ทางออกปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือต้องเร่งแก้ไขไม่ใช่หาแพะ
ประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี ภาคเหนือของไทยจะถูกคุกคามจากมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบหนักและถูกจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ของเมืองหลักที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดของโลก ยิ่งทำให้ปัญหาฝุ่นควันเป็นประเด็นเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมามีการพยายามโยนปัญหาไปยังเกษตรกรว่าเป็นต้นตอของการเผาพืชไร่ทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว แต่จริง ๆ แล้ว ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าของภาคเหนือเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ทั้งสภาพอากาศที่มีความแห้งแล้ง ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของไฟป่า ประกอบกับภูมิประเทศของภาคเหนือเองที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ถูกโอบล้อมด้วยภูเขา ทำให้การไหลเวียนอากาศไม่ดีนัก จึงเกิดการสะสมของฝุ่นควันจำนวนมาก
นอกจากนี้ ตามรายงานข้อมูลดาวเทียมของ GISTDA ยังพบจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทย ทำให้เกิด PM2.5 บริเวณพื้นที่ช่ายแดน จากอิทธิพลของกระแสลมที่พัดเข้ามาด้วย
แต่ปัญหามลพิษทางอากาศไม่ใช่ปัญหาระดับประเทศอีกต่อไป เพราะไทยเราไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องประสบกับปัญหานี้ เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผลการศึกษาด้านมลพิษทางอากาศที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยมหาวิทยาลัยโมนาชของออสเตรเลีย พบว่า ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประชากรโลกเพียง 0.001% เท่านั้น ที่ได้รับอากาศบริสุทธิ์ที่มีมลพิษระดับต่ำ นั่นหมายความว่า ปัจจุบันแทบจะไม่มีสถานที่ไหนในโลกปลอดจากหมอกควันและฝุ่นพิษเลย ซึ่งภูมิภาคของไทยก็ไม่ใช่พื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุด
ดังนั้น ไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากอะไร ทางออกของวังวนนี้ จึงไม่ใช่การควานหาต้นตอของปัญหาหรือผลักภาระให้แพะรับบาป แต่เป็นการพยายามหาทางแก้ไขและอยู่กับปัญหาให้ได้ ไม่ต่างกับการออกจากวังวนของโควิด-19 ที่เราต้องเดินหน้าต่ออย่างเข้มแข็ง ด้วยการอยู่กับปัญหาให้ได้ โดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งแนวทางหลายอย่างที่หลายภาคส่วนพยายามทำอยู่ตอนนี้ก็เป็นแนวทางที่เหมาะสม ทั้งในระดับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการแก้ไขในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่น การพัฒนาหน้ากากกันฝุ่น อาสาดับไฟ นโยบายห้ามเผาในที่โล่ง การทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ การใช้พลังงานสะอาด
โดยการขับเคลื่อนการหยุดมลพิษจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเชื่อมโยงพลังของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนในทุกระดับ เพราะปัญหาฝุ่นควันเป็นปัญหาที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ที่สำคัญยังเป็นปัญหาข้ามพรมแดน จึงต้องมีเป้าหมายร่วม มองเห็นจุดเดียวกัน และฝ่าฟันไปให้ถึงจุดหมายร่วมกัน













