วันขึ้นปีใหม่
วันขึ้นปีใหม่ เป็นเวลาที่ปฏิทินปีใหม่เริ่มต้นและนับปีปฏิทินเพิ่มขึ้นหนึ่งปี วันขึ้นปีใหม่ในปฏิทินกริกอเรียนที่ใช้กันทั่วโลกปัจจุบัน
ตรงกับวันที่ 1 มกราคม
อนึ่ง เทศกาลปีใหม่ อาจหมายถึงวันที่นับจากวันหยุดวันแรกในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคมปีก่อน จนถึงวันหยุดสุดท้ายในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม สำหรับชาวคริสต์จะหยุดตั้งแต่คริสต์มาสไปจนถึงวันขึ้นปีใหม่ รวม 8 วัน
วันปีใหม่มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี
และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนทุก 4 ปี
ต่อมาชาวอียิปต์ ชาวกรีก และชาวเซมิติก ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียส ซีซาร์
ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอะเลกซานเดรียชื่อ เฮมดัล มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน
เมื่อเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในทุก ๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน
วันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกพอดี เรียกว่า วสันตวิษุวัต
แต่ในปี ค.ศ. 1582 (ตรงกับ พ.ศ. 2125) วสันตวิษุวัตกลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 จึงปรับปรุงแก้ไขโดยหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน
และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1582 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะปีดังกล่าว) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรโกเรียน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , https://pakmud.com/free-happy-new-year-images/