ลุงป้อม บินลงใต้
ลุงป้อม บินลงใต้ นั่งประธานการประชุม กพต. ครั้งที่ 3/65 สัญจรครั้งแรก ณ อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา พร้อมพิจารณาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจและท่องเที่ยวหาดใหญ่
วันนี้ (8 มิถุนายน 2565) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 3/2565 พร้อมตรวจติดตามการขับเคลื่อนมติ กพต. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงแรมคริสตัส อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยก่อนเข้าห้องประชุมพลเอก ประวิตร ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการขับเคลื่อนกิจกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ภายใต้ระบบ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน พร้อมพบปะกับกลุ่มครัวเรือนยากจน และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ พร้อมนี้มีเด็กนักเรียนและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในโรงเรียนตาดีกาและการศึกษาทางศาสนาพุทธ เข้ามาขอบคุณเป็นอย่างมาก กรณีที่รองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตรวงษ์ สุวรรณ ได้ให้การผลักดันและสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนศาสนา ซึ่งเป็นโครงการที่รอคอยมานานกว่า 10 ปี เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
สำหรับการประชุม ศอ.บต. ได้นำเสนอเรื่องสำคัญเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหาดใหญ่ - สงขลา ระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570) ตามมติ กพต. ซึ่ง ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอสะเดา และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภายหลังสถานการณ์ฯ คลี่คลาย โดยได้จัดทำกรอบแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อใช้ในการบูรณาการและขับเคลื่อนงานร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีกรอบแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหาดใหญ่ 3 แนวทางหลัก ประกอบด้วย 1) ฟื้นฟูและส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ 2) ส่งเสริมการค้าและการลงทุนในพื้นที่ 3) ผลักดันเมืองหาดใหญ่ไปสู่เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City เพื่อให้เกิดผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และเรื่องที่ 2 ได้เสนอกิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินกิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ฯ ซึ่ง ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งขับเคลื่อน และเตรียมการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พิจารณาแล้ว เห็นว่า มีความเหมาะสม และแนวทางการดำเนินงานที่มีความชัดเจนการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรที่มีประสบการณ์หรือมีศักยภาพในการเลี้ยงโค ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเสี่ยงของการดำเนินการกิจกรรม และจะสร้างโอกาสและความหวังให้เกษตรกรในห่วงโซ่อื่น ๆ อีกจำนวนมาก ดังนั้น กิจกรรมนี้จะเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะสามารถยกระดับรายได้และสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานราก และรองรับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล” ของประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ได้นำเสนอโครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดที่มีด่านศุลกากรพรมแดน ๔ จังหวัด ร่วมกับ ศอ.บต. กสทช. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเป้าหมายยกระดับการพัฒนาศักยภาพอำเภอที่มีด่านพรมแดนศุลกากรและพื้นที่ต่อเนื่อง รวม ๙ อำเภอ ประกอบด้วย จังหวัดสตูล ๒ อำเภอ (อ.ควนโดน, อ.เมืองสตูล) จังหวัดสงขลา ๔ อำเภอ (อ.สะเดา, อ.หาดใหญ่, อ.เมืองสงขลา) จังหวัดยะลา ๒ อำเภอ (อ.เบตง, อ.เมืองยะลา) จังหวัดนราธิวาส ๒ อำเภอ (อ.สุไหงโก-ลก, อ.เมืองนราธิวาส) เพื่อพัฒนาเมืองให้มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยง การบริหารจัดการด่านไปยังพื้นที่อื่น
พลเอกประวิตรกล่าวว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการประชุมครั้งแรกของ กพต. ที่เดินทางมาร่วมประชุมในพื้นที่ ขอให้ กพต. ทุกท่าน ให้ความสำคัญกับการประชุมในพื้นที่ด้วยตนเอง เพื่อให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหา และร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนให้มากที่สุดตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวง และ กพต. ต่อไป วันนี้มีการประชุมหลายเรื่อง ทั้งการรายงานความก้าวหน้า ตามมติ กพต. และการพิจารณาโครงการเพื่อประโยชน์ของประชาชนพร้อมทั้งสื่อสารไปยังประชาชนว่า รัฐบาลจริงใจแก้ไขปัญหาพร้อมกับอยู่เคียงข้างประชาชนทั้งยามทุกข์ และยามสุขทำทุกอย่างเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง และขอให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามกรอบแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจและท่องเที่ยวหาดใหญ่เร่งดำเนินการตามที่มีการเสนอโดยเร็ว โดยเฉพาะแผนเร่งด่วนทั้ง 3 เรื่อง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวหาดใหญ่ – สงขลา ต้องทำให้ได้เพื่อให้ธุรกิจของประชาชนได้รับการฟื้นฟูโดยเร็ว