ปวดท้องประจำเดือน เป็นเรื่องปกติจริงหรือ ?
ปวดท้องประจำเดือน เป็นเรื่องปกติจริงหรือ ?
อาการปวดประจำเดือนคืออะไร
ผู้หญิงจำนวนมากมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรกๆ อาการปวดประจำเดือนมีตั้งแต่อาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อย และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น
สาเหตุของการปวดประจำเดือน
โดยเฉลี่ยทุกๆ 28 วัน หากไข่ไม่มีอสุจิมาปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น
ประเภทของอาการปวดประจำเดือน
อาการปวดประจำเดือนแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน
1.ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุมักเกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไป
2.ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) เกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกโพรงมดลูก ซึ่งเมื่อเจริญผิดที่แต่ยังทำหน้าที่สร้างประจำเดือนเหมือนเดิม ทำให้อาจมีเลือดประจำเดือนในอุ้งเชิงกรานบริเวณที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเกาะในแต่ละรอบเดือน ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงและอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก
เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดประจำเดือนอย่างมาก และ/หรือ เลือดประจำเดือนมากและยาวนานกว่าปกติ
เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids) มักไม่ใช่เนื้อร้าย ขนาดมีตั้งแต่เล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่ หากมีขนาดใหญ่ มักทำให้มีเลือดประจำเดือนออกมามากหรือประจำเดือนกระปริบกระปรอยนานเป็นสัปดาห์ พร้อมกับอาการปวดประจำเดือนหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง
ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis) เกิดจากปากมดลูกแคบเกินไป ทำให้เลือดประจำเดือนไหลได้ช้า แต่หากรูปิดสนิทจะทำให้ของเหลวคั่งค้างภายในโพรงมดลูก ทำให้เกิดอาการปวดท้องมากและเรื้อรัง
ปัญหาของมดลูก ท่อรังไข่ หรือระบบอวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ ซึ่งผิดปกติมาแต่กำเนิด ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยช่วงมีประจำเดือน
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่อาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคภัยที่ร้ายแรงกว่าอาการปวดประจำเดือนทั่วไป จึงควรพบแพทย์
1.รับประทานยาแล้วแต่ยังไม่หายปวด
2.อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น และมีผลต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
3.มีไข้พร้อมปวดประจำเดือน
4.เลือดประจำเดือนไหลออกมามากว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย เกือบทุก 1-2 ชั่วโมง หรือมากกว่า 80 ml. ต่อรอบเดือน
5.รู้สึกปวดท้องน้อยถึงแม้ไม่มีประจำเดือนก็ตาม6
6.มีบุตรยาก
ขอบคุณ โรงพยาบาลพญาไท