รัฐฯแจกเงินดีหรือเสียต่อเศรษฐกิจไทย
มีหลายพรรคการเมือง กำลังออกนโยบายที่เกี่ยวกับการแจกเงินให้กับประชาชน
บางพรรคจะแจกให้ประชาชนทุกคนที่อายุมากกว่า 16 ปี คนละ 10,000 บาท แต่จำกัดว่าต้องใช้ภายใน 4 กิโลเมตรรอบที่อยู่ตามบัตรประชาชน
บางพรรคเลือกแจกเฉพาะกลุ่ม ให้เดือนละ 1,000 บาท โดยไม่จำกัดระยะทาง
ตอนนี้คำถามที่หลายคนสงสัย ก็คงจะเป็น
1. รัฐแจกเงินแบบนี้ แจกได้ด้วยเหรอ รัฐจะมีต้นทุนที่ต้องชดใช้ตามมาหรือไม่ ?
2. ด้วยเงินก้อนเดียวกันนี้ ถ้านำไปทำอย่างอื่น จะได้ผลที่ดีกว่าการแจกเงินหรือไม่
3. เศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างไร กับนโยบายเหล่านี้
เริ่มที่เรื่องแรก รัฐนำเงินที่ไหนมาแจก เงินนี้มีต้นทุนไหม ?
แน่นอนว่า รัฐต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย การที่รัฐเอาเงินมาแจก มันก็แปลว่ารายการนี้จะเป็นรายจ่ายของภาครัฐ
เรามาดูตัวเลขกัน ในปี 2565 รัฐบาลไทยมีรายรับสุทธิที่ 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากการเก็บภาษีอากร
สำหรับนโยบายการแจกเงินเหล่านี้จะใช้เงินประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าคิดง่าย ๆ ก็ประมาณ 20% ของรายรับสุทธิของรัฐในปีที่แล้ว
ซึ่งถ้าถามว่าพอจะจ่ายได้ไหม ก็น่าจะทำได้ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้
1.รัฐต้องมีรายได้มากขึ้น
2.รัฐต้องนำงบประมาณจากส่วนอื่นมาจ่าย
3.รัฐต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อมาจ่าย ในกรณีที่รายได้ของรัฐไม่มากขึ้น และไม่ตัดงบประมาณส่วนอื่น
รัฐบาลสามารถหารายได้เพิ่ม เช่น การขึ้นอัตราภาษีได้ทั้งจากเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีสรรพสามิต ที่เก็บจาก น้ำมัน รถยนต์ เหล้า เบียร์
หรือรัฐสามารถลดงบประมาณกระทรวงอื่น ๆ เพื่อมาจ่าย เช่น ลดงบกระทรวงกลาโหม 500,000 ล้าน เพื่อมาแจกเงินให้ทุกคนคนละ 10,000 บาท (แค่ยกตัวอย่างเท่านั้น)
นอกจากนั้น รัฐบาลก็สามารถก่อหนี้เพิ่มได้ ตราบเท่าที่ยังต่ำกว่าเพดานหนี้ ปัจจุบันเพดานหนี้สาธารณะไทยถูกขยับขึ้นจาก 60% เป็น 70% ของ GDP ไปเมื่อ ปี 2021 เป็นการชั่วคราว 10 ปี
ซึ่งตัวเลขหนี้สาธารณะล่าสุดของไทยอยู่ที่ 61% และ GDP ไทยอยุ่ 17.4 ล้านล้านบาท
ถ้าให้คิดว่าไทยก่อหนี้เพิ่ม 5 แสนล้านบาทจากโครงการนี้ ก็จะทำให้ หนี้สาธารณะไทยขยับขึ้น 3% ของ GDP เป็น 64% ของ GDP ซึ่งก็ยังอยู่ต่ำกว่าเพดานหนี้
สรุปแล้ว รัฐสามารถหาเงิน 500,000 ล้านบาทมาแจกประชาชนได้ ตัวเลขนี้ถึงแม้จะดูมากก็จริง แต่เป็นตัวเลขที่สามารถจัดการได้ เมื่อเทียบกับฐานะทางการเงินของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน
แต่ทั้งนี้ก็อยู่ในเงื่อนไขที่ว่าเป็นการ “แจกครั้งเดียว” เพราะถ้ารัฐบาลแจก รัว ๆ แจกแบบนี้อีกแค่ 2 ครั้ง ก็อาจทำให้ติดเพดานหนี้สาธารณะแล้ว
ดังนั้นต้องระวังไว้ว่า รัฐแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ถ้าแจกรัว ๆ จะทำให้ถังแตก ได้เหมือนกัน
และนอกจากนั้นการที่ให้ทุกคนมีอุปสงค์ (Demand) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าผู้ผลิตไม่สามารถเพิ่มอุปทาน (Supply) ได้ทัน ก็จะทำให้ราคาสินค้าบริการปรับตัวสูงขึ้น และทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศ