Carbon Credit คืออะไร ? หน้าตาเป็นยังไง ?
คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ หากจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ก๊าซต่างๆ ที่ทำให้ปฏิกิริยาเรือนกระจก (จำนวนคาร์บอน) ที่แต่ละองค์กรสามารถลดได้ต่อปี และหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้
ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตได้กำหนดกลไกต่างๆ ให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หนึ่งในกลไกคือ การซื้อขายมลพิษ หรือ คาร์บอนเครดิต กับประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถลดก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกลงตามที่กำหนดไว้ได้
สำหรับประเทศไทย ได้เข้าร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 โดยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ถูกบังคับให้มีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถร่วมดำเนินโครงการได้ในฐานะผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินโครงการ และในปี พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization :TGO) ภายใต้กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ กลั่นกรอง และทำความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด รวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง ส่งเสริมการพัฒนาโครงการ และการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ที่ได้รับการรับรอง เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับคำรับรอง และการขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ที่ได้รับการรับรอง ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยจะเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ
ตลาดคาร์บอนเครดิต เป็นตัวกลางที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยการนำสินค้าที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตมาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน ที่ทำให้เครื่องมือทางการตลาด (Market Mechanism) สำหรับการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมสามารถบรรลุผลได้จริง กล่าวคือ การจัดตั้งและดำเนินการตลาดคาร์บอนเครดิต ส่งผลทำให้มีการกำหนดราคาสินค้าบนพื้นฐานของการคำนึงถึงปริมาณการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการตระหนักและให้ความสำคัญกับต้นทุนทางสังคม
ที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประชาชนควรแบกต้นทุนเหล่านี้ด้วย ท้ายที่สุดแล้วตลาดคาร์บอนเครดิต
เป็นจุดนัดพบระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ลงทุนหรือบุคคลอื่นๆ ที่มีเป้าหมายตรงกันด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม
ตลาดคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) ถูกจัดตั้งขึ้นจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย มีกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายกำกับอย่างชัดเจน ซึ่งต้องมีรัฐบาลออกกฎหมายและเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผู้ที่เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Legally Binding Target) หากผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะถูกลงโทษ และ/หรือ ผู้ที่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมาย
2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับ การจัดตั้งตลาดเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กรเพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดด้วยความสมัครใจ โดยอาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองโดยสมัครใจ (Voluntary) แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Non-legally Binding Target) กล่าวคือ กรณีที่องค์กรใดที่สมัครใจดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการดังกล่าวสามารถนำมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ และองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนด สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตดังกล่าวเพื่อทำให้ตนเองได้รับสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้งในปริมาณที่ไม่เกินกว่าปริมาณที่กำหนด
สถานการณ์ตลาดคาร์บอนในประเทศไทย ปัจจุบันมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 อยู่ในรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ภายใต้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ TGO เป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากโครงการดังกล่าว จะเรียกว่า เครดิต TVERs สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ผ่านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ อีเว้นท์ ซึ่งปัจจุบันการขายคาร์บอนเครดิตยังเกิดขึ้นไม่มาก
หรือ อธิบายง่ายๆ เลยคือ ศักยภาพการหายใจของต้นไม้ หรือ ปริมาณที่ต้นไม้สามารถดูดคาร์บอนไดออกไซด์ เข้าไป 1 ตัน = 1 คาร์บอนเครดิต คนมักจะมองว่าต้นไม้จะมีราคาก็ต่อเมื่อนำไปแปรรูปแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ต้นไม้จะมีมูลค่าโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยวิธีนี้ จะทำให้ ต้นไม้จะสามารถอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ และสร้างผลประโยชน์ให้กับทั้งเจ้าของที่และโลกไปควบคู่ไปด้วยกัน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ดังนี้
บริษัท A ผลิตสินค้า โดยสร้าง คาร์บอนฟุตปรินท์ทั้งกระบวนการ อยู่ที่ 100 หน่วย
ค่ามาตรฐาน คาร์บอนฟุตปรินท์ ของประเภทสินค้า A ที่กำหนดโดยรัฐบาล อยู่ที่ 70 หน่วย
= บริษัท A มีค่าคาร์บอนเครดิต -30 หน่วย
ค่าคาร์บอนเครดิต ที่ติดลบ 30 หน่วยนี้ อาจส่งผลให้
- บริษัท A ต้องจ่ายภาษีด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น
- บริษัท A อาจไม่สามารถส่งออกสินค้า ไปยังประเทศที่มีมาตรการกีดกันสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
ทางออกของบริษัท A ที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงได้แก่
- ลงทุนปรับปรุงคุณภาพ ขั้นตอน เทคโนโลยีการผลิต ให้ผลิตคาร์บอน น้อยลง
- เพิ่มศักยภาพ ภาคดูดซับคาร์บอน เช่น ปลูกสวนป่าในพื้นที่ของบริษัท A
- ซื้อคาร์บอนเครดิต จากตลาดการค้าคาร์บอน
ทางออกที่ไวที่สุด ก็คือข้อ 3 นี่ล่ะครับ ที่บริษัท A ต้องใช้เงินแก้ปัญหา โดยการซื้อ Carbon Credit มาชดเชยให้สินค้าของตนเอง ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่นำมาจำหน่ายนี้ ก็จะได้มาจากบริษัทอื่นๆ ที่สามารถควบคุมปริมาณคาร์บอนของตนเองให้ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด จนมีค่า Carbon Credit คงเหลือ สามารถนำมาขายต่อในตลาดได้ ยกตัวอย่าง เช่น TESLA ซึ่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนมีจำนวน Carbon Credit คงเหลือมหาศาล ก็สามารถนำ Carbon Credit ของตัวเองมาขาย จนสร้างรายได้ไปถึง 3,300 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หรือ คิดเป็นเงินไทย ราวๆ 1 แสนล้านบาทเลยครับ
ซึ่งโอกาสในตลาดการค้าคาร์บอนเครดิต จะไม่ตกอยู่กับแค่ กลุ่มทุนใดกลุ่มหนึ่ง ที่มีเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายโอกาสในการสร้างรายได้ไปยัง พี่น้องประชาชนในชนบท ผ่านเครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศ ที่ปลูกต้นไม้ขยายพื้นที่ป่ากันอยู่แล้วด้วย ฉะนั้น ต่อไปในอนาคต การปลูกและรักษาต้นไม้เอาไว้ มีแนวโน้มที่จะสร้างรายได้และประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมให้พี่น้องคนไทย ได้มากกว่าการตัด
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/TOPVarawut/videos/1321362245272938/
https://www.tris.co.th/carbon-credit/#:~:text=คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิ,%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94