อันตรายจากการกินน้ำตาลมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ
น้ำตาลทรายที่เรากินเข้าไปจะผ่านกระเพาะอาหารไปยังลำไส้เล็กและจะถูกแยกออกเป็นสองชนิดเราเรียกว่าน้ำตาลกลูโคส (glucose) และน้ำตาลฟรุกโตส(fructose) ทั้งคู่จะถูกดูดดึงเข้าสู่กระแสเลือดเมื่อน้ำตาลกลูโคส (glucose)เข้าสู่กระแสเลือด อินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายผลิตได้เองจากตับอ่อนช่วยร่างกายในการปรับระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ให้สูงเกินไป (Hyperglycemia) หรือต่ำเกินไป (Hypoglycemia) จะถูกหลั่งออกมาเพื่อดึงเอาน้ำตาลกลูโคสออกไปเป็นพลังงานให้กับอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย ถ้าเหลือก็จะเก็บไว้เป็นพลังงานสำรองไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ แต่ถ้ายังเหลืออีกก็จะเปลี่ยนเป็นไขมันที่ชื่อว่าไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride)กระบวนการในส่วนนี้ถ้ากลูโคส (glucose) มากเกินไปทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค้างสูงก็จะนำไปสู่โรคเบาหวาน
แหล่งที่มาของกลูโคสในร่างกายมนุษย์ได้จากอาหารจำพวกแป้งซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ข้าว ขนมปัง ขนมจีน เค้ก ผลิตภัณฑ์จากแป้งสาลี แป้งข้าวเจ้า หรือแม้แต่ผักจำพวกฟักทอง มันเทศ มันแกว ผลไม้ หรืออาหารรสหวานต่างๆ
ส่วนน้ำตาลฟรุกโตส(fructose)เมื่อเข้าสู่ร่างกายและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดมันจะวิ่งตรงเข้าไปที่ตับเพื่อให้ตับเผาผลาญและเตรียมส่งไปให้ร่างกายใช้งาน แต่ถ้าอวัยวะต่างๆได้รับพลังงานจากกลูโคส (glucose) ไปหมดแล้วทั้งพลังงานสำรองที่ตับก็เต็มแล้วอีก ตับก็จะเปลี่ยนพวกฟรุกโตส(fructose) ส่วนที่เหลือเป็นไขมันที่ชื่อว่าไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride) แล้วก็เอาไปสะสมไว้ตามส่วนต่างๆของร่างกายเป็นไขมันสะสมแทรกผิวหนังไขมันในช่องท้องทำให้เราอ้วนลงพุงจนอาจนำไปสู่ไขมันพอกตับ หากร่างกายมีไตรกลีเซอไรด์สูง จะส่งผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคตับอ่อนอักเสบ โรคไขมันเกาะตับ และมะเร็งเต้านมได้
น้ำตาลฟรุกโตส(fructose)เป็นน้ำตาลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งพบในผลไม้เป็นหลัก เช่น แอปเปิ้ล อินทผาลัม ลูกแพร์ และลูกพรุน
แต่ยังรวมถึงในผักด้วย (เช่นหน่อไม้ฝรั่ง เห็ด หัวหอม และพริกแดง) น้ำผึ้ง หัวบีทน้และอ้อย ฟรุกโตสบริสุทธิ์ผลิตในเชิงพาณิชย์จากข้าวโพดหรือซูโครสในรูปแบบผลึกเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอาหารบรรจุหีบห่อและเครื่องดื่ม
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าไตรกลีเซอไรด์สูง? ไตรกลีเซอไรด์จะถูกขจัดออกจากเลือดได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังจากที่เรารับประทานอาหาร แต่หากตรวจเลือดหลังจากที่งดการรับประทานอาหารมาแล้ว 8-12 ชั่วโมง แล้วพบว่ามีค่า ไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 200 mg/dL นั่นหมายถึง ร่างกายของคุณกำลังมีปัญหาในการขจัดไตรกลีเซอไรด์ โดยไขมันไตรกลีเซอไรด์ระดับปกติจะอยู่ที่ 50-150 mg/dL
เมื่อตรวจพบว่ามีไตรกลีเซอไรด์สูง สิ่งแรกที่ควรทำคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- ต้องลดและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยแต่ละวันควรใช้เวลาออกกำลังกายอย่างน้อย 30-40 นาที
- รับประทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ไม่รับประทานอาหารมากเกินไป
- อย่าหยุดกินอาหาร เลือกกินสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่จากผักและผลไม้
- ลดปริมาณอาหารหรือเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีพลังงานต่ำ
- หลีกเลี่ยงอาหารทอด ผัด และอาหารที่มีไขมัน
- อัตราการลดน้ำหนักที่เหมาะสมในระยะสั้น คือ ใน 1 สัปดาห์ ควรลดน้ำหนักให้ได้ 0.5 – 1 กิโลกรัม และใน 6 เดือน ควรลดให้ได้ 5 – 10% ของน้ำหนักตัวปัจจุบัน
- รักษาน้ำหนักตัวที่ลดลงให้คงที่ไปมากกว่า 1 ปีเพื่อการลดน้ำหนักที่ยั่งยืน
- เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดี มีโอเมก้า 3 อยู่มาก เช่น แซลมอน ทูน่า ซาร์ดีน
- เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแป้งมาก อาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาล อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง อาหารที่มีไขมันสูง
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่