บาดแผลเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีอะไรบ้าง?
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าเราจะผ่านช่วงที่แย่ที่สุดไปแล้ว
แต่วิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้ ยังคงทิ้งร่องรอยและบาดแผลบางอย่างเอาไว้
แล้วร่องรอยและบาดแผลที่ว่านั้น มีอะไรบ้าง ?
- ภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล
โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลมีรายได้หลักคือ “การจัดเก็บภาษี”
ซึ่งบางครั้ง อาจจัดเก็บภาษีได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย หรือไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ทำให้รัฐบาลต้องไปกู้ยืมเงิน ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล หรือกู้ยืมเงินจากคนอื่นนั่นเอง หรือที่เรียกว่า หนี้สาธารณะ
ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ระบุว่าเมื่อปลายปี 2562 หรือช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 หนี้สาธารณะของไทยนั้น อยู่ที่ 7 ล้านล้านบาท
ปัจจุบัน หนี้ดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านบาท
สาเหตุสำคัญมาจาก รัฐบาลมีการกู้เงินมาใช้จ่าย เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมา
ภาระหนี้ภาคครัวเรือน
หากเราลองไปดูข้อมูลในปี 2562 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 79% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากอยู่แล้ว
แต่ปัญหานี้ก็ยิ่งมาถูกซ้ำเติมให้ทวีความรุนแรงขึ้น จากวิกฤติโควิด 19 ในรอบนี้
จนทำให้ ปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP นั้น พุ่งทะลุไปสูงกว่า 90%
เมื่อครัวเรือนมีรายได้จากการทำงานก็ต้องนำรายได้นั้นไปใช้คืนหนี้ เหลือใช้จ่ายน้อยลง
ทำให้การบริโภคลดลง จนส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงตามมา
การท่องเที่ยวที่ต้องใช้เวลา
กว่าจะฟื้นตัวกลับไปเป็นเหมือนเดิม
ปี 2562 หรือก่อนวิกฤติโควิด 19 รายได้จากการท่องเที่ยวของไทย
คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของมูลค่า GDP ประเทศไทย โดยประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท
หรือ 2 ใน 3 เป็นรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามายังประเทศไทยจำนวน 40 ล้านคน
ทุกคนรู้ดีว่า ในช่วงวิกฤติโรคระบาด การท่องเที่ยวประสบปัญหา
เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง เนื่องจากหลายประเทศงดการเดินทางระหว่างประเทศ
มาวันนี้ เมื่อวิกฤติโควิด 19 ค่อย ๆ ซาลง หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ได้แต่หวังว่าการท่องเที่ยวของไทย จะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับไปเป็นเหมือนเดิม