คืบหน้าจากกรณี พบหินคล้ายกับพระเครื่องดัง
สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต4 สุราษฎร์ธานี ระบุ โตนเกือก ที่ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ เกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ทำให้ชั้นหินเกิดการบีบอัด เกิดโครงสร้างทางธรณีวิทยา คล้ายกับพระเครื่องดัง
เมื่อวันที่ 31/05/65 นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการที่ปรึกษาหน่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จ.กระบี่ กล่าวว่า จากกรณีสมาชิกชมรมคนรักถ้ำกระบี่ ได้เข้าสำรวจ พื้นที่ บริเวณคลองเขาเขน ซอยหินสามก้อน ม.12 บ้านศรีพระยา ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า โตนเกือก เป็นสายน้ำไหลผ่านสองจังหวัด จาก ต.เขาเขน อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ลงสู่คลองโตนเกือก บ้านศรีพระยา ผ่านไปทางคลองอิปัน บ้านปากน้ำ ไหลต่อออกแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี
เป็นหนานหินธรรมชาติ จากน้ำไหลผ่านเซาะจนเป็นรูปร่างแปลกตา คล้ายรองเท้าเป็นคู่ บางรูปคล้ายพระเครื่องดัง พระนางพญา พระสมเด็จ พระซุ้มกอ บางอันก็คล้ายกับรอยเท้าขนาดใหญ่ ทำให้คิดไปถึงเรื่องของรอยพระพุทธบาท ชาวบ้านถึงเรียกว่าโตนเกือก(โตน=น้ำตกเล็กๆ เกือก=รองเท้า) ซึ่งไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน น้ำในบริเวณใสสะอาด เย็นสบาย เหมาะที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนของ อ.ปลายพระยาได้
โดยล่าสุดทางสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต4 สุราษฎร์ธานี ให้คำตอบทางวิชาการ ของการเกิดแผ่นหินลักษณะโตนเกือก ว่า พื้นที่บริเวณนี้ เป็นหมวดหินลำทับ จัดอยู่ในกลุ่มหินทุ่งใหญ่ ประกอบด้วย หินทราย หินทรายแป้ง หินดินดาน หินกรวดมน ชั้นหนาปานกลางถึงหนามาก มีรอยแตกเรียบหลายทิศทาง และรอยแตกเรียบอย่างเป็นระบบ เรียกว่าระบบรอยแตกเรียบวางตัวตัดกัน 2 แนว ในบริเวณหินที่ผุพังอยู่กับที่ คล้ายพระเครื่อง เกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ทำให้ชั้นหินบริเวณนี้ เกิดการบีบอัด
หินที่มีคุณสมบัติแข็งเปราะ ปริแตก เกิดโครงสร้างทางธรณีวิทยา เช่น รอยแตก เกิดรอยแตกเรียบ รอยเลื่อน นอกจากนี้ ยังพบปรากฏเป็นระบบรอยแตกเรียบวางตัวติดกัน 2 แนว น้ำที่มีแร่ละลายซึมเข้าไปตามรอยแตก หลังจากนั้นน้ำได้ระเหยไป ได้ทิ้งแร่ธาตุ ไว้ในหิน มีลักษณะเป็นเส้นต่อเนื่องอยู่ภายในระบบรอยแตกเรียบ โดยเส้นเหล่านั้นจะไม่ติดกัน เรียกว่า fake contuer ซึ่งลักษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำๆกันหลายๆ รอบ โดยภายในหินที่มีแร่ซึมอยู่จะมีความทนทานก่อการผุกร่อนมากกว่าหินบริเวณรอบข้าง..
กระบี่///ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน