เสียงสะท้อน "นักวิชาการ" ประสานเสียง "สนับสนุน" ดีลควบรวมทรูดีแทค เชื่อประโยชน์จะเกิดกับประชาชน
เสียงสะท้อน "นักวิชาการ" ประสานเสียง "สนับสนุน" ดีลควบรวมทรูดีแทค
เชื่อประโยชน์จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและประเทศ
บทสรุปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ดีลทรูและดีแทค ได้จบไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่มีการจัดงานทั้งหมด 3 ครั้ง พบว่า เสียงส่วนใหญ่แนวโน้มสนับสนุนในดีลนี้ เห็นด้วยกับการควบรวมทรูและดีแทค เพราะมองว่าจะทำให้การแข่งขันมากกว่าเดิม พร้อมให้ความเห็นเสนอแนะ กสทช. เฝ้าระวังธุรกิจโทรคมนาคมเกิดใหม่ของต่างประเทศ ที่จะมากลืนกินส่วนแบ่งตลาดคมนาคมไทย และถือเป็นสาเหตุใหญ่ที่ต้องมีมาตรการควบคุมธุรกิจ OTT อย่างจริงจัง ไม่ใช่เกิดผลกระทบต่อผู้บริการเครือข่าย แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการสื่อโทรทัศน์อีกด้วย
นายรุจิระ บุนนาค อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า การควบรวม TRUE และ DTAC นับว่ามีประโยชน์อยู่พอสมควร ซึ่ง กสทช.ควรมองตรงนี้ด้วย ไม่ใช่มองแต่เรื่องการแข่งขันอย่างเดียว ขณะที่การควบรวมฯดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการที่มากขึ้น เพราะสถานีที่ให้ในการรับส่งมีมากขึ้น และมีช่องสัญญาณมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคจะได้รับการบริการที่ดีขึ้น
นายรุจิระ ยังระบุว่า ในการพิจารณากรณีการควบรวม TRUE และ DTAC มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ กสทช.ต้องพิจารณา ไม่ใช่แค่มุ่งเน้นแต่เรื่องการสื่อสารด้วยเสียง หรือการสื่อสารด้วยเสียงและข้อมูล และเห็นว่าผลการศึกษาของอนุกรรมการฯ กสทช. กำลังมองข้ามตัวแปรที่สำคัญ คือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ไปหรือไม่
“กสทช.เคยคาดการณ์ผิดในเรื่องประมูลทีวีดิจิทัล โดยไม่ได้มองถึงเรื่อง OTT (Over-the-top) ที่จะเข้ามาทางสื่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทีวีดิจิทัล ทำให้ทุกอย่างมันคลาดเคลื่อนไปหมดเลย พอมาย้อนมาถึงเรื่องนี้ เรื่อง OTT จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะ OTT เอง ก็ให้บริการข้อความ เสียง และวิดีโอ อีกทั้งผลศึกษาของ Mckinsey พบว่า ปัจจุบันบริษัทโทรคมนาคมต้องลงทุน 5G เพิ่มขึ้น 300% แต่มีรายได้และกำไรลดลง” นายรุจิระ กล่าว
นอกจากนี้ ความเห็นของนักวิชาการอีกหลายท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในวันนี้ ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า “เห็นด้วยกับการควบรวม” เพราะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภค และมองว่าการศึกษาที่ กสทช. นำเสนอยังไม่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยสิ่งที่ขาดไปคือจิตวิทยา วันนี้ไม่มีธุรกิจใดเอาเปรียบผู้บริโภคแล้วจะอยู่รอด และเราก็มี กสทช. เป็นผู้กำกับดูแลคงไม่ยอมให้เกิดการขึ้นราคาที่สูงอย่างแน่นอน
--------------------------------