ไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก / รุ้ง เริงธรรม กับชีวิตสมถะ มุ่งสู่นิพพาน
ไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก / รุ้ง เริงธรรม กับชีวิตสมถะ มุ่งสู่นิพพาน
จาก...วิโรจน์ นุ้ยบุตร สู่...ไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก
ถอยหลังกลับไปที่ปี พ.ศ.2484 ไม้ร่มเกิดและเติบโตที่ ต.ชลคราม อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ผ่านการเรียนชั้นประถมที่ ร.ร.ชลคราม และชั้นมัธยมที่ ร.ร.หลังสวน สวนศรีวิทยา จากนั้นเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาเรียนต่อศิลปะที่ ร.ร.เพาะช่าง โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้อุปการะในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียน ภายหลังจากที่ได้ซื้อภาพเขียนสีน้ำมันของไม้ร่มไปหมดทั้ง 3 ภาพ ในช่วงเวลาที่ได้ไปเห็นผลงานจัดแสดงร่วมกับเพื่อนๆ ณ บางกะปิแกลเลอรี่
เมื่อชีวิตกลับคืนสู่ความยากลำบากอีกครั้ง เพราะขัดแย้งกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทำให้ไม่มีผู้ส่งเรียนต่อ เขาจึงต้องไปนอนบนส้วมในบ้านที่เช่าอยู่ในราคาถูกกับ ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ เพื่อนจากสุราษฎร์ธานี ผู้สร้างตำนานหุ่นขี้ผึ้งไทย กระทั่งมีฝรั่งจีไอที่ชื่อชอบในผลงานและไปพบเขาวาดภาพขายที่ถนนสุขุมวิท ส่งเสียให้เรียนจนจบ
จบจากรั้วเพาะช่างไม้ร่มมีอาชีพเป็นครูสอนศิลปะ ที่โรงเรียนนานาชาติ I.S.B กรุงเทพฯ โดยเพื่อนที่ไปสมัครเป็นครูศิลปะพร้อมๆกันในเวลานั้นคือ ถวัลย์ ดัชนี (ศิลปินแห่งชาติ) และปรีชา อรชุนกะ ระหว่างนั้นเขาเคยได้รับคัดเลือกให้แสดงงานคู่กับศิลปินเอกของเยอรมัน Horst Janssen จนพิพิธภัณฑ์จากนิวยอร์คส่งคนมาซื้อภาพเขียนของเขาถึงบ้าน
แต่ที่สุดแล้วเพื่อนร่วมรุ่นศิลปินแห่งชาติ กมล ทัศนาญชลี ชายผู้ถูกยกย่องจาก Dr.Albert J. Bryniarski ผู้อำนวยการสถาบันฯ ว่าเป็นนักสอนศิลปะมือหนึ่ง ที่ไม่เป็นรองใครในโลก และได้รับการคัดเลือก ให้ศึกษาวิธีการเรียนการสอนศิลปะแนวใหม่ จาก Dr.Ronald A. Haxamer นักการสอนแนวหน้าของโลก ตัวต่อตัว ก็ทิ้งเงินเดือนเกือบห้าหมื่น ที่มากกว่านายกรัฐมนตรีของประเทศในเวลานั้น และสิ่งต่างๆที่เคยพันธการชีวิต สู่รั้วของพุทธสถานสันติอโศก ที่มีรุ่นพี่ศิษย์เก่าเพาะช่างอย่าง สมณะโพธิรักษ์ เป็นเสาหลัก
“อยู่โรงเรียนนานาชาติ ได้เงินมาก็ไปอยู่ในบาร์ในคลับ พอวันหนึ่งไม้ทิ่มตา ต้องหยุดสอนไปสี่เดือน ก็เลยได้มีเวลานอนคิด เราจะเอายังไงกับชีวิต โทรไปหาเพื่อนที่ชื่อ นัฐ กาญจนทัศน์ (ตอนนี้บวชเป็นพระอยู่ที่วัดบุปผา ย่านฝั่งธน) ซึ่งเป็นเพื่อนรักที่ไม่ได้เจอกันนานตั้งแต่เรียนจบเพาะช่าง เพื่อนตัดผมเกรียน การพูดการจาเรียบร้อย ผมเอาเหล้าเอาเบียร์ และกับแกล้มอย่างดีเตรียมไว้ให้ ก็ไม่ยอมกิน จึงถามว่าไปบวชมาหรือ เขาบอกไม่ได้บวช ผมบอกไม่เป็นไร ไปเรียนที่ไหนมาจงเขียนที่อยู่ของสถานที่นั้นให้ จะไปดูด้วยตัวเอง เขาจึงบอกว่าเขาไปที่สันติอโศก”
ครั้งแรกของการไปเยือนสันติอโศก ก่อนที่จะไปนั่งแถวหน้าฟังเพื่อฟังเทศน์จาก “พ่อท่าน” หรือ สมณะโพธิรักษ์ สายตาของวิโรจน์พลันเหลือบไปเห็นประโยคๆหนึ่งที่เขียนติดไว้อยู่ใต้ถุนโบสถ์ “วันเวลาล่วงไป บัดนี้เธอทำอะไรอยู่ ดีหรือชั่ว” ชีวิตที่เคยไล่ล่าตามหาสิ่งปรนเปรอชีวิตมาเกือบครึ่งชีวิตและโลดโผนโจนทะยานจนยากจะควบคุม จึงได้เริ่มหยุดคิดและตระหนักรู้ในตัวเองมากขึ้น
“พอยิ่งไปฟังพ่อท่านเทศน์ ซึ่งท่านเทศน์ชัดมาก ผมน้ำตาซึม หืดเริ่มขึ้นคอ อยากจะร้องไห้ ตั้งแต่วันนั้นมา ผมจึงเริ่มเปลี่ยนตัวเอง เลิกกินเนื้อสัตว์ เลิกกับภรรยาคนที่สอง และค่อยๆละเลิกสิ่งต่างๆ”
ศิลปินผู้ฝากผลงานชิ้นเอกตกแต่งไว้ภายในรั้ววัดที่เขาศรัทธาบอกเล่าว่า หนึ่งชีวิตผ่านดีและชั่วมาแล้วมากมาย แม้แต่ความขมขื่นอันมาสำนึกได้ในภายหลัง เช่นเรื่องที่ภรรยาคนแรก ซึ่งเป็นบุตรสาวคนเดียวของตระกูล “บุนนาค” ใน จ.กระบี่ ต้องมาจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะความเจ้าชู้ของเขา
“ภรรยาคนแรกรักผมมาก แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ชีวิตของผมค่อนข้างมั่ว ไม่รู้ว่าเป็นหนุ่มรูปหล่อหรือไม่หล่อ ก็ไม่รู้ แต่เป็นอาร์ตติส แต่งตัวก็แปลกกว่าคนอื่น สาวๆที่เห็นความบ้าของเราแล้วชอบก็มี”
แม้จะตัดสินใจสละทิ้งแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งบริจาคและขายไปในราคาบุญนิยม แต่ชีวิตที่หันเข้าหาธรรมก็ต้องเรียนรู้ผิดถูกอยู่นาน กว่าจะเป็นชีวิตที่เข้มแข็งในธรรม
“เราเป็นเหมือนคนที่ว่ายน้ำในท้องทะเลลึก เราทิ้งของที่เราเคยเกาะ ทุ่นที่เราเคยเกาะ แล้วอยากจะว่ายน้ำด้วยตัวของเราเอง แรกๆมันก็ได้อยู่ แต่ซักพักมันก็หมดแรง เจอหมาเน่าเราก็เกาะ เจอผู้หญิงคนไหนเราก็อยากจะไปสมสู่ อยากจะไปเป็นผัวเป็นเมียกัน เพราะตัวราคะ มันไม่ใช่ของเล่น เราสั่งสมมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันชาติ แต่อย่างไรเสีย ผมก็ทำกับตัวเองแรง ทิ้งลูกทิ้งเมีย ทิ้งบ้าน ทิ้งทรัพย์สมบัติ ผมเคยมีที่ดินอยู่หลายจังหวัด ผมทิ้งไปหมด
"ผมว่าปล่อยให้มันเป็นไปตามที่เขามองว่ามันเป็นนั่นแหละ ถ้าเขาเป็นโจร ก็คิดอย่างโจร เป็นพระก็คิดอย่างพระ เขาเป็นพ่อค้าก็คงคิดอย่างพ่อค้า แต่เราเป็นใคร เราต้องถามตัวเองว่าเราคิดยังไง ทุกอย่างมันอยู่ที่เรา แน่นอนครับว่าต้องมีคนกล่าวหาอยู่แล้วว่าเราเข้ามาหลอกเด็กหรือเปล่า บางคนก็อาจมองว่าเพราะผมมีเงินมากเลยซื้อเด็กสาวมาเป็นทาสบำรุงความใคร่ได้ หรือบางคนคงมองว่าคงอยู่กันได้ไม่กี่น้ำหรอก อย่างมากก็ปีสองปี บางทีผัวอยู่ไม่กี่ปีอาจจะตายไปเพราะว่าแก่มากแล้ว หรือบางคนถึงกับพนันขันต่ออีกว่าระหว่างผม พ่อตา แม่ยายใครจะตายก่อนด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะอายุเราไล่เลี่ยกัน ผมว่าผมเดาไม่ผิด เพราะน่าจะเป็นอย่างนั้น นี่คือการเดาของผม ซึ่งที่เคยได้ยินมาบ้างก็มี"