉกและหยักตื้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผลตดหมูตดหมา
ลักษณะของผลเป็นรูปไข่หรือกลมแบน ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ผลจะแก่ในช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม
ประโยชน์ของตดหมูตดหมา
- ใช้เป็นพืชอาหารและสมุนไพร โดยใช้ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมากินเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก แกล้มกับลาบ และตำมะม่วง หรือนำมาต้มหรือลวกรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก
- ใช้เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ เป็นต้น ต้นมีกลิ่นเหม็นเขียวเพราะมีสาร Methyl mercaptan เมื่อนำมาต้มกลิ่นระเหยไป สามารถนำมาทำอาหารได้
- ผลใช้ทาฟันทำให้ฟันมีสีดำ[1] รากนำมาปอกเปลือกแช่น้ำ นำไปตำกับข้าวเหนียวนึ่งเพื่อทำข้าวพอง (ข้าวโป่ง) หรือที่คนภาคกลางเรียกว่า “ข้าวเกรียบว่าว”
ใช้ปลูกเป็นไม้ดับ ด้วยการปลูกเป็นค้างให้เลื้อย ดอกมีขนาดเล็กแต่ออกดกมีสีสันสวยงาม และสามารถนำมาทำเป็นขนมได้นั่นคือ ข้าวเขียบ หรอข้าวเกรียบนั่นเอง
วิธีการเตรียมรากเครือตดหมาก่อนจะนำเป็นส่วนผสมในการทำข้าวเขียบ
อันดับแรกนำเอาเครือตดหมามาล้างน้ำทำความสะอาด แล้วขูดเอาเปลือกของรากสีน้ำตาลออกให้เหลือแต่เนื้อสีขาวด้านใน จากนั้นนำมาหั่นเป็นชิ้น ๆ พอประมาณ แล้วนำมาตำให้ละเอียดก่อนจะนำไปละลายน้ำ และนำรากเครือตดหมาที่ละลายน้ำแล้ว มาแช่ร่วมกับน้ำจากการแช่ข้าวสารเหนียว ทิ้งไว้ 1 คืนยิ่งดี เพื่อใช้เป็นส่วนผสมของแป้งข้าวเขียบ เอ๊ะ อย่าลืมนึ่งข้าวเหนียวกันด้วยนะ
ส่วนผสมในการทำข้าวเขียบ (ขึ้นอยู่กับปริมาณที่เราจะทำข้าวเขียบ)
- ไข่ไก่
- เนย
- เกลือ
- น้ำตาล
- งาดำ
- งาขาว
- รากเครือตดหมา
- ใบเตย
- ข้าวเหนียวนึ่งสุกใหม่
- น้ำมันพืช
ขั้นตอนการทำ
- นำข้าวเหนียวนึ่งสุกใหม่ใส่ครกกระเดื่อง หรือครกมอง ในภาษาอีสาน
- ตำข้าวเหนียวนึ่งสุกใหม่ให้ละเอียด หรือเหนียวจนเป็นยาง
- จากนั้นทยอยนำน้ำรากเครือตดหมาใส่ลงไปเรื่อย ๆ
- ใช้มือสัมผัสให้รู้สึกให้เนื้อแป้งที่ตำผสมกับน้ำรากเครือตดหมาเนียนละเอียดดี แล้วทยอยใส่ส่วนผสมอื่น ๆ ลงไป
- ตำให้ส่วนผสมเข้ากันดี จนได้แป้งข้าวเขียบที่มีความยืดหยุ่นดี วิธีเช็กคือต้องไม่ติดครก ไม่ติดสาก หรือยืดแป้งดูแล้วไม่ขาด แสดงว่าได้ที่แล้ว
- จากนั้นนำมาใส่เครื่องขึ้นรูป ให้ได้เป็นแผ่นบาง ๆ รูปทรงกลม
- ต้องทาน้ำมันพืชเพื่อไม่ให้แป้งติดมือ และแผ่นพลาสติกที่ประกบตัวแป้งขณะขึ้นรูป
- พอได้แป้งข้าวเขียบถูกขึ้นรูปออกมาเป็นแผ่นแล้ว นำไปตากแดด ถ้าแดดดีให้ตาก 1 วัน แต่ถ้าฟ้าแดดไม่เป็นใจ ก็ต้องคอยกลับตัวแผ่นข้าวเขียบไปมา จนกว่าแผ่นแป้งจะแห้ง
วิธีรับประทาน
ให้นำไปย่างด้วยไฟ ด้วยความใจเย็น ถ้าไฟแรงต้องระมัดระวังเพราะข้าวเขียบจะไหม้ได้ พยายามพลิกกลับไปมาเพื่อให้ข้าวเขียบของเราพอง สวย มีสีสันสม่ำเสมอกันทั้งแผ่น ถ้าทำตามขั้นตอนนี้ได้ รับรองว่าข้าวเขียบจะ หอม กรอบ อร่อย แน่นอน