ประเทศที่มีจำนวนคนตายมากกว่าเด็กเกิดใหม่
ในหลายๆประเทศอาจจะกำลังพบกับปัญหา 'มีเด็กเกิดใหม่มากเกินไป' จนส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสังคม ที่อาจไม่พร้อมรองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเร็วเกินไป จนทำให้ทรัพยากรหลายๆอย่างไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัญหาในด้านนี้ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะในกลุ่มประเทศยากจนหรือร่ำรวย แต่ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ดูเหมือนว่าปัญหาด้านประชากรในหลายประเทศ จะ 'กลับตาลปัตร' คือแทนที่จะเป็นปัญหาในเรื่องที่มีเด็กเกิดใหม่มากเกินไป กลับเป็น 'มีปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยเกินไป' มาแทน ซึ่งทำให้มีความกังวลกันว่า ในอนาคตอาจจะประสบกับปัญหาแรงงาน เพราะในภาคการผลิตยังจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากคนหนุ่มสาว
ในปัจจุบันมีอย่างน้อย 30 ประเทศ ที่มีอัตราการเสียชีวิต สูงกว่าอัตราการเกิดใหม่ หรือหมายความว่า ถ้าประเทศเหล่านี้ไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาได้ ประชากรของประเทศดังกล่าว 'จะลดจำนวนลงเรื่อยๆ' และจะส่งผลกระทบตามมาในอนาคต ส่วนประเทศที่ประสบปัญหาจำนวนประชากรลดลงมากที่สุดในปัจจุบัน เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างอัตราการตายและอัตราการเกิด ได้แก่
ประเทศลัตเวีย (Latvia) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐลัตเวีย (Republic of Latvia) เป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปเหนือ ถือเป็นประเทศขนาดเล็กและมีประชากรน้อยอีกประเทศหนึ่ง โดยมีประชากรประมาณ 1.875 ล้านคนในปี 2019 ลัตเวียมีอัตราการตายอยู่ที่ 14.5 ต่อประชากร 1000 คน และมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 9.8 ต่อ 1000 หรือเท่ากับอัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ที่ -1.10 (ประชากรลดลง) ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดในบรรดารัฐเอกราชทั้งหมด ประชากรของลัตเวีย ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 32 นับตั้งแต่ปี 1991 โดยในปี 1990 ลัตเวียมีประชากร 2.668 ล้านคน ในขณะที่ปี 2022 มีประชากร 1.875 ล้านคน โดยในแต่ละปี ประชากรของประเทศนี้จะลดลงเฉลี่ยที่ประมาณ 10,000 คน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ประชากรลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ประเทศมอลโดวา (Moldova) ที่ประชากรลดลงถึง 20 ปี จาก 23 ปีล่าสุด หรือประเทศลิทัวเนีย ที่มีอัตราประชากรลดลงที่ 1.04 และประเทศเอสโตเนีย ที่ลดลงในอัตรา 0.69โดยทุกประเทศที่กล่าวมา ล้วนอยู่ในทวีปยุโรปทั้งสิ้น