ปลิงบำบัด...ความสยองที่สยบโรค
ปลิงบำบัด ความสยองที่สยบโรค
กระแสความตื่นตัวเรื่องปลิงบำบัดในไทยปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้น ใช้ตั้งแต่การรักษาสิว แผลติดเชื้อ ไมเกรน ในเว็บไซต์สุขภาพจำนวนมากใช้ปลิงบำบัดสารพัดโรค ตั้งแต่ ผมร่วง หัวล้าน ข้อเข่าอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน การได้ยิน ต้อหิน เหงือกอักเสบ ความดันเลือดสูง แม้กระทั่งมะเร็ง ดาราดังในฮอลลีวูด เช่น เดมี่ มัวร์ ก็เคยใช้ปลิงในการล้างพิษในเลือดเมื่อปีค.ศ. 2008 มาแล้ว
ปลิง (Leech)
ปลิงเป็นสัตว์ที่ไม่มีพิษ แต่ดำรงชีวิตด้วยการดูดเลือดสัตว์อื่นเป็นอาหาร ด้วยลักษณะเฉพาะนี้ จึงนิยมใช้ปลิงในการบำบัดโรค (Leech therapy) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Hirudotherapy ตามชื่อสารฮิรูดิน
ปลิงเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในไฟลัมแอนเนลิดา (phylum Annelida) ในซับคลาสฮิรูดินี (subclass Hirudinea) เป็นสัตว์สองเพศหรือกะเทย (hermaphrodites) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด มีบางชนิดที่พบอาศัยอยู่บนบก และในแหล่งน้ำเค็ม ดำรงชีวิตเป็นแบบปรสิตชั่วคราวดูดเลือดสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร
ความเป็นมาของปลิงบำบัด
การใช้ปลิงบำบัดมีมานานหลายพันปี ตั้งแต่เริ่มต้นเกิดอารยธรรมเมือง เมืองโบราณเช่น อียิปต์ อินเดีย กรีก และอาหรับ มีการใช้ปลิงในการรักษาโรค โดยการเอาเลือดออกจากร่างกาย เพราะเชื่อว่าเป็นการเอาเลือดเสียหรือเป็นพิษออกไป จึงใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ระบบประสาท ความผิดปกติของระบบขับปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ การอักเสบ โรคฟัน
การแพทย์แผนไทยก็มีตำราแผนปลิง และได้ประกาศเป็นตำราการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ แต่พบว่า แพทย์แผนไทยไม่มีประสบการณ์การใช้ปลิงรักษาเหมือนแพทย์อายุรเวทของอินเดีย
ปลิงรักษาโรคได้อย่างไร
บทบาทของปลิงในการบำบัดโรค เริ่มจากเมื่อปลิงสัมผัสกับผิวหนังคนไข้ มันจะเริ่มดูดเลือดและปล่อยน้ำลายออกมา ซึ่งในน้ำลายนี้จะมีเอนไซม์และสารประกอบหลายชนิดที่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ เช่น
– ฮิรูดิน (Hirudin) : มีคุณสมบัติช่วยในการยับยั้งการแข็งตัวของเลือดโดยจับกับทรอมบิน (thrombin)
– เคลิน (Calin) : มีคุณสมบัติยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ยับยั้งการตกตะกอนของเกล็ดเลือดที่เป็นคอลลาเจน
– เดสทาบิเลส (Destabilase) : มีคุณสมบัติเกี่ยวกับเกี่ยวกับการจดจำ ช่วยละลายไฟบริน (fibrin) การเกิดการแข็งตัวของเลือดเป็นลิ่มเลือด
– ฮิรูสแทซิน (Hirustasin) : มีคุณสมบัติยับยั้ง ทริปซิน (trypsin) และไคโมทริปซิน (chymotrypsin)
– เดลลินส์ (Bdellins) : มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ยับยั้งทริปซิน พลาสมิน (plasmin) และอะโครซิน (acrosin)
– ไฮอะลูโรนิเดส (Hialuronidase) : มีคุณสมบัติเป็นสารปฏิชีวนะ (antibiotic)
– ทริปเทสอินฮิบิเตอร์ (Tryptase inhibitor) : ยับยั้งเอนไซม์โพรทีโอไลติก (proteolytic enzyme) ในเซลล์แมสท์ (mast cell) ของโฮสต์
– เอกลินส์ (Eglins) : มีคุณสมบัติต่อต้านการอักเสบ ยับยั้งกิจกรรมของแอลฟาไคโมทริปซิน และไคแมส (chymase)
– คาร์บอกซิเพปทิเดสเออินฮิบิเตอร์ (Carboxipeptidase A inhibitors) : มีคุณสมบัติในการเพิ่มการไหลเข้าของเลือดที่ตำแหน่งที่ถูกกัด
– สารวาโซดิเลติง (vasodilating agents) : มีคุณสมบัติช่วยในการขยายผนังหลอดเลือด
– สารที่มีสมบัติคล้ายฮิสทามีน (Histaminelike substances) : เพิ่มการไหลเข้าของเลือดที่ตำแหน่งถูกกัด และขยายหลอดเลือด
– อะซิทิลโคลีน (Acetylcholine) : มีคุณสมบัติในการขยายหลอดเลือด
– สารที่เป็นยาชา (Anesthetics substance) : มีสมบัติเป็นยาชา
ปลิงรักษาโรคได้จริงหรือไม่
รายงานการวิจัยจำนวนมากในวารสารวิชาการ PubMed ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ยืนยันประสิทธิผลการรักษาด้วยปลิงบำบัด โดยเฉพาะในการรักษาข้อเสื่อม ช่วยลดอาการปวด การเคลื่อนไหวของข้อดีขึ้น และลดการติดขัดของข้อ
ในระยะยาวพบว่าแพทย์มีการใช้ปลิงบำบัดโรคได้อย่างหลากหลายมากขึ้น เช่น ช่วยปรับความดันโลหิตสูงของคนไข้ รักษาคนไข้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดในสมองตีบให้เลือดสามารถไปเลี้ยงสมองได้ รักษาบาดแผลของผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่าในบางประเทศนิยมใช้ปลิงรักษาคนไข้ที่มีสิวอักเสบบนใบหน้ากันอย่างแพร่หลายอีกด้วย อย่างไรก็ตามการใช้ปลิงบำบัดควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ไม่ควรนำปลิงมารักษาด้วยตนเอง และยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและผลแทรกซ้อนของการใช้ปลิงบำบัด เพราะยังคงมีปัญหาแทรกซ้อนจากการใช้ปลิงบำบัดอยู่ โดยเฉพาะการติดเชื้อ เลือดไหลไม่หยุด และผู้ใช้ขาดความรู้ความชำนาญ
อ้างอิงจาก: นพ.ประพจน์ เภตรากาศ, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี