อาจารย์นิติศาสตร์ หากทำตัวเป็นแม่ปูสอนลูกปู จาก "อาจารย์" จะกลายเป็น "อาจม"
อาจารย์นิติศาสตร์ หากทำตัวเป็นแม่ปูสอนลูกปู จาก "อาจารย์" จะกลายเป็น "อาจม"
อาจารย์สอนนิติศาสตร์ อย่าทำตัวเป็นแม่ปู
หลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงที่สื่อทางสังคมออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น สร้างช่องทางในการสื่อสารต่อสาธารณชนได้กว้างขวางและง่ายขึ้น ดังนั้นเมื่อมีประเด็นที่ต้องแสดงความคิดเห็น ต่างคนก็ต่างตั้งตัวเองเป็นพหูสูตร เป็นกูรู เป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้น ๆ เสมือนกับตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นจริง ๆ หากเป็นสามัญชน คนธรรมดาทั่วไป ความคิดเห็นส่วนตัวนั้นจะผิดบ้างถูกบ้าง ก็ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ย่อมไม่มีน้ำหนักพอที่จะชี้นำสังคมให้เขวไปตามความคิดของคน ๆ นั้นได้มากนัก
แต่หากผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมาย เป็นครูบาอาจารย์ ที่สอนวิชานิติศาสตร์ในสถาบันการศึกษาโดยตรง ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว แต่เลือกดึงหรืออ้างเฉพาะกฎหมายในวรรค / ตอนของมาตราใด มาตราหนึ่ง บทใดบทหนึ่ง ฉบับใดฉบับหนึ่ง ที่สนับสนุนแนวความคิด / ค่านิยม ทางการเมือง หรือความเชื่อ/ความศรัทธาส่วนตัว/กลุ่มหรือพรรคพวก โดยมิได้วิเคราะห์หรือใช้กฎหมายให้ครบถ้วนทุกวรรค/ตอน/บท/ฉบับของกฎหมายฉบับนั้น รวมทั้งฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย หรือหากเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ที่มีตัวบทขัดแย้งกันเองก็มิได้วิเคราะห์ให้ครบถ้วนทุกประเด็น แต่เลือกอ้างเฉพาะวรรค/ตอน/บท ที่สนับสนุนความคิดของตัวเองเท่านั้น หากในรัฐธรรมนูญขัดแย้งกันเอง ก็ควรวิเคราะห์ถึงหลักนิติวิธีประกอบด้วย เพื่อให้การใช้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นกลางและเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นการสร้างให้ผู้ที่จบนิติศาสตร์ ไปทำหน้าที่อัยการ/ผู้พิพากษา/อนุญาโตตุลาการ/ผู้ว่าคดี ที่เที่ยงธรรม เป็นกลางและยุติธรรม ไม่ใช่เพียงแค่สร้างทนายความ ที่จะอ้างกฎหมายเฉพาะที่เป็นประโยชน์ต่อลูกความของตนเองเพื่อชนะคดี/ข้อพิพาทเท่านั้น
ดังนั้นครูบาอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ ควรทบทวนตัวเองว่ายังคงเป็นผู้ที่สมควรที่จะถูกเรียกว่า "อาจารย์" ต่อไปหรือ ควรจะถูกตราหน้าว่าเป็น "อาจม"
อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ
ถ้าพร่ำสอนผู้อื่นฉันใด ก็ควรทำตนฉันนั้น /
ก่อนจะสอนใคร ควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ได้เสียก่อน